Sunday, February 26, 2006

ขอบคุณ คุณทักษิณ

เอดเวริด เดอ โบโน นักคิดชื่อก้องโลก
เคยแนะนำให้ลองแบ่งแยกความคิดเป็นหกอย่าง
อุปมา เป็นหมวกสีต่าง ๆ หกสี (Six Hats of Thinking)
กล่าวคือ
เมื่อเราสวมหมวกสีขาว ให้คิดเรื่องเหตุผลอย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีดำ ให้คิดแต่ในแง่ร้ายอย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีแดง ให้คิดแต่ในแง่อารมณ์อย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีเหลือง ให้คิดแต่ในแง่ดีอย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีเขียว ให้คิดในเชิงสร้างสรรค์แต่อย่างเดียว
และ เมื่อเราสวมหมวกสีฟ้า ให้เป็นแบบควบคุมความคิดของหมวกทุกใบ

เมื่อแบ่งแยกการคิดแล้ว ความคิดจะเกิดพลังอย่างไม่มีข้อหยุดยั้ง
จะทำให้เราคิดไปได้ไกลว่าที่เราคิดแบบไม่แบ่งแยก

จากที่ได้ติดตามขบวนการต่อต้านคุณทักษิณ
งานศิลปะต่าง ๆ เช่น รำตัด งิ้ว โคลง กาพย์ กลอน เพลงพื้นบ้าน เพลงเพื่อชีวิต ภาพวาด งานเขียน ฯลฯ
ล้วนมีเป้าหมาย และมีพลังมุ่งไปในทางเดียวกัน
มีความคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาล้ำลึก แยบยล

เปรียบเหมือน ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ น้อย ๆ ได้ทีเดียว

ประกอบกับผมได้ยินพี่ที่เคารพคนหนึ่ง วิเคราะห์ว่า
การที่คุณทักษิณ ยื้อสถานการณ์ไว้แบบนี้ “ดีแล้ว”
เพื่อให้นักศึกษาที่ตื่นตัว ตื่นต่อไป
เพราะหากคุณทักษิณลาออกถอดใจเร็วไป จะทำให้นักศึกษาที่เริ่มเคลื่อนไหว รู้สึกว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นได้มาง่ายเกินไป

ผมไม่เคยคิดแต่งกลอน ไม่เคยเรียบเรียงความคิดในการเขียน และเคยคิดว่าชาตินี้ไม่คิดว่าจะทำ
ผมก็มาลองทำดูได้

ผมสวมหมวกสีเหลือง แล้วคิดขอบคุณ คุณทักษิณ

และเมื่อผมเปลี่ยนหมวกความคิด
คิดถึงคุณทักษิณครบทุกหกใบหกสีแล้ว
ผมว่า เดอ โบโน ขาดหมวกไปใบนึงครับ

ใบนั้นคือ หมวกฟาง แห่งจริยธรรม

คุณทักษิณ มีไหมครับ? ถ้าไม่มี ผมจะให้ยืมใส่

Saturday, February 25, 2006

กระดานเดียว สองหมาก

เมื่อหลายวันผ่านมา
ผมเห็นชายสองคนเล่นหมากรุกอยู่ข้างถนน ดูน่าสนใจ
ผมเลยหยุดยืนดู

ผมรู้ภายหลังว่า สองคนนั้นชื่อนายมวย กับนายสอย

นายมวย เดินก่อน แทงเบี้ยด้วยเม็ด
นายสอย ขยับเบี้ยตาม และเปิดแนวรุกด้วยโคนกับม้า

เกมผ่านไป ทั้งคู่วางหมากกันอย่างเข้มข้น

นายมวย นำไวน์ชั้นดีรินให้นายสอย
ขณะที่นายสอยจิบไวน์ และหยิบขวดมาชื่นชมอยู่นั้น
นายมวย ก็ขยับโคนเดินแทยงไปสามช่อง ลงตำแหน่งฆาตม้า กับ เรือของนายสอย
นายสอยไม่ทันเห็น จะแก้เกมผูกม้ากับเรือ ก็ไม่ทันแล้ว เลยต้องยอมสละเรือ เพื่อรักษาม้า

การเดินสองครั้งต่อมา นายมวยหยิบหนังสือปลุกใจเสือป่าให้นายสอยดู
เม็ดของนายมวย เดินสามช่องในทางตรง ลงตำแหน่งฆาต โคน กับเรือ ของนายสอยอีก
นายสอย ก็จำใจ เสียโคนรักษาม้าอีกครา

นายมวย ยังมีกลเม็ดมากมาย ค่อย ๆ ดึงความสนใจนายสอย
และเดินหมากประหลาด ๆ ช่วงนายสอยเผลอ

นายสอย จึงเหลือแค่เบี้ยไม่กี่ตัว เรือหนึ่ง และม้าหนึ่ง
ขณะที่นายมวย เสียเบี้ยเพียงไม่กี่ตัว

นายสอยก็งง ว่าเกิดอะไรขึ้นหว่า
และกลับมาตั้งใจเล่น

ก็ได้รู้ว่า หมากรุกที่นายมวยเดินนั้น เป็น “หมากรุกฝรั่ง”
เม็ด ไม่ใช่ เม็ด แต่เป็น ควีน!
โคน ไม่ใช่ โคน แต่เป็น บิชอบ!
เบี้ย ไม่ใช่ เบี้ย แต่เป็น พอน!

นายสอย ไม่ลดละ ค่อย ๆ เล่น อย่างระมัดระวัง
แต่นายสอย ยังคงเดินตามกฎหมากรุกไทย สู้กับหมากรุกฝรั่ง ของนายมวย
บนกระดานเดียวกันนั้น อย่างไม่ลดละ
นายสอย ต้องใช้ความคิดหนัก ๆ นาน ๆ
แม้ว่า จะมึน ๆ จากฤทธิไวน์ชั้นดีที่จิบไปหลายอึก
แต่ใจนายสอย ไม่วอกแวกกับหนังสือปลุกใจเสือป่าอีกต่อไปแล้ว

ม้า กับ โคน ของนายสอย ก็ค่อย ๆ โค่น บิชอบ กิน พอน ทีละตัว
รุกคืบเข้าไป ใช้เรือกดดันขึ้นไปทีละตา ทีละตา

นายมวยเห็นชัดว่า หากปล่อยให้นายสอยเดินอีกทีหนึ่ง
ตัวเองจะโดน นายสอย รุกฆาต เผด็จศึก
ขณะที่ ควีน กับ บิชอบ กับหมากที่เหลือเคลื่อนมาช่วยไม่ทันอย่างแน่นอน

ทันใดนั้น นายมวย ก็ล้มกระดาน!
พร้อมตะโกนด่าว่า นายสอย
“ไอ้สอย เอ็งมันเล่นนอกเกมนี่หว่า ที่เอ็งเล่นมันคนละหมากกับข้าชัด ๆ”

นายสอยก็ไม่ว่าอะไร เพราะงงอยู่ว่า หมากรุกฝรั่งจริง ๆ มันได้เปรียบกว่าหมากรุกไทยหลายขุมนัก

“ไอ้สอย ข้าให้โอกาสเอ็งเล่นอีกทีนึง”
นายมวยเอ่ยปากยิ้ม ๆ พร้อมหยิบกระดานที่คว่ำอยู่ ขึ้นมาตั้งหมากให้นายสอย

ปรากฎว่า นายมวย ตั้งหมากตัวเองแบบหมากรุกฝรั่ง
และตั้งหมากให้นายสอย แบบหมากรุกไทย แถมมี ม้า โคน และ เรือ ให้แค่อย่างละตัว
เบี้ย ก็เหลือแค่ครึ่งเดียว

“มาๆ มาเล่นกันใหม่นะ นายสอยนะ”

คุณเป็นนายสอย คุณจะเล่นไหมครับ?

.................................................

เรื่องจริงจากที่ผมนั่งดู
“นาย มวย หัวแค้ว” กับ “นาย สอย ข้างเนี้ยง”

ขอบคุณ
คุณอนารยชนโรแมนติก สำหรับ ไอเดีย “มวย หัวแค้ว”
ไอ้ปรัชญ์ สำหรับ ศัพท์ทางหมากรุก

Friday, February 24, 2006

สังคมเสียงข้างน้อย

และแล้ว มันก็ยุบ

ฉลาดจริง ๆ
พิสูจน์ได้ว่า คนระดับ พันตำรวจโท ด๊อกเตอร์
ถ้ามันจะเลว นี่เลวได้ฉลาดจริง ๆ

ฤาเขาจะกลับมาด้วยเสียงข้างมาก
ฤาเราต้องยอมรับเขา
ฤาเราต้องเล่นนอกระบบจริง ๆ

ประชาธิปไตยนี่นา
เล่นตามกติกาต้องยอมรับเสียงข้างมากนะ

สว.เสียงข้างน้อย
ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย
กรรมการสรรหาเสียงข้างน้อย
คตง.เสียงข้างน้อย
ม๊อบ เสียงข้างน้อย
ฯลฯ เสียงข้างน้อย

ทำไมผมกลับมองเห็นความมีปัญญาในเสียงข้างน้อยเหล่านี้นะ

น้อยครับ ผมขอเป็นเสียงอยู่ข้าง ๆ คุณนะครับ

Thursday, February 23, 2006

วาเลนไทน์ กับ มาตราฐาน

“...แต่งตัวสบาย ตามสไตล์หลวม ๆ หากดู รวม ๆ คงจะดูยับ ๆ…”

วันวาเลนไทน์ ผ่านไปแล้ว
ทำไมต้องซื้อดอกไม้ให้กัน?
วันนี้มันสำคัญฉไน?

ไม่ต้องไประลึกตำนานชาวโรมันร่วมรักกันระหว่างสงครามอะไรนั่นหรอก
สำหรับผม วันเกิดตัวเองยังจำไม่ค่อยได้เลย

ปีก่อน ก็ลืมไปเฉยเลย แต่พอผ่านไป
ก็ไม่เห็นมันจะลอกคราบให้ตัวใหญ่ขึ้นในวันนั้นนี่หว่า
หากใช้ปฎิทินชาวแอสเทคโบราณ ซึ่งปีหนึ่ง มี 260 วัน
ตอนนี้เราไม่อายุสามสิบเก้าแล้วหรือ?

แล้วทำไม ไม่มีดอกกุหลาบให้วันวาเลนไทน์ แล้วจะรักน้อยลงหรือ?
ก็รักเหมือนเดิมทุกวันนี่นา
แล้วของขวัญวันเกิด จะเอาไปทำไมเล่า?
จะไปเปลืองเงินทำไม?

จะเอาเหรอ ให้ดอกไม้ ให้ของขวัญสุดหรู แต่ไปมีกิ๊กตรึม?

ผมก็เป็นคน “มาตรฐานเดียว” ผมก็ไม่ต้องการของขวัญวันเกิดเช่นกัน
ทำดีต่อกัน รักกัน ซื่อสัตย์กัน ทุกวันดีกว่า จริงไหม?

...............................................

หลายปีก่อน ผมคิดแบบนี้
วันนี้ อยากกลับไปตบกะบาลไอ้หมอนั่นจริง ๆ

ไม่ได้อยากให้มัน เปลี่ยนเป็นคน สอง สาม มาตราฐาน ตามท่านผู้นำเรานะครับ
แต่อยากให้เปลี่ยนจุดที่วางมาตราฐาน
จาก “มาตราฐานการทำตัว”
ให้เป็น “มาตราฐานแห่งความสุข”

ทำอะไรก็ได้ ให้มีความสุข
ความสุขเขา ก็คือ ความสุขเรา

“...ฉันคนง่าย แต่เรื่องหัวใจไม่เคยง่ายซะที...”

ปีนี้ดอกกุหลาบแดง แพงกว่าปีก่อน สองเหรียญแหน่ะ แย่จริง ๆ

Thursday, February 16, 2006

ทำบุญด้วยการจุดเทียน

หายไปหลายวัน และคงจะอีกหลายวันครับ

หายไปถกเถียงประเด็นทางการเมืองอยู่

ไม่ขอเอาที่ไปเขียนไว้ที่ต่าง ๆ มาลงในนี้นะครับ

กลัวที่นี่จะเป็น บล๊อก การเมืองไปซะอย่างนั้น

ถ้าได้ข้อสรุปอะไร เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังดีกว่า

เพิ่งอ่าน "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" จบไปหมาด ๆ
ทำบุญที่ดีทางหนึ่ง คือ "การให้ปัญญา"

จุดเทียนกันเถอะครับ

ประเทศชาติจะสว่างไสว ด้วยเทียนปัญญา

Sunday, February 12, 2006

การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี

การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี
แม้เป็นที่รู้กันอยู่ว่า
"การถอดถอนผ่านวุฒิสภา" มีโอกาสเป็นจริงไปได้ยากมาก
เนื่องจาก วุฒิสมาชิกทำตัวขายตัว ขายชาติ จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วมาจากหลาย ๆ เหตุการณ์ (สตง. กทช. กสช. กกต. ปปช.ฯลฯ และการวางตัวของ สว.จำนวนมาก)
อันกระบวนการนี้ จะผ่านการพิจารณาของ สว.- ซึ่งถ้าพวก"มัน" ดึงเกม ทำการตรวจสอบรายชื่อทีละรายชื่อ ห้าหมึ่นคน จะต้องใช้เวลาเป็นปี
ขั้นต่อไป คือ ส่งผ่านไปยัง ปปช. - ซึ่งกระบวนการสรรหายังง่อยเปลี้ยด้วยความตั้งใจอย่างหน้าด้าน ของ พวก สว.ขายชาติ
ยิ่งบวกกับเงื่อนเวลา ที่จะมีการเลือกตั้งสว.ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่ง กลุ่มสว.ขายชาติหน้าใหม่ จะเข้ามาอีกกระบุงโกยแน่นอน แล้วทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบเช่นเดิม อีกหกปี!!!

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คัดค้านการลงชื่อครั้งนี้ หากแต่เห็นว่าเป็นการ "ไร้ประโยชน์เชิงรูปธรรม" อย่างแน่นอน
ประโยชน์น่าจะอยู่ที่ "ประโยชน์เชิงสัญลักษณ์" ด้วยการที่กลุ่มนิสิตนักศึกษา เริ่มออกมาเคลื่อนไหว แสดงความสนใจ และรับผิดชอบต่อบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และควรสนับสนุนอย่างยิ่ง

แล้วผมจะกรอกฟอร์ม แล้วส่งไปให้นะครับ น้อง ๆ
ดาวน์โหลดฟอร์มที่นี่
กรอกแล้ว แนบสำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรราชการ พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาส่งไปที่
องค์การนักศึกษามหาวิทยาธรรมศาสตร์ (อมธ.) ตึกกิจกรรมนักศึกษา
เลขที่ ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนพระจันทร์
เขตพระนคร กทม. ๑๐๒๐๐

ศศินอนัตริยกรรม

กระต่ายบ้า
เคยออกเป็นหนังสือรวมเล่ม
ชอบในความคิดสร้างสรรค์ของมันจริงๆ

โปรดใช้วิจารณญาณในการดู

ขอบคุณไอ้เอียด สำหรับ link

Thursday, February 09, 2006

ภูเรือ episode 3 “พี่คำภู พาเดินป่า”

“บ่ายนี้เดี๋ยวพาไปเดินป่า”
พี่คำภู ผู้นำทางกิติมศักดิ์ ร่างเล็ก วัยประมาณห้าสิบ เอ่ยปากบอกยิ้ม ๆ ด้วยสำเนียงพื้นถิ่น

พวกเรา สถาปนิกหนุ่มสาว ชาวกรุง หลังจากจบมาหมาด ๆ ทำงานได้สามสี่เดือน
ทางที่ทำงานที่แสนดี ก็ส่งพวกเราเด็กเข้าใหม่อย่างพวกเรา มาพักผ่อนกัน

“ไร่ชัชนาถ” บ้านสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
ที่นี่มีสองร้อยกว่าไร่ หกเจ็ดปีก่อน ยังเป็นเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้เป็นป่า
ป่าที่นี่เป็นป่าปลูก ปลูกด้วย “แรงคนสองคน ขี้จากวัวหนึ่งฝูง กับน้ำหนึ่งบ่อ”
(แล้วจะบอกประวัติใน episode 1-2 เรื่องยาว แต่น่าจะสนุก)

หกปีผ่านไป ป่าปลูกตอนนี้ ดูครึ้มแล้ว
แดดลงตรงหัว แต่อยู่ใต้ผืนใบไม้แล้วรำไร อากาศไม่ร้อน ไม่หนาว เหมาะกับการเดินเล่นในป่ามาก

“พี่คำภู นี่ต้นอะไรครับ” พวกเราเปิดคำถาม เพียงเห็นต้นไม้ มีเกล็ดแดง ๆ แปลก ๆ ตรงปากทางเข้า
พี่คำภูหันกลับมา “อันนั้นไม้แดง”
เออ แฮะ เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นไม้แดงที่เป็นต้น ๆ
สีมันแดงจริง ๆ ด้วย แต่เนื้อไม้ข้างในไม่ยักกะแดงอย่างนี้นะ ผมคิดในใจ

“พี่ ๆ นี่ต้นอะไรครับ”
“นี่ต้นมะค่า เห็นไหม รอบ ๆ ต้นวัชพืชขึ้นไม่ได้ เพราะมันมียางหยด” พี่คำภูอธิบาย พลางชี้ไปใต้ต้นมะค่า
เห็นน่าจะจริงอย่างที่พี่เขาว่า เพราะรอบ ๆ ต้นไม่มีหญ้า ไม่มีอะไรเลย มีแต่ฝุ่นดิน
“...เออ มะค่านี่แพงนะเนี่ย...” “...มันมาจาก “มีค่า”ไง...”
กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวเถียงกันเอง ดูครึกครึ้น

พี่คำภูไม่ว่าอะไร ยิ้ม ๆ แล้วเดินต่อ
“พี่ ๆ นี่ต้นอะไรครับ”
พี่คำภูยังไม่ทันตอบ มีเสียงเถียงกันเองดังขึ้นเสียก่อน
“ต้นสัก ไงเล่าไอ้ฟาย แค่นี้ก็ไม่รู้”
“กว่าจะได้วงกบประตูสักอัน ก็น่าจะสิบปีขึ้นนะเนี่ย”
“สักนี่ดีนะ สีสวย ใช้แค่ชแล็กทา สีจะเนียนมาก คนถึงนิยมใช้ไง”
บทสนทนาระหว่างสถาปนิก อธิบายกันเอง
“สักนี่ใบใหญ่ หนอนแยะ กว่าจะโตได้ ลำบาก” พี่คำภูแทรกคำอธิบาย ระหว่างการเดินขึ้นเนินเล็ก ๆลูกหนึ่ง
“...มิน่าหล่ะ ถึงแพง...” เสียงเบา ๆ ดังจากกลุ่มสถาปนิก

พี่คำภูไม่ว่าอะไร ยิ้ม ๆ แล้วเดินต่อ พลางเอาพร้าตัดหญ้าสาบเสือ ถางทางให้เด็ก ๆ ที่ตามมา
แกคงเกรงพวกเราจะลำบาก

“ต้นนั้น ยางนา ...ต้นนี้ ตะแบก... อันนี้คล้าย ๆ กัน สเลา...”
พี่คำภูรู้แกว ตอบเสียก่อน ไม่รอให้พวกเรา กลุ่มสถาปนิกจำไม ต้องถาม
“...สเลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกร่อน...” ผมเอ่ยออกมาโดยไม่ตั้งใจ เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรจากกลุ่มเพื่อน ๆ
ต่อมานึกออกว่า จำประโยคนี้มาจากพวกเพื่อนภูมิสถาปนิก มันเคยท่องกันตอนสอบวิชาพันธุ์ไม้ ตอนปีสาม
พอเดินไปใกล้ ๆ เออ ใบกับทรงพุ่มมันเหมือนกันเลย แต่ต่างกันตรงเปลือกไม้จริง ๆ

“...อันนี้ประดู่ ต้นเล็ก ๆ นั่นชิงชัน...” พี่คำภูยังทำหน้าที่ของแกต่อ เพราะแกรู้จักทุกต้น เพราะปลูกมากับมือ
เสียงความเห็นดังจากกลุ่มสถาปนิกอีกครั้ง “เออ ชิงชันนี่เขาว่าลายสวย เดี๋ยวไปดูที่พื้นบ้านหลังแรกสิ สงสัยจะชิงชัน”

จากข้อมูลของพี่คำภู ต้นไม้พวกนี้ เริ่มปลูกพอ ๆ กัน หกปีก่อน
ทำให้เรารู้ได้เลยว่าต้นไม้ชนิดไหนโตเร็วโตช้า
ต้นสัก กับมะค่า ลำต้นนี่โตซักสองฝ่ามือกำได้ แต่ทรงพุ่มต่างกัน สักจะสูงชะลูด แต่มะค่าจะเป็นพุ่ม ๆ
รอบวงของไม้แดง ยังเพิ่งประมาณ มือครึ่งกำได้
ชิงชันยังแทบจะกำรอบได้ด้วยมือเดียว
ขณะที่พวกต้นสน จะใหญ่ที่สุด ประมาณว่าซักสามมือกำเห็นจะได้

พวกเราพอมีข้อสรุปในใจได้เล็กน้อยว่า
ไม้ที่โตช้า จะเป็นไม้เนื้อแข็ง
ส่วนไม้โตเร็วเป็นไม้เนื้ออ่อน
ส่วนเนื้อไม้ กับสี ก็จะต่างกันไปตามชนิด

พวกเรา ฝ่าดงใบสักแห้ง ๆ เดินกันเสียงกรอบแกร๊บมาสักพัก
พี่คำภูมาหยุดที่ไผ่กอนึง
พี่เขาอธิบายว่า นี่เรียกว่า “ไผ่บง ...บง ภาษากลาง แปลว่าป่านั่นแหล่ะ”
“อ๋อ นี่ไผ่ป่าธรรมดานี่เอง” เสียงพวกเราตอบเป็นลูกคู่
“กิ่งขนาดนี้ เอาไปตีไล่วัวได้”พี่คำภู อธิบายพลางหักกิ่งไผ่เล็ก ๆ ออกมา กิ่งหนึ่ง
พี่คำภูมองไปที่หน่อไผ่ที่มีร่อยรอยตัดใหม่ ๆ และบอกพวกเราว่า
“แล้วเย็นนี้คงได้กิน แกงจืดหน่อไม้ดองของแม่คำภานะ”
(พี่คำภา เป็นภรรเมียของพี่คำภู ทำอาหารอร่อยสุดในจังหวัดแถบนี้ ตามความเห็นผม)

“ไป เดี๋ยวไปนั่งพักที่เพิงนั้น” พี่คำภูชี้ไปเพิงพักเล็ก ๆ อยู่ที่ยอดเนินไม่ไกล

พวกเราพักเหนื่อยที่เพิงไม้ไผ่นั้น ลมเย็นเอื่อย ๆ พัดมา ทำเอาเหงื่อที่ชุ่มหลังอยู่นิด ๆ ให้ได้เย็นสบายกันทุกคน

เพิงนี้ ก็ทำจากไผ่บงกอนั้นแหล่ะ ตัดแป๊บเดียว มันก็โตกลับมาเหมือนเดิม พี่คำภูบอก พร้อมออกความเห็นต่อว่า ไผ่นี่มีประโยชน์หลาย
กินหน่อก็ได้ เอามาสร้างบ้านก็ได้ กิ่งยังเอาไปตีวัวได้อีก

เสียงกระเดื่องวัว ดังก๊อง ๆ จากชายป่า เหมือนพวกมันรู้ว่า จวนได้เวลากลับคอกที่ตีนเขาแล้ว หลังจากพี่คำภูต้อนพวกมันออกมาหาหญ้ากินตั้งแต่เช้า

ความเงียบปกคลุม เสียงลมจากปลายยอดไม้ สานรับกันดีกับจังหวะของลม
“ไม้อะไรสวยสุดวะ ถ้าจะสเปคเอาไปทำปาร์เก้หน่ะ” สถาปนิกหนุ่มชาวเมืองเริ่มเปิดคำถามทำลายความเงียบนั้น
“ไม้แดงไหม จะได้แดงทั้งพื้น เท่ห์ดี”
“ไม้แดงไม่ค่อยใช้กัน มันแข็งไป ยืดหดตัวเยอะด้วย เดี๋ยวพื้นจะโก่งเป็นเนิน ๆ หมดบ้าน” สถาปนิกสาวให้ข้อมูล
“ไม้สักก็ดีนะ ปลวกไม่กิน สีสวยดีด้วย”
“กินเว้ย ถ้ามันหิว ๆ ก็กิน บ้านกรูนี่ โดนไปแล้ว”
“ชิงชันไง แข็งสุด แต่กว่าจะได้แต่ละชิ้น สามสิบปีหล่ะมั้ง”
“ไม้มะค่าไง แพงสุด แต่ต้องคัดสีให้เสมอกันด้วยนะ ไม่งั้นบ้านลายตาแย่”
ฯลฯ
เถียงกันทั้งวันคงไม่จบ พวกเราคงตัดสินกันไม่ได้ เลยหันไปถามพี่คำภู

พี่คำภูมองพวกเราเถียงกันอยู่นาน ตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ยิ้ม ๆ ตามสำเนียงคนพื้นถิ่นเหมือนเคยว่า

“คนเมืองนี่หล่ะหนา ชอบตัดสินความงามจากสิ่งที่ตายแล้ว”


เย็นวันนั้น ขากลับจากเนินเขา ต้องผ่านป่าผืนเดิม
ฝูงสถาปนิกชาวเมือง ถูกต้อนด้วย “กิ่งไผ่บง” ในมือพี่คำภู
พวกมันเหล่านั้น ยอมกลับไปกินข้าวเย็นแต่โดยดี


ขอบคุณอัจฉรา และพี่ณี ที่ช่วยย้ำข้อมูลต่าง ๆ

Wednesday, February 08, 2006

ภาษา ดอกไม้

สิบสองปีก่อน

ผมอยู่มัธยมปลาย ต้องตื่นเช้ามาช่วยพี่สาวในงานรับปริญญาที่ช่างวุ่นวายเสียจริง ๆ
ซึ่งคงไม่ต่างจากวันนี้ หรือวันนี้อาจน้อยกว่าอีก
พี่สาวผมต้องตื่นตี ๕ มาทำผม
รับดอกไม้ที่สั่งไว้ตอน ๖ โมง
ก่อน ๖ โมงครึ่ง ต้องถึงมหาวิทยาลัย ถึงจะมีหวังได้ที่จอดรถ
และแน่นอน ในฐานะน้องชายที่แสนดี และช่างภาพจำเป็น การงัวเงียออกมาตั้งแต่ตี ๕ นั้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

ตี ๕ ครึ่ง ผมนอนรอในรถแถวสยาม พี่สาวผม เดินมาข้างรถ ยื่นกระดาษให้ใบหนึ่ง พร้อมบอกว่า ให้เอาใบรับนี้ไปร้านดอกไม้
แต่บอกเขา ว่าไม่เอาแล้ว เพราะไม่แน่ใจว่า ทางแม่กับพี่ชายก็สั่งมาเหมือนกัน เกรงว่าจะมีเยอะไปแล้ว
ผมอ่านในใบรับ เขียนว่า “มัดจำ ๕๐๐ บาท” ผมก็ถามพี่สาวผมว่า “อ้าว แล้วเงินมัดจำนี่เอาไง(วะ)”
พี่สาวผมเดินออกไปเพื่อทำผมให้เสร็จ ตะโกนบอก “ถ้าเขาทำแล้ว วันนี้เขาคงขายได้แหล่ะ ลองขอเงินเขาคืนดิ”

ร้านดอกไม้ เปิดแล้ว มีดอกไม้หลายช่อตั้งอยู่ที่พื้น ผมคิดในใจ “...นี่คงเป็นวันทำเงินวันหนึ่งในรอบปีเลยนะเนี่ย...”
ผมยื่นใบรับให้คนขาย เขาถาม “อ้าว นัดไว้ให้มารับ ๖ โมงนี่นา”
ผมก็บอกตรง ๆ “ไม่เอาแล้วครับ”
“ทำไมหล่ะ?” เขาถามกลับ
“มีเยอะแล้ว” ผมตอบขณะที่ตามองช่อดอกไม้ที่กองอยู่บนพื้น
“งั้นยึดเงินมัดจำนะ” เขาถาม
“ครับ” ผมตอบ เพราะเห็นว่า แฟร์ดี สั่งเขาทำแล้วไม่เอา ก็ต้องโดนยึดมัดจำ กฎง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

ผมกลับมานอนต่อที่รถ จนพี่สาวผมกลับมาด้วยทรงผมหัวกระบัง เป็นกระบังที่สูงที่สุดตั้งแต่มันเคยทำ (ซึ่งเป็นทรงยอดฮิตมากในยุคนั้น ถ้าผู้อ่านนึกไม่ออก ให้ดูที่เมียนายกวันนี้ อย่างไรอย่างนั้นเลย)

“ได้เงินมัดจำคืนไหม” มันถามพร้อมก้มหัวเข้ามานั่งในรถ ระวังกระบังจะชนขอบประตู
“ไม่ได้ เขายึดไปแล้ว”
“อะไร(วะ)” แล้วมันก็น้อมหัวออกใสกระบังออกจากรถไป เดินไปร้านดอกไม้

อีกไม่นาน พี่สาวผมก็กลับมา เข้ามานั่งในรถด้วยท่าเดิม ในมือกุมแบงค์ห้าร้อยอยู่
“แกไปพูดอะไรกับเขา(วะ)” มันถามอย่างคาดคั้น มองหน้าใกล้ ๆ กระบังนั้นมันช่างเกินสัดส่วนจริง ๆ
“ก็ ไม่ได้พูดอะไรนี่(หว่า) ก็เขาบอกจะยึดมัดจำ ก็ถูกแล้วนี่นา”
“คนขาย เขาถามตะกี้ น้องชายเหรอ ดอกไม้หน่ะ ยังไม่เสร็จหรอกนะ แต่น้องชายหน่ะ พูดไม่ดีเลย”
แล้วพี่สาวผม ก็ติดเครื่อง ถอยรถออก แล้วบอกว่า “บางสถานการณ์หน่ะ การพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้เราได้อะไรหลาย ๆ อย่างมา”

การพูด “อ๋อ พอดีคุณพ่อ คุณแม่ สั่งไว้ชนกันหน่ะพี่ ขอโทษจริง ๆ พี่ทำหรือยัง ถ้ายังไม่ทำ ขอเงินมัดจำคืนได้ไหม?.”
ยาวกว่า “มีเยอะแล้ว” สิบเอ็ดเท่า มีผลเท่ากับเงิน ห้าร้อยบาท

ผมจำบทเรียนวันนั้นจนถึงวันนี้ สิบสองปีที่ผ่านมา
หลายโอกาส ที่ผมพูดยาวอีกสักหน่อย
ผมได้อะไรหลาย ๆ อย่างมากกว่าเงินห้าร้อยบาทจริง ๆ

Monday, February 06, 2006

“แล้วเจอกัน ประเทศไทย”

จากชีวิตหลายคนที่เคยได้ฟัง และได้อ่าน
...วัยเด็ก อยากปรับปรุงจักรวาล...
...วัยรุ่น อยากปรับปรุงโลก...
...วัยทำงาน อยากปรับปรุงประเทศ...
...วัยเกษียร อยากปรับปรุงครอบครัว...
...วันก่อนจะตาย แค่ปรับปรุงตัวเองได้ ก็บุญโขแล้ว...
นี่แหล่ะชีวิต
แต่ไม่เป็นไร
แล้วเจอกัน ประเทศไทย

อยู่ไม่ได้แล้ว

“กลิ่น เป็นประสาทสัมผัสที่จะเตือนให้คนเราละลึกความทรงจำได้ดีที่สุด”

ข้อพิสูจน์เชิงชีววิทยาและจิตวิทยาได้พิสูจน์แล้วในตัวผม เมื่อสองปีก่อน

สองปีก่อน
...ปีกว่าแล้วสินะ ที่ไม่ได้กลับมาบ้าน... “เรียนหนักไหม?”... “หนาวไหม?” คือคำถามที่ผมได้ยินทางหูโทรศัพท์ทุกครั้งที่โทรกลับบ้าน และอีกครั้งในรถระหว่างทางกลับบ้านกับพี่ชายผม
“คิดถึงบ้านไหมเนี่ย?” ....คำตอบนี้ผมได้คำตอบแล้วในใจแล้ว ตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน “...ไม่เห็นจะคิดถึงเลย... อยู่โน่น สนุกจะตาย...นี่ถ้าไม่ใช่นายแต่งงาน ฉันก็ไม่มาหรอก...” ผมคิดในใจ แต่คิดว่าตอบคำถามยอดฮิตนั้นด้วยรอยยิ้มดีกว่า

เกือบเที่ยงคืน กรุงเทพ ฯ มืดสนิท อากาศร้อนชื้นอบอ้าว ร้อนชื้นหลังฝนตก ที่ผมรู้สึกตั้งแต่ในที่จอดรถสนามบิน บ้านเมืองข้างทางยังเหมือนเดิม ไม่ต่างจากปีกว่า ๆ ที่แล้วที่ผมขับรถร่อนไปทั่ว
ผมมองไปที่ด่านโทลเวย์ เห็นรถต่อแถวสองสามคัน เพราะดึกแล้วเหลือช่องเดียว “รถติดไหม?” ผมถาม แต่คิดในใจในเสี้ยววินาทีนั้นว่า จะถามทำไมนะ และแน่นอน “เหมือนเดิม” พี่ชายผมตอบ

รถเข้าซอยบ้าน ทุกอย่างเหมือนเดิม มีแต่ต้นไม้ใหญ่บ้านปากซอยที่ถูกเล็มไปแยะ รถจอดไฟสลัวที่โรงรถที่เดิม รถโตโยต้าคันจิ๋วคู่ใจผมไม่อยู่ที่เดิมแล้ว เพราะพ่อขายไปหลังจากที่ผมไปเรียนได้ซักเดือน ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีใครใช้แล้วนี่

ประตูรถเปิดออก ในใจผมคิดว่า ดีนะที่ไม่ต้องเอาอะไรกลับมาบ้าน กระเป๋าไม่หนักจะได้ยกขึ้นบ้านได้ง่าย ๆ
ทันใดนั้น กลิ่นไอดินกรุ่น ๆ หลังฝน ผมเชื่อว่ามาจากใต้ต้นอโศกที่ปลูกไว้ริมรั้ว ลมพัดแผ่ว ๆ โชยเอากลิ่นโมกที่แม่ผมลงไว้เมื่อหลายปีก่อน เข้าจมูก
...เฮ้ย คิดถึงบ้านหว่ะ...

ทุกวันนี้ ผมเรียนจบ ได้งานดี เงินดี ก้าวหน้าพอสมควร มีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย กินหรูได้บ่อยครั้งต่อเดือน ถ้าเอาเงินเดือนนี้ไปแลกเป็นเงินไทย คงเป็นเศรษฐีหนุ่มทุกปลายเดือนอยู่

“ผม(กู)จะกลับเมืองไทย”
“จะกลับทำไม(วะ)” เพื่อนอินเดียที่เรียนจบมาด้วยกันถามระหว่างกินข้าวเที่ยงในสวนกลางเมือง
ผมไม่อยากจะอธิบายให้ยืดยาว เลยบอกมันไปว่า “ผม(กู)จะกลับไปหาแม่ คิดถึงแม่(หว่ะ)”
มันหัวเราะ แล้วถามว่า “จริงเหรอ(วะไอ้สัด)” ผมตอบมัน ด้วยการยิ้ม และกัดแซนวิชคำโต แล้วเงยมองฟ้า เหมือนที่ชอบทำบ่อย ๆ
“คุณ(มึง)ว่าไหม คนเมืองนี้(แม่ง) ไม่ค่อยมองฟ้ากัน?” ผมเปลี่ยนเรื่อง
ในใจคิดว่า ไม่ใช่เพราะผมคิดถึงแม่ (ก็คิดถึงนะแม่นะ แต่แม่ยังไม่ใช่เหตุผลหลัก)
ไม่ใช่เพราะเบื่อที่จะเป็นพลเมืองชั้นสองที่นี่(อันนี้ก็ไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ในเมืองนี้)
ไม่ใช่เพราะสาวไทย (ป่าวเลย...สาวเกาหลี ญี่ปุ่นที่คบ ๆ อยู่ น่ารักเร้าใจกว่าเป็นกอง)
ไม่ใช่เพราะอาหารไทย

แต่ผมไม่อยากใช้ชีวิตแบบวัน ๆ หาเงินได้ ใช้เงิน ไปจนตายที่นี่ เหมือนที่คนประเทศนี้มันทำ ๆ กัน
ผมว่าชีวิตผมจะมีประโยชน์กว่าที่ประเทศแม่ผม (แม้เงินเดือนที่ผมจะได้ที่เมืองไทย จะเท่ากับที่ผมหาได้ในเวลาวันครึ่งที่นี่ ให้ตายเหอะ)
ผมขอแลกการได้เที่ยวยุโรปทุกปี มีรถหรู ๆ ขับ กับการที่มีคนไทยซักกลุ่มหนึ่งจำชื่อผมได้ว่าผมทำอะไรให้ประเทศเถอะนะ
ผมเชื่อ สังคมไทยคงจะดีขึ้น ไม่มากก็น้อย
แล้วเจอกัน ประเทศไทย

Sunday, February 05, 2006

Good Morning

เช้าวันหนึ่ง
เจ็ทแล๊ค ตื่นเช้า
ตึกซีซ่า เพลี่ ที่ดาวทาวน์ ก็ไปอยู่บนเมฆ
หนาวอิบหาย

อยากกินก๋วยจั๋บเยาวราช

Friday, February 03, 2006

ฤากงล้อประวัติศาสตร์ จะหมุนอีกครั้ง

เฮ้ย ๆ ๆ มันแปลก ๆ นะ
หลังจากที่ผมได้ติดตามเหตุการณ์ และได้คุยกับหลาย ๆ คน
ได้รับรู้ รับฟัง เรื่องราวอดีต และปัจจุบัน จากหลาย ๆ มุมมอง
จากที่ผมสังเกตเหตุการณ์ เล็ก ๆ และใหญ่ ๆ เริ่มเดินซ้ำ ๆ
ฤากงล้อประวัติศาสตร์ จะหมุนอีกครั้ง
ขอเล่าให้ฟังแบบเป็นหลักกิโลเมตร ของเหตุการณ์ ดังนี้แล้วกัน
(บางส่วนตัดมาจากเมลที่คุยกับ คนตุลา)

ถนนมันเริ่มจาก ทรราช และเผด็จการ
หลักกิโลเมตร ที่หนึ่ง ก่อนปี ๑๕ มีการชนกันระหว่าง นักหนังสือพิมพ์ กับ นักการเมืองใหญ่
หลาย ๆ ครั้งครั้งสำคัญคือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ประกาศลั่นใน หนังสือพิมพ์
ฝากไปถึงนักการเมืองใหญ่ของประเทศว่า“กูไม่กลัวมึง”
ซึ่งเป็นครั้งแรกของการแสดงความไม่เกรงกลัว หรือ หัวหด ต่อระบบเผด็จการ

หลักกิโลเมตรที่สองปี ๑๕ เกิดเหตุ “ทุ่งใหญ่นเรศวร”
ที่นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ใช้ เฮลิคอปเตอร์ราชการ
พาดาราสาว ๆ ไปสนุกสนานและล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร
ประชาชนโกรธแค้น เพราะรู้สึกว่า ประเทศชาติ และสมบัติชาติไม่ใช่ของคนไทยอีกต่อไป
แต่เป็นขอคนเพียงบางกลุ่ม

หลักกิโลเมตรที่สามจากเหตุการณ์ที่สอง
นักศึกษา รามฯ ออกในกรณีที่ออกหนังสือพิมพ์ประนามกรณี “ทุ่งใหญ่ฯ” อย่างรุนแรง
โดนอธิการบดี (ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์) ไล่ออก
นำมาสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ เต็มถนนราชดำเนิน
ในที่สุดรัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อต่อความกดดัน
ให้อธิการบดีรามฯ รับนักศึกษาเหล่านั้นกลับเข้าไปเรียน

หลักกิโลเมตรที่สี่ปี ๑๖ เกิดกรณี “๑๓ กบฎ รัฐธรรมนูญ”
ที่มีคนออกมาแจ้งจับนายรัฐมนตรี เรื่อง เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย
เอาผลประโยชน์ใส่กระเป๋าตัวเองและพวกพ้องปิดกั้นสื่อมวลชล
รัฐบาลเลยจับผู้ประท้วงทั้งสิบสามคนเข้าคุก
เกิดการเดินขบวนใหญ่ กลายเป็น “๑๔ ตุลา” หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน

หลักกิโลเมตรที่ห้าหลังจากการขับไล่ผู้นำเผด็จการออกไป
แต่ระบบระบอบ ยังคงเอื้อให้เกิดเผด็จการ เข้ามาครองประเทศอีก
ประกอบกับสมัยนั้น กระแสต่อต้านคอมมิวนิสรุนแรง
คำพูดที่ว่า “คอมมิวนิสที่ดี คือ คอมมิวนิสที่ตายแล้ว” ดังก้องอยู่ในใจประชาชนชาวไทย
นักศึกษาที่อึดอัดกับสภาพทางการเมือง ก็ออกมาชุมนุมเรียกร้องอีกครั้ง

หลักกิโลเมตรที่หกสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน
ซ้าย คือ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เข้าข้างนักศึกษา สุด ๆ
ขวา คือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ที่แสดงความเห็นบ่อยครั้งว่า นักศึกษา เป็น “คอมมิวนิส”
จุดแตกหักอยู่ที่ การแสดงละครของนักศึกษา มีฉากการแขวนคอ
ซึ่งหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา เอาไปลง แล้วให้ความเห็นว่า หน้าตาของคนที่โดนแขวนเหมือนพระบรมวงศานุวงค์
ทำให้ประชาชนบางกลุ่มลุกฮือ มาต่อต้านนักศึกษา

หลักกิโลเมตรที่เจ็ดปิดล้อมธรรมศาสตร์ โดยกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ
โดยคิดว่า ภายในธรรมศาสตร์ มีอาวุธซ่อนอยู่
และนักศึกษาเหล่านั้น ไม่ใช่คนไทย
ทหาร ตำรวจ ก็ยิง และบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ เหมือนการเข้าตี ป้อมค่าย ศัตรู
จับไอ้พวกที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิส มาฆ่าอย่างโหดร้าย
(นักศึกษาหญิงโดนข่มขืน เผาทั้งเป็น มีการทุบตีศพ อย่างโกรธแค้น)

จุดจบถนนสายนี้คือ นองเลือด ครับ

เส้นทางทรราช ที่จุดจบคือการนองเลือด ถึงกิโลเมตรที่เท่าไหร่แล้วหล่ะ
หวังว่าคงมีทางแยก อะไรก็ได้ ออกจากถนนสายนี้ ก่อนถึงจุดหมายนะ
มองอย่างฝ่ายซ้าย คือ พวกมันเป็นทรราช ต้องเอามันลง ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม
มองอย่างฝ่ายขวา คือ พวกปลุกระดม มีการปลุกระดมในกระแส และเหตุการณ์แบบเดิม ๆ ซึ่งเป็นกบฏ ต่อราชอณาจักร

ข้อสังเกตของผม คือ คนไทยไม่มีบทเรียนจากอดีตเลยหรือ
นั่นสิ เขาว่าคนไทยลืมง่ายไงประชาชน
ขณะนี้ เริ่มแบ่งเป็นสองขั้วอีกครั้ง
รักในหลวงเหมือนกัน แต่รักคนละแบบ
เนื่องจากรับข้อมูล และเข้าใจข้อมูลที่ต่างกัน
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ในเวบนี้ คือผมคิดว่า ไปเล่าที่ไหน คงไม่มีใครฟังหน่ะ
เขาว่าเขารู้ดีกันแล้ว
ประเด็นคือ เป็นห่วงเพื่อน ๆ ที่อยู่เมืองไทยนะ
คิดดี ๆ ถอยออกมาอีกก้าวนึง ดูอดีต ดูปัจจุบันให้ดี ๆ

ไปสวนลุมกันเถอะ แต่ไปแบบมีสติ ใช้ปัญญาคิดนะ
สู้ ๆๆๆๆ เอาประเทศเราคืนมา


เขียนเมื่อ วันนี้ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นิวยอร์ค

Thursday, February 02, 2006

เด็ก ๆ เอาเวลาไปทำอะไรหมดนะ?

ทุก ๆ วันนี้ งานหนัก อยากทำโน่น ทำนี่เต็มไปหมด
“ไม่มีเวลา” “เวลาไม่พอ” “เหนื่อย” เป็นความคิดแก้ตัวเดิม ๆ ที่ผุดขึ้นในหัว
และก่อนหลับตาทุกครั้งเคยคิดกันไหม ว่า ตอนเด็ก ๆ เราไม่เคยมีความคิดนี้เลย

เคยคิดกันไหม ว่า เวลาตอนเด็ก ๆ เราเอาไปทำอะไร
ทำไมเราไม่เอาไปเรียนภาษาจีนวะ
ทำไมเราไม่เอาไปเรียนเปียโนวะ
ทำไมเราไม่หัดวาดรูปวะ
ทำไมเราไม่อ่านหนังสือวะ
หรือหัดใส่ใจ และตั้งใจ ในสิ่งที่พ่อแม่พยายามจะสอน และยัดเยียดเรา
ถ้าเราตั้งใจในวันนั้น ชิวิตวันนี้คง “เจ๋ง” และ “สนุก” กว่านี้
ตอนเด็ก ๆ เวลาตั้งเยอะ มันหายไปไหนหมดวะ

ผมนั่งคิด คิดแล้วคิดอีก เวลาตอนเด็ก ๆ ผม มันหายไปไหนวะ
เช้าวันหนึ่ง ผมตื่นมา ก็ได้คำตอบบางอย่าง
เด็ก ๆ เป็นไหมรวมตัวกับเพื่อน ๆ แถวบ้าน
สามคนเป็น ซัลวันคัล ห้าคนเป็น โกกุนไฟว์
หากรวมกลุ่มไม่ได้ พวกเราจะเป็นนินจา ปีนป่าย หรือหาทางลอดตามรูต่าง ๆ ไปทั่วบ้าน

เล่นซ่อนแอบ ขี่จักรยาน
เตะบอลพลาสติกในซอยแถวบ้าน เสาประตูเป็นรองเท้าแตะหนึ่งคู่
กรรมการเป่าหยุดเกมทุกครั้งที่มีรถจะขับผ่าน หรือใครสักคนเตะบอลเข้ารั้วชาวบ้านเขา
หาไม้ไผ่มาทำเป็นกระบองสองท่อน เพื่อจะเป็นแพนเทอร์ ใน ทันเดอร์แคท
เก็บต้อยติ่งในซอยแถวบ้านเป็นกำ ๆ แล้วใส่ไว้ในกล่องเทป
แล้วดูมันทุกวันหากเก็บมาตอนมันเขียว
มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนสี ไล่มาจะปลาย จนเป็นสีดำ
หลาย ๆ วันต่อมา มันก็แตกของมันเอง ทิ้งเปลือกงอ ๆ กับเมล็ด เต็มกล่อง

มีความสุข และตื่นเต้นทุกครั้งที่นั่งรถเมล์ ไปจตุจักร (ซึ่งตอนนั้น คิดว่ามันไกลพอ ๆ กับสระบุรีตามความคิดวันนี้)
ไปซื้องู ซื้อหนู ซื้อปลา ซื้อเต่า ซื้อกระต่าย ซื้อไก่ มาเลี้ยง
ไม่กี่วัน แมวแถวบ้านก็ได้อิ่มทุกที ให้ตายเหอะ

เลี้ยงปลากัด เอามากัดกับเพื่อน ๆ
เก็บใบหูกวางมาหมัก ให้มันหายป่วยหลังการต่อสู้เร็ว ๆ
พยายามเพาะพันธุ์ ตามหนังสือ ซึ่งยากจริง ๆ
ตอนเลี้ยงปลา จะสนุกกับการได้เก็บตังค์ ซื้อปลาใหม่ ๆ มา
ทำให้รู้ว่า ปลาบางประเภทจะกัดตัวอื่น
หรือหากปลาตัวไหน ป่วย ว่ายเอียง ๆ สูตรคือ เอาไปแช่น้ำเกลือ และใส่ออกซิเจนให้สายนึง
มันจะมีโอกาสฟื้นได้แปดสิบเปอร์เซนต์

พยายามหาเงินกินขนมเอง ด้วยวิธีต่าง ๆ
การพับถุงกระดาษ พับทั้งวันเลย ได้บาทเดียว
ร้านขายปลาบอก ช้อนลูกน้ำมาขาย ได้กระป๋องละยี่สิบ ดีใจใหญ่
ตักได้สวิงนึงกะเอาผสมน้ำใส่กระป๋องไปขาย
ร้านมันก็บอกว่า กระป๋องนึงที่ว่า คือ เป็นกระป๋องที่มีแต่ลูกน้ำล้วน ๆ ไม่มีน้ำ
นึกออกไหมที่ลูกน้ำเป็นก้อน ๆ ดำ ๆ ทั้งกระป๋องเลยหน่ะ

มีปูเสฉวนขายอยู่หน้าโรงเรียน ขายตัวละสามบาท
เอากลับบ้านมา เอาไปใสไว้ในตู้ปลา
ทำให้รู้ว่า มันเป็นสัตว์น้ำเค็ม และจะตายในวันรุ่งขึ้น
และเสียอีกสามบาท กะปูอีกตัว เพื่อได้รู้ว่า น้ำเค็มไม่ใช่ น้ำผสมกับเกลือในครัว
ฯลฯ

คิดออกแค่ในสิบห้านาที ว่าตอนเด็ก ๆ เวลามันหายไปไหน
ก็ไม่คิดบ่นต่อแล้ว ว่าทำไมไม่ทำโน่น ทำนี่ตอนเด็ก ๆ วะ
จะให้เด็กมันมาหัดเขียนโปรแกรมทำดาต้าเบส
คงเป็นไปไม่ได้
มีอะไรในวัยเด็กมาเล่าไหม?
ถ้าไม่มี ลองนึก ๆ ดูสิ
นึกออกแล้ว

เผื่อได้ยิ้มได้นาน ๆ ในเช้าวันเครียด ๆ
เหมือนผมบ้าง

เขียนเมื่อ วันนี้ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ นิวยอร์ค