Thursday, December 14, 2006

ณ มุมเล็กๆ กับเทียนเล่มน้อย

คืนวันที่ห้า ธันวาคม เวลาหกโมงครึ่ง
พระองค์ท่านจะรู้หรือไม่หนอ
ที่มุมเล็กๆ ที่มุมถนน หัวมุมวัดพระแก้ว หน้าศาลหลักเมือง
มีคนรอรับเสด็จตรงนั้นอยู่ ผมคะเนด้วยสายตา คงไม่ต่ำกว่าพันคน

ทุกคนชะเง้อ เขย่ง เบียดเสียด
ลมพัดมาเป็นระยะห่างๆ แต่ไม่พอที่จะบรรเทาความร้อนจากการเบียดเสียดได้

พี่ร้อยตำรวจเอก จิตวิทยาสูงคนหนึ่ง เห็นสภาพการณ์
หันมาบอกกับทุกคน “เห็นไฟแว๊บๆ ก็พอแล้วเนอะ”

แก้มที่ยกขึ้นจากรอยยิ้ม ของคุณป้าข้างๆ คงเป็นคำตอบที่ดี

อีกข้างหนึ่งของผมเป็นพ่อแม่ มากับลูกสาวตัวน้อยสองคน
สาวตัวน้อยทั้งสอง ที่อยู่ในหลุมกำแพงคน ร้อนเหงื่อออก แต่ไม่งอแง
พ่อสลับกันอุ้มขึ้นมาจากหลุมคนตรงนั้นเป็นระยะ

ผู้คนคับคั่ง เบียดเสียด
ถ้าไปดูการแสดง คงมีได้โวยวายกันบ้าง
แต่ผมเชื่อว่า ทุกคนตรงนั้น เต็มใจมา

เวลาก่อนทุ่มเล็กน้อย
พี่ร้อยเอกคนเดิมขอร้องให้ทุกคนนั่งลง ด้วยหน้าตายิ้มแย้มเหมือนเคย
“เอ้า คนไทยนั่ง”
“เอ้า ฝรั่งนั่ง”
นักท่องเที่ยวหลายคน ที่ยืนอยู่ถัดไปแถวสอง แถวสาม หน้างงๆ แต่นั่งลงตามเพื่อนคนไทยที่หัวเราะอยู่รอบข้าง

ตำรวจหันไปยืนประจำที่แล้ว เป็นสัญญาณที่ในหลวงจะเสด็จผ่านในไม่ช้านี้
แม้จะมองเห็นแค่รถพระองค์ท่าน เป็นไฟแว้บๆ ไกลๆ
เป็นภาพที่ลอดแถวตำรวจที่บังอยู่ และผ่านไปอย่างรวดเร็ว ประมาณห้าวินาที
แต่เสียง “ทรงพระเจริญ” ที่ทุกคนในที่นั้นร้องตะโกน
เสียงธงโบกอย่างพร้อมเพรียง
เป็นบรรยากาศที่บรรยายไม่ถูกจริงๆครับ

ปีนี้เป็นปีแรกที่ผม ได้มาจุดเทียนชัยถวายพระพร ที่ท้องสนามหลวงจริงๆ ซะที
หลังจากที่เคยจุดหน้าทีวีมาหลายครั้ง

จากเทียนเล่มน้อยของผม ที่ได้เพื่อนผู้ใจดีอุตส่าห์หยิบมาฝาก
ผมคงเป็นดวงเทียนหนึ่งดวงในหลายล้านดวง
และคงเป็นเสียงเล็กๆ ในอีกหลายล้านเสียง ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และสดุดีมหาราชาอย่างภูมิใจในพระองค์ท่าน

ท่านเคยเขียนในบันทึกส่วนตัวของพระองค์ท่าน
ในระหว่างทางที่ท่านเสด็จนิวัตรกลับไปศึกษาต่อ
เมื่อทรงได้ยินเสียงตะโกนจากพสกนิกรว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน"
พระองค์ท่านได้ตอบกลับในพระราชหฤทัยว่า “เราจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร ถ้าประชาชนไม่ทิ้งเรา”

หกสิบปีแล้ว ท่านทรงแสดงให้พวกเราเห็นแล้วว่า ท่านไม่ทิ้งประชาชนจริงๆ
ประชาชนไม่มีวัน และไม่แม้แต่จะคิดจะทิ้งท่าน

ขอพระองค์ จงทรงพระเจริญ”

Wednesday, November 22, 2006

ช่วงนี้ คุณฝันบ้างหรือเปล่า?

ฝันที่หมายถึง ไม่ใช่แนวฝันไปไกลต้องไปให้ถึง
หรือ ฝันละเมอเพ้อถึงใคร
แต่หมายถึง “นอนหลับ และฝัน”

สมัยเรียนอยู่ มีช่วงหนึ่ง ผมชอบอ่านหนังสือพวก How To
หรือแนวหนังสือจิตวิทยาประยุกต์ เช่น การพัฒนาตนเอง การอ่านคน ฯลฯ
อ่านอยู่หลายเดือน รู้สึกว่ามันมีความเครียดรุมๆ อยู่
มองแง่ดีว่า มันเป็นพลังขับดันได้ลึกๆ

ช่วงนั้น เพื่อนผมกำลังเวียนกันอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
เป็นวรรณกรรมเด็ก เล่มหนา ชื่อดังของ มิคาเอล เอนเด้
เรื่อง Never Ending Story

หลายคนแนะนำว่าดี แต่ผมมองว่า มันน่าจะเสียเวลา
แต่วันหนึ่ง หนังสือก็มาวางอยู่ตรงหน้าผม ในโรงอาหารตอนเที่ยง

ผมลองพลิกอ่าน ไปสามสี่หน้า และใช้เวลาทั้งบ่ายนั้นอ่านไปเรื่อยๆ
เพื่อนผมเลยเอาให้ยืมกลับไปอ่าน

คืนนั้น และคืนต่อๆ มาอีกหลายคืน
ผมฝันเป็นตุเป็นตะ ทั้งเกี่ยว และไม่เกี่ยวกับในหนังสือ
แต่มันทำให้ผมตระหนักได้ว่า มันเป็นเวลานานมากแล้ว ที่ผมไม่ได้ฝัน

ก็เพิ่งได้รู้ว่า
การได้ฝันเป็นการทำให้การนอนมีความสุข
ทั้งก่อน และหลัง

สำหรับ Never Ending Story
โชคดีที่ผมจำภาพ และเรื่องในหนังไม่ค่อยได้
มันทำให้จินตนาการเมื่ออ่านหนังสือ บินไปได้ไกลกว่าในหนังมาก
เท่าที่ได้อ่านของ เอนเด้ มาสองสามเล่ม
เล่มนี้ น่าจะสร้างฝันได้ดีที่สุด

ด้วยจินตนาการนี่เอง ที่ทำให้วรรณกรรมเด็กยิ่งใหญ่
และมีผลกระทบได้มากกว่างานเขียนชนิดอื่นๆ ในความคิดผม

ใครนึกไม่ออก ว่าฝันเรื่องสุดท้ายเรื่องอะไร
ลองอ่านวรรณกรรมเด็กดีๆ ซักเรื่องสิครับ

Monday, November 20, 2006

ทำงานไปเพื่ออะไร?

สมัยเรียนปีสาม ผมชอบไปฟังสัมมนาวิชาการตามที่ต่างๆ
ผมถูกเพื่อนชักชวนปนหลอกล่อ เข้าไปเข้าฟังสัมมนาการพัฒนาธุรกิจแห่งหนึ่ง

ในห้องบรรยาย มีคนกว่ายี่สิบคน วัยคละกันตั้งแต่วัยเกษียร จนถึงรุ่นประมาณผม
ผู้บรรยาย เป็นคนหนุ่มวัยสามสิบปลาย
เขาแนะนำตัวว่าเขาจบวิศวฯ จากสถาบันชื่อดัง
เรียนต่อเมืองนอกเมืองนา ได้ทำงานดีๆ บริษัทใหญ่ๆ มามากมาย

เขาเริ่มถามคำถามคนในห้อง
คำถามนั้นเป็นคำถามแบบเปิด เขาถามว่า
“ทำงานไปเพื่ออะไร?”

เขาถามไล่เรียงแถวไปจากข้างหลังมาข้างหน้า
คำตอบหลากหลาย มาจากหญิงและชายไล่มาเรื่อยๆ
“ชีวิตมั่นคง” “เพื่อลูก” “เลี้ยงดูพ่อแม่” “ชีวิตที่ดีขึ้น” “อยากเที่ยวรอบโลก” “ฯลฯ”

ด้านหน้าห้องเป็นกระดานไวท์บอร์ดอันใหญ่
ผู้ถามนำคำตอบทุกคน ค่อยๆ เขียนไว้บนกระดาน

“น้องหล่ะครับ ทำงานไปทำไม?” เขาไล่ถามมาถึงผมแล้ว
“เพื่อให้ชีวิตมีค่าครับ” ผมตอบ
คำตอบผมขึ้นไปอยู่ตรงมุมของไวท์บอร์ดอันใหญ่

เมื่อได้คำตอบครบจากทุกคนในห้อง
จากนั้น เขาเขียนคำหนึ่งตัวโต ไว้ตรงกลางไวท์บอร์ดที่เว้นไว้ว่า
“เงิน”

เขาเริ่มเชื่อมโยงสิ่งที่ได้จากคำตอบทุกท่าน
“เพื่อลูก” จะเลี้ยงลูกได้ไหม ถ้าไม่มี “เงิน”
“ชีวิตที่ดีกว่า” มีรถ มีบ้าน ก็ต้องใช้ “เงิน”
“เที่ยวรอบโลก” จะทำได้ไหม ถ้าไม่มี “เงิน”
เขาพูดก็พลางลากเส้นจากคำตอบที่สะสมมา เข้ามาสู่คำว่า “เงิน”

สุดท้าย เหลือคำตอบของผม “ชีวิตมีค่า” เป็นตัวสุดท้ายที่ยังไม่ได้มีเส้นเชื่อมไปถึงคำว่า “เงิน”

“คำตอบนี้ของใครนะครับ?” เขาหันมาถาม
ผมยกมือขึ้น ซึ่งต่อให้ไม่ยก คนข้างๆ ก็ชี้มาทางผมอยู่แล้ว
“น้องทำงานหรือยังครับ?” เขาถามต่อ
“ยังครับ”
“น้องเขาคงยังไม่รู้ ว่าชีวิตนี้จะมีค่าขึ้นมาก และทำอะไรได้อีกหลายอย่างถ้าเรามีเงินเช่นกัน”
และแล้ว เส้นจากคำตอบของผม ก็วิ่งตรงสู่คำว่า “เงิน”

จากนั้นเขาเปิดวิดีโอ จากอเมริกาเป็นงานสัมมนาของแอมเวย์
ให้เห็นการสัมมนาทั่วโลก และพากันไปเที่ยว ฮาวาย นิวยอร์ค และหลายเมืองในอเมริกา
ทุกคนดูมีความสุข โบกมือทักทาย
วิดีโอจบลงด้วยภาพมุมเงย สู่ธงแอมเวย์ บนฟ้าสดใส
และเป็นโลโก้ตัวใหญ่เต็มจอ

ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นแหล่ะ ว่ากำลังฟังการอบรมขายตรงของแอมเวย์

จากนั้นผู้บรรยายเริ่มบอกวิธีได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน ด้วยระบบลูกโซ่
ตอนนั้น ผมแค่รู้สึกว่า ระบบนี้มันแปลกๆ

ต่อมาผมสรุปได้ว่า มันเป็นธุรกิจแบบ non-productive
ซึ่งประเทศในภาพรวม ถ้าเป็นแบบนี้กันหมด จะไปไม่รอดแน่ๆ
ผมนึกเปรียบกับ โฆษณาหลายตัวที่สามารถทำให้คนลดน้ำหนักลงได้
โดยไม่ต้องลดอาหาร และไม่อยากออกกำลังกาย
มันไม่ได้อยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งผมไม่เชื่อ

แค่ต้องการอะไรที่มัน Real-time แล้วฉาบฉวยจะเอามาให้ได้

หากวันนี้ มีใครมาถามผมว่า ผมทำงานเพื่ออะไร?
มุมมองตอนนี้ ผมกำลังหาจุดสมดุลของเหตุผลสามอย่าง คือ
เพื่อเอาเงิน
- เงินไม่ใช่คำตอบ แต่มันเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต และมีทุนเพียงพอจะเอาไปทำอย่างอื่นได้
เพื่อเอากล่อง
- เกิดมาทั้งที มันต้องสร้างชื่อ และสร้างอะไรดีๆ บนโลกนี้ ประเทศนี้ สังคมนี้
เพื่อเอามัน
- นี่เป็นเหตุผลสนองตัญหาความใคร่รู้ เป็นการทดลอง ทดสอบ และพัฒนา หาคำตอบอะไรซักอย่างที่ตั้งคำถามไว้

มันคงจะดี ถ้ามีงาน ที่ตอบเหตุผลทั้งสามได้ในอันเดียว

แต่ถ้ามันไม่สามารถรวมกันเป็นอันเดียวได้
การที่คุณทำอะไร แล้วรู้จุดหมายว่าจะทำไปเพื่ออะไร?
ผมว่ามันทำให้เราทำสิ่งนั้น ได้อย่างไม่ต้องบ่นในความเหนื่อยล้า
หรือปัญหาต่างๆนานาที่เจอ และจะเจอ

เพื่อนหลายคนของผมตอนนี้
หลังจากที่ง่วนกับการหาเงินมาจ่ายเงินเดือนลูกน้องให้ทัน
การหาลูกค้า การรับมือเจ้านาย รับมือปัญหาประจำวัน ฯลฯ
พวกเขาเหมือนจะลืมว่าเขาทำงานไปเพื่ออะไรกันแน่?
เหมือนจุดหมายย้อนกลับมาที่คำว่า “เงิน” เพียงอย่างเดียว

แต่หลายธุรกิจบนโลกนี้ เกิดจากเหตุผล "ทำเพื่อเอามัน" แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือหาเงินระดับโลก
www.google.com เป็นหนึ่งในนั้น
หรือ “กล่อง” หลายใบที่ได้มา กลับกลายเป็นต้นทุน ทำให้หลายคนประสบความสำเร็จในชีวิตได้
และกลับได้เงินอย่างไม่ลืมหูลืมตา

แล้วจุดหมายทั้งสามอัน มันจะรวมกันเป็นอันเดียวได้ในที่สุด

แล้วคุณหล่ะ ทำงานไปเพื่ออะไร?

Wednesday, September 20, 2006

HAPPY REVOLUTION DAY

ตอนเช้า ถนนหลายสายปิด สะพานทุกสะพานมีการตรวจสอบจากกองกำลังทหาร
เพิ่งได้รู้ว่า ชุดทหารไทย เมื่อแต่งเต็มยศ และอุปกรณ์ครบ มันก็เท่ไม่หยอก

ทหารอยู่ทุกมุมถนน ประชาชนมองเหมือนเป็นสิ่งน่าตื่นเต้น

รถหุ้มเกราะปิดถนนหลายสาย
ที่น่าสังเกตคือ มีดอกไม้หลายช่อ หุ้มเกราะไว้อีกทีหนึ่ง

รถติด เวลาเก้าโมงกว่า หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ แถลงผ่านวิทยุ
ผมมองดูรถข้างๆ ทุกคนฟังอย่างใจจดจ่อ
ทุกอย่างน่าจะผ่านไปด้วยดี

ตอนเย็นขับรถผ่านพระบรมรูปทรงม้า
เห็นรถถังหลายคัน ถูกล้อมด้วยฝูงชน

ผู้คนหน้าตายิ้มแย้ม พร้อมกล้องถ่ายรูป และขาตั้งกล้อง
จูงลูกจูงหลานถ่ายรูปร่วมรถถัง
ถ้าทหารปล่อยให้เด็กไปปีนป่ายรถถัง
คงเป็นวันเด็กที่มีคุณภาพวันหนึ่ง

หน้ากองทัพภาคที่หนึ่ง ทหารหลายร้อยนาย ยืนประจำจุด
พร้อมกองทัพประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ต่างยืนชูสองนิ้ว ถ่ายรูปคู่กับทหาร เหมือนตัวแมสค๊อตในสวนสนุก
ทุกคนยิ้มแย้ม ซึ้อหมูปิ้งที่สี่แยก มานั่งกินข้างถนน

กลับมาถึงบ้าน
ภาพข่าวต่างประเทศยังคงนำภาพรถถังขมึงทึงเมื่อคืนก่อน
เสนอวนไปวนมา
ราวกับว่า รถถังสิบเก้าคันนั้น มีเป็นร้อยๆ พันๆ

ค่าเงินบาท ตกไปเกือบบาท
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตกไปประมาณหนึ่งเปอร์เซนต์

พรุ่งนี้
สื่อต่างประเทศที่คงไม่นำเสนอภาพเด็กขี่จักรยานไปดูรถถัง หรือคุณลุงพาหลานมามอบดอกไม้ อย่างแน่นอน

และพรุ่งนี้ ในประเทศ ทุกอย่างเปิด และคงกลับไปเหมือนเดิม
แต่ประชาชนมีความสุขขึ้นบอกไม่ถูก

อย่างน้อยก็ผมคนนึง

Wednesday, August 16, 2006

ประเทศไทย หน้าสุดท้าย?

คุณเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับประเทศอินเดียไหมครับ?
ที่ว่า
หากคุณไปอินเดีย สามวัน คุณจะเขียนหนังสือ ได้เป็นสิบๆ หน้า
หากคุณอยู่อินเดีย สามอาทิตย์ คุณจะเขียนหนังสือ ได้เป็นร้อยๆ หน้า
แต่หากคุณอยู่อินเดีย เกินสามเดือน คุณจะเขียนหนังสือไม่ได้เลยสักหน้า

ผมกลับมาประเทศไทยครบสิบวันแล้ว
ผมเริ่มรู้สึกเหมือนคนที่เคยไปอินเดีย

ประเทศไทยยังเหมือนเดิม
มีแต่มุมมองผมเท่านั้น ที่แปลกไป
มันอาจเป็นข้อสังเกต ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

ผมตกตะลึงกับการเติมน้ำมัน ที่เต็มถัง ต้องใช้เงินพันกว่าบาท
และตกตะลึงยิ่งกว่า ที่ยังมีคนเร่งเครื่อง จี้ตูดกันบนถนน
ซึ่งผมไม่เข้าใจว่า ไม่รู้จะแข่งกัน เอาเงินไปจ่ายซาอุฯ ทำไมกัน

ผมงงๆ กับการวิเคราะห์ฟุตบอลพรีเมี่ยลีก อังกฤษ
ที่ผู้วิเคราะห์ และแฟนๆ
ออกความเห็นเหมือนทีมพวกนั้นเตะบอลอยู่ปากซอย
และนักเตะแต่ละคนเป็นเหมือนไอ้ปี้ดบ้านข้างๆ

ผมตกตะลึงกับทีวีบ้านเรา
ที่มันไร้สาระไม่ต่างกับ ทีวีในอเมริกา

ผมตกตะลึงกับร้านกาแฟ ที่ผุดทุกหย่อมหญ้า
ที่ผมไม่เข้าใจว่า ราคาแก้วหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่าห้าสิบบาท
กาแฟชงถุงเท้า ก็ยังอร่อยเหมือนเดิมนี่นา

ค่าอาหารร้านภัตตาคารดีๆ แพงขึ้นอย่างน่าตกใจ
เหมือนจะเป็นการกรอง และคัดแยก คนรายได้ปานกลาง ออกไปจากกลุ่มคนรสนิยมสูง

ผมเริ่มสับสนกับค่าครองชีพ และรายจ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็น
ที่แนวโน้มดูเหมือนระยะห่างจะถ่างขึ้น และกำลังขัดแย้งกับรายได้อย่างสิ้นเชิง

ผมได้ยินได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน
กับภาระการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และบางคนที่วางแผนการมีลูก

ผมมีคำถามขัดแย้งขึ้นในหัว ว่า “เราจะอยู่กันยังไงนะ?”

หรือทางออกอยู่ที่ การเปิดร้านอาหาร การเปิดร้านกาแฟ หรือ แข่งกันเป็นดารานักร้องเท่านั้น

ผมได้ฟังข้อสังเกตของพี่ท่านหนึ่ง เขาสังเกตว่า
ในท่ามกลางคนรุ่นๆ ผม
การที่จะมีเงินเก็บสองแสนต่อปี หรือ มีหนี้สองแสนต่อปี
ไม่ได้ทำให้การดำรงชีวิตแตกต่างกันมากเท่าไหร่
นี่คือสัญญาณอะไรบ้างอย่าง
ในสังคมแห่งวัตถุนิยม และจะนำไปสู่ความล่มสลาย

ผมยังไม่เข้าใจนัก แต่ลองคิดตาม ก็เห็นว่า มันแปลกๆ
เพราะการจะมีหนี้สองแสน กับมีเงินเก็บสองแสนในเมืองที่ผมเคยอยู่
จะทำให้ชีวิต ลำบาก หรือ อู้ฟู้ แตกต่างกันอย่างสินเชิงแน่ๆ

นี่อาจเป็นหน้าสุดท้ายที่ผมยังสามารถตั้งข้อสังเกตในสังคมนี้ได้
ผมรู้สึกว่า ข้อสังเกตของผม กำลังลดน้อยลงไป
อาจเป็นเพราะผม เติบโตจากที่นี่ และกำลังจะ ชิน ในที่สุด

อาจเป็นเหตุผลที่
สถาปนิกชื่อดังของไทยผู้ออกแบบอาคารลักษณะไทยร่วมสมัยชื่อ โรเบิร์ต จีบุย
ผู้ประพันธ์ดนตรีไทย ที่ฟังแล้วร่วมสมัยและไพเราะ ชื่อ บรูซ แกสตัน
ผู้เชี่ยวชาญไหมไทย ที่ทำให้ไหมไทยเป็นสินค้าส่งออก ชื่อ จิม ทอมสัน

ถอนหายใจหนึ่งที ว่าแล้วก็เปิดยูบีซี โหวตวีอะไรดีนะ อาทิตย์นี้

Saturday, July 22, 2006

"ผู้มากบารมี" ของผม

ในชีวิตคนเรานั้น
เราอาจมีคนที่เราคิดว่าเป็น "ผู้มากบารมี” สำหรับเรา

ผมมีอยู่ประมาณ หก ถึง เจ็ด คน
นอกจาก พ่อ แม่ พี่ และญาติสนิทบางคนแล้ว
ผมมีบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็น “อาจารย์”
ที่เป็นผู้ชี้แนะทางชีวิต และในระดับจิตวิญญาณผมได้
อยู่อีกสองสามคน

เป็นบุคคลที่อยู่ๆ เดินเข้ามา แล้วบอกให้ผมเอาหัวไปจิ้มขี้
ผมจะวิ่งไปทันทีเอาหัวไปจิ้มขี้ทันที
เพราะผมเชื่อว่า การที่เขาบอกให้ผมเอาหัวไปจิ้มขี้
คงเป็นผลดีกับผม อะไรซักอย่าง
อาจเป็นเพราะหัวผมมีเหา หรือ รังแครื้อรัง และกองขี้จะรักษาได้

ผมไม่ทราบว่าคุณมีคนแบบนี้ในชีวิตบ้างหรือไม่?

หากใครจะเถียงเรื่องหลัก กาลมสูตร
ผมก็ยอมแพ้ จนกระดาน

เพราะนี่เป็นความศรัทธาผมเอง
ผมเห็น การดำรงชีวิต การทำงาน ของพวกเขามานานพอสมควร
และพอพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งว่าสามารถยกเขาในกลุ่มบุคคล “ผู้มากบารมี” ของผมได้


จริงๆ แล้วผมไม่อยากเขียนเรื่อง “ผู้มากบารมี” เลย
ตอนแรก ผมเห็นด้วยกับเกือบทุกท่านที่แสดงความเห็นในข้อความข้างล่าง เรื่อง “โยนหินถามทาง”
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่นายสนธิจับประเด็นผิว
และพยายามตีขลุม เอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือ

ผมเห็นด้วยกับการนำประเด็นจริงๆ มาสู้กัน เช่นเรื่องนโยบายที่ผิดพลาด การทุจริตในวงกว้าง ผลประโยชน์ทับซ้อน ความไร้จริยธรรม การปิดหูปิดตาประชาชน หรือที่เรียกภาพรวมๆ ว่า “ระบอบทักษิณ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็ไม่ทิ้งในความสงสัยว่า ทักษิณพูดถึง “ใคร” และ “ทำไม”

สิ่งที่ผมทำได้คือ “ตรวจสอบ” จากแหล่งข่าวส่วนตัวเท่าที่ผมมี

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีพลังในการสร้างกระแส
พัดไป พัดมา จนทำให้เรายืนอยู่ลำบากนั้น
การมีแหล่งข่าวที่เหมาะสม และตรงประเด็น จึงมีความสำคัญมาก

บังเอิน แหล่งข่าวของผม มีรากลึกพอสมควร
ทั้งรับใช้ และใกล้ชิด
และเป็นหนึ่งในหลายคนที่ไม่ชอบนายสนธิ
แต่ข่าวที่ได้กลับมา เป็นสิ่งที่ผมสามารถเดินได้เต็มตัว
ในการเขียนบทความข้างล่าง ในเวลาสิบห้านาที

หากนำมาเล่าให้ฟัง ก็กลายเป็นนิทานอีกเรื่องหนึ่งสำหรับคนอ่านเท่านั้น

ลองตรวจสอบแหล่งข่าวของคุณดูนะครับ
อาจมีใครโดนพลักให้มายืนตรงจุดที่ผมยืนบ้าง

Friday, July 07, 2006

โยนหินถามทาง?

ใครติดตามข่าวเรื่อง “คนมากบารมี” บ้าง ขอความคิดหน่อย
(ถ้าไม่ติดตาม ขอให้ข้ามไปเลยไม่ต้องเสียเวลาอ่านต่อ)

คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร?

การที่ทักษิณพูดถึง “ผู้มากบารมี” ที่อยากเป็น “นายกมาตรา 7” อย่างมีสคริป และเตรียมการ
มีการเน้นหลายครั้งหลายหน ไม่ใช่ปากผล่อย เหมือนที่แล้วๆ มา

ผมมองว่า นี่คือการท้าทาย “พระราชอำนาจ” อย่างแยบคาย
ต่อจากนั้น ต้องถอยกรูด ต่อกระแสคำถาม ว่า “ใคร?”
คนรอบข้างต้องออกมาชี้โบ๊ชี้เบ๊
เป็นหลวงตาบัวบ้าง
เป็นสนธิบ้าง
เป็นพันธมิตรบ้าง
เป็นประชาธิปปัตย์บ้าง
ที่หากไม่กินหญ้า หรือแกลบเป็นอาหาร คงไม่เชื่อแน่ๆ

ส่วนเจ้าตัวคนพูด กลับเงียบ เบี่ยงประเด็นไป
การดึงเรื่อง หรือเบี่ยงประเด็นว่าจะไปดูบอลโลกของทักษิณ จะทำให้พ้นสามวันอันตราย และเมื่อครบสามวันผ่านไป คนไทยจะลืมนั้น กำลังจะสำเร็จ

ผลคือ เราชนะในสมรภูมินี้ ทำเอาทักษิณถอยกรูด ปิดทางตีตลบด้วยกลยุทธ พ่นน้ำลายมากมายคำเพ้อเจ้อ
แต่ใครจะสังเกต และตระหนักว่า “เรากำลังเพลี่ยงพล้ำ จะกำลังแพ้ในสงคราม”

คนที่ติดตามข่าวนี้ ก็รู้ว่า “คนมากบารมี” คือ องคมนตรี สักคน
แม้ฝ่ายต่อต้านหลายคนจะดึงไปถึงระดับ ราชวงค์ เพื่อให้ได้กระแส และผู้คน
หากมีสติคิดสักหน่อย ก็เห็นว่าไม่ใช่แน่ๆ

แต่คิดต่ออีกชั้นหนึ่งดู ว่า องคมนตรีคือใคร?
ผู้แทนพระองค์ ใช่หรือไม่?
คือกลุ่มคนที่ในหลวง ทรงเลือกมาทำงานใช่หรือไม่?

พระราชอำนาจได้ถูกท้าทายอย่างแยบยลแล้ว
และ “เรากำลังเพลี่ยงพล้ำ จะกำลังแพ้ในสงคราม”

ความพ่ายแพ้นี้คืออะไร?
สังเกตไหมว่า ทหาร ตำรวจ ที่เคยปกป้อง ราชบัลลังค์ และราชอาณาจักร มากว่า 700 ปี
วันนี้ มีแต่ความเงียบ และนิ่งเฉย
ประชาชน บุ้ยใบ้

ระบอบทักษิณได้โยนหินถามทางแล้ว
และทางนี้ ท่าทางจะไปได้เสียด้วยสิ

เหลือสิ่งที่ทักษิณควบคุมไม่ได้ในประเทศไทยนี้คือ
อำนาจศาล (บางศาล) และ พระราชอำนาจ เท่านั้น

การที่ศาลฏีกา และศาลปกครอง น้อมรับพระบรมราโชวาท ให้แก้วิกฤตชาติ
คือการใช้พระราชอำนาจทางหนึ่ง

การที่ในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย
ในพรฏ.เลือกตั้ง และคำสั่งแต่ตั้งโยกย้ายข้าราชการ
คือด่านสุดท้ายที่ท่านทรงใช้ พระราชอำนาจ ยับยั้งอะไรได้บางอย่าง

ผมไม่ได้สนับสนุนให้ต้องเลือกข้างไหน
ผมไม่เห็นด้วยกับนายสนธิไปทุกอย่าง

แต่ผมอยากให้เรามีสติ และทบทวนความเชื่อของเราอีกครั้ง
ถามอีกที ว่าเราเชื่อในอะไร?
เรารัก และอยากรักษาสถาบันหรือไม่?

ถามว่า ตอนนี้ เราปล่อยให้ ในหลวง สู้กับระบอบทักษิณ อย่างเดียวดายหรือไม่ครับ?

Saturday, July 01, 2006

Revolutionary Wealth (1/5)

หนังสือเล่มใหม่ของ นายอัลวิน ทัฟเฟลอร์
นักอนาคตศาสตร์ผู้เขียนเรื่อง คลื่นลูกที่สาม เมื่อกว่าสิบปีก่อน
ในเล่มนั้นเป็นคนออกมาบอกว่า โลกกำลังจะเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม
คือ ยุคข้อมูลข่าวสาร

ในเล่มนี้ เขากลับมาบอกเป็นแนวๆ ว่า
ความมั่งคั่ง กำลังจะเปลี่ยนอีกที

กาละ เทศะ ปัญญา
เป็นสามพื้นฐานของความมั่งคั่ง
เมื่อ กาละ คือ Time
เทศะ คือ Space
ปัญญา คือ Knowledge

ในประเด็นเรื่อง Time
หมอนี่ พูดถึง ความเคลื่อนไหว ที่ไม่ประสานกัน
Unsynchronized Speed ของเจ็ดองคาพยพหลักในสังคม
โดยเขาเทียบออกมาเป็นความเร็วรถบนทางหลวง
รถคันแรก วิ่งอยู่ที่ ร้อยยี่สิบ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ “วงการธุรกิจ”
คันต่อมา ร้อย กม./ชม. คือ “องค์กรอิสระ”
เจ็ดสิบ กม./ชม. “องค์กรต่างประเทศ”
ห้าสิบห้า กม./ชม. “รัฐ”
ยี่สิบกม./ชม. “การเมือง”
สิบกม./ชม. “การศึกษา”
ห้ากม./ชม. ซึ่งเดินยังเร็วกว่า คือ“กฎหมาย”
ความเร็วพวกนี้คือ บริบทของ อเมริกา

แต่อ่านแล้ว ผมชอบในแนวคิดของเขา
มามองแบบประยุกต์กับไทยดูบ้าง
ลำดับความเร็วอาจ สลับๆ กับอเมริกาบ้าง และอาจไม่เร็วเท่า
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ
เมื่อความเร็วไม่เท่ากันแล้ว
ปัญหาก็ต้องเกิด

มองมาที่ประเทศไทย
ปัญหาที่ขัดแย้งนี้
อาจเนื่องจาก วงการธุรกิจ ดันไปเป็นเรื่องเดียวกับการเมือง
องค์กรอิสระ และราชการเราก็ต้องเร่งเครื่อง
เครื่องพังไปบ้าง เกิดอุบัติเหตุไปบ้าง

การศึกษาที่เหมือนตุ้มถ่วงอยู่ กลับถ่างปัญหาสังคม และชนชั้นมากขึ้น
กฏหมายที่ล้าหลังที่สุด ดูเหมือนจะถูกผูกเชือก ลากถูลู่ถูกัง กันแทบไม่เหลือ

ในประเด็นเรื่อง เทศะ หรือ Space
แม้ว่าทำเลทองในการขายของ จะมีความสำคัญน้อยลงไป
แนวคิดของหมอนี้ เขาหันกลับมามองทางเอเชียเรา
ฐานความมั่งคั่ง จะมาทาง อินเดีย จีน ซึ่งเป็นฐานผลิตใหม่
ทั้งเศรษฐกิจคลื่นลูกที่สอง และสาม คืออุตสาหกรรม และบริการ
เช่นโรงงานในหลายมลฑลของจีน
หรือแม้แต่ Call Center ที่ Outsource ออกไปอินเดีย
หรือ ฐานพัฒนาซอฟท์แวร์ ในซิลิกอนวัลเลย์ ใน บังกะลอ

แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ไม่ลืมที่จะถกถึงปํญหาที่จะถาโถมซัดเป็นผลกรรมในการโหมเศรษฐกิจ
ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ปัจจัยสุดท้ายคือปัญญา
นายนี่กล่าวเป็นการเกริ่นว่า
ยุคข้อมูลข่าวสาร กำลัง ก้าวเข้าสู่ ยุคการติดต่อสื่อสาร (Communication Age)

ความจำในหัวสมองมนุษย์ อาจมีความจำเป็นน้อยลงไป
หากเรามี “เครื่องมือ” ที่จะเข้าถึง “สมองของโลก”
หรือ อินเตอร์เนท นี่เอง

การเฉือนกัน ทางธุรกิจในยุคนี้คือ
สำคัญอยู่ที่เรา จะเปลี่ยน และกรอง ข่าวสารเหล่านี้
ให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และพัฒนาไปเป็นความรู้

ความรู้ เป็นทรัพยากรที่ต่างจาก ทรัพยากรใดๆ บนโลก
กล่าวคือ จับต้องไม่ได้
ยิ่งใช้ ยิ่งมีมาก
หากเอาไปวางข้างๆ กับความรู้อื่น จะขยายตัว อาจก่อเกิดเป็นอะไรใหม่ๆ
สำคัญคือ หาความรู้ใด แยกตัวไปอยู่เดี่ยวๆ อาจจะกลายเป็นล้าหลังในทันที

และเนื่องจากโลกที่ดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้เป็นไปได้ว่า
ความรู้ที่ได้มาวันนี้ กลับจะล้าหลังในวันพรุ่งนี้
Obsolete + Knowledge = Obsoledge
(นักวิชากรพวกนี้ ชอบสร้างคำเก๋อยู่เรื่อยไป อาจเป็นพวกเดียวกับนักวิชาการยุคเดือนตุลาฯ)

นี่คือการสรุปความตามที่ผมเข้าใจใน หนึ่งร้อยหน้าแรก จากห้าร้อยหน้าของหนังสือ
ยังอ่านไม่จบแหล่ะครับ แต่ทำสรุปไว้ก่อน กันลืม
คาดว่า ในช่วงหลังๆ ของเล่มนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ลงลึกมากขึ้น

ผมไม่เคยอ่านหนังสือของนายคนนี้มาก่อน
แต่พอสัมผัสได้ว่า หมอนี่มองโลกเป็นตะวันตกมากๆ
มีการมองเฉี่ยวๆ ไปทางตะวันออก เรื่องนิพพาน เรื่องศาสนาบ้าง
แต่เหมือนถอยออกมา ในย่อหน้าถัดไปทันที

ในร้อยหน้าแรกที่ผมอ่าน
มีการกล่าวถึงชื่อหลายประเทศในโลก
และหลายประเทศในทวีปเอเชีย ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร มาเลย์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์
ความน่าสนใจคือ
ไม่มี Thailand สักคำเดียว

ประเทศตะวันตกตอนนี้ มันไปวิ่งเป็นมดตื่น ไปทางจีน กับ อินเดียแล้ว
จะให้เขาหันมามองประเทศเราด้วยการแข่งทาง “อุตสาหกรรม” หรือ “ไอที” นั้น
อาจเป็นการ “จุดไม้ขีดให้สว่างสู้กับดวงตะวัน”

ผู้นำเราที่เคยได้ชื่อว่าจะเป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม”
ท่านจะรู้หรือไม่ว่า คลื่นทั้งสามลูกนั้น มันอยู่ในประเทศเดียวได้

ยิ่งเห็นนโยบายท่านหลายๆ อันแล้วผมก็เหนื่อยใจ

หากประเทศเรารู้จักประเมินตนเอง
เกษตรคือสิ่งที่เราถนัด
ไม่ต้องเป็น นิกส์ ไม่ต้องเป็น ฮับ บ้าบออะไรเลย

ทางรอดของเรา อาจอยู่ที่แนวคิดอันประเสริฐยิ่งอันเดียวว่า “พอเพียง”
รู้จักคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง หรือไม่ครับท่านผู้นำ?

Wednesday, June 14, 2006

คุณรักในหลวงถูกทางหรือไม่?

ผมยอมรับว่า
ผมเป็นคนหนึ่งที่ดูหนังโฆษณา “In your heart” แล้วน้ำตาไหล ดูกี่ทีก็ไหล
ผมได้อ่านที่ท่านทรงงานในโครงการพัฒนาต่างๆ ผมน้ำตาซึมทุกที
ทุกครั้งที่ผมอ่านพระราชดำรัส ผมจะอ่านครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะมันช่างลึกซึ้งเสียเหลือเกิน
และทุกครั้งที่ผมพูดถึงในหลวง ให้คนอื่นได้รู้ถึงพระคุณท่าน ไม่ว่าภาษาไทย หรืออังกฤษ
ผมจะร้องไห้หรือน้ำตาคลอ ด้วยความภาคภูมิใจ

ผมเคยถามตัวเองว่า หากผมสามารถแลกชีวิตผม หนึ่งปี
เพื่อให้ในหลวงมีพระชนมายุ ยาวขึ้นอีกหนึ่งนาที
ผมยอมหรือไม่?
ผมตอบในใจ สิบปีของชีวิตไร้สาระผม แลกกับหนึ่งวินาทีที่ท่านทรงงานเพื่อคนไทยหกสิบล้าน
ผมยังยอมเลย

ผมติดตามข่าวที่ประเทศไทยทั้งดี และไม่ค่อยดี
ไฟสวย พลุสวย ประชาชนรวมตัวกันมากมาย และมีสุขด้วยใจเปี่ยมความจงรักภักดี
ผมเสียดายมาก ที่ไม่ได้อยู่เมืองไทย

รถติด พนันบอลโลก กกต.หนาด้าน เสื้อเหลืองขาดตลาด โก่งราคากัน
ข่าวพวกนี้ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ผมเป็นห่วงคนไทยมากๆ ในหลายๆ เรื่อง
เรื่องหนึ่งคือ “การรักในหลวง”
การที่ใส่เสื้อเหลือง ใส่สายรัดข้อมือ ทราบซึ้งในพระคุณท่าน
แค่นี้เป็นการรักที่ถูกทางหรือไม่?

ผมเอาข่าวเรื่องที่ประชาชนเสื้อเหลือง มารวมตัวกันมากมาย
ร้องไห้ ตะโกนทรงพระเจริญ ให้เพื่อนต่างชาติดู
เขาก็พูดตรง ๆ ออกมาว่า
พวกเราโดนล้างสมองกันเหรอ?
คงไม่ต่างจากการที่คนปกติอย่างเราๆ ท่านๆ ดูหนังสือชวนเชื่อวัดพระธรรมกาย เห็นสาวกมองจานบินต้องแสงสวยๆ แล้วน้ำตาไหล
ผมก็เข้าใจเขา

ก็ได้แต่อธิบาย ว่าทำไมเรารักพระเจ้าแผ่นดินเราขนาดนี้
เขาไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็เออๆ ออๆ ไป

ผมอาจมีนิสัย ชอบสังเกต และช่างติ ไปนิด
การที่ มีการโฆษณา เรื่อง น้องต้น ด.ญ.มาลัยรัตน์ ที่ได้บ้านพระราชทาน
เพราะเขียนจดหมายถึงพ่อหลวง
ผู้ว่าฯ ก็มอบเงิน โรงพยาบาลรับแม่เข้ารักษา สำนักพระราชวังมาทำบ้านให้
อันนี้ผมว่า “ประหลาด”

เช่นเดียวกับ หนังสั้น In your heart
ที่ตอนหนึ่ง เด็กหญิงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมารอรับเสด็จ
พร้อมมีภาพทำให้เหมือนจะเข้าใจว่า ได้ถนนลาดยาง เพราะในหลวง

ใครจะร้องไห้ ปลาบปลื้มด้วยเหตุอันนี้หรือไม่ ผมไม่เอาด้วยคนหนึ่ง
ผมเชื่อว่า ในหลวง ท่านทำมากกว่านั้นมาก

แม้ว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ของการตีโจทย์
ของการโฆษณา หรือ สำนักพระราชวังและผู้ว่าฯ หวังดี
แต่ผมเห็นว่า การกระทำเหล่านี้ เป็นการ
“ตีโจทย์ ไม่แตก”

ปรัชญาของท่าน คือ “การลดการพึ่งพา”
มิใช่ใครมีปัญหา เขียนจดหมาย แล้วจะได้
ในหลวงไปที่ไหนใช่ว่าจะมีถนนลาดยางไปให้

การตีโจทย์ออกมาตื้นๆ แบบนี้
หรือจะทำให้เหมือนเป็นแค่การกระทำของนักการเมืองสามาญทั่วไป
คือการแก้ปัญหาด้วยวัตถุ แก้ปัญหาด้วยเงิน เพิ่มการพึ่งพา
ซึ่งผมว่า เป็นการสวนทางกับพระราชดำริอย่างตรงกันข้าม

พระราชนิพนธ์เรื่อง “เล็กดีรสโต”
ที่ในหลวงทรงแปลจากบทที่สี่ ชื่อ Buddhism Economy
ในหนังสือเรื่อง Small Is Beautiful
ของ E.F. Schumacher นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง

ผมไม่ได้อ่านภาษาไทย ที่ท่านทรงแปล
ผมพยายามหาอ่านมานานทางอินเตอร์เนทหลายครั้ง
แต่ก็หาไม่เจอ
ผมเลยหาหนังสือเล่มจริงมาอ่าน
(ราคา สองเหรียญ ทางอเมซอน)

แต่เนื้อหาจากหนังสือเล่มจิ๋ว กระดาษเหลืองอ๋อย ราคาแปดสิบบาท
พิมพ์มาแล้วกว่าสามสิบปีนี้
คือแนวคิดทฤษฏีพอเพียง พร้อมหลายตัวอย่างที่อินเดีย

แต่ในหลวงท่านแน่กว่านายชูมักเกอร์ผู้เขียนหนังสือ ตรงที่นำมาทดลอง และปฏิบัติจริงได้ในผืนแผ่นดินไทย

ท่านทรงเป็นนักพัฒนาอย่างแท้จริง
ท่านไม่ใช่ได้อ่านทฤษฏีอะไร แล้วนำใช้ทันที
ท่านทรงทดลอง เห็นจากในพระราชวังจิตรดาฯ มีทั้งโรงสี โรงรีดนมวัว โรงแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร
ท่านทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนตัว
ใช้อย่างประหยัด และคุ้มค่า

ตัวอย่างหนึ่ง เรื่องการพัฒนาดิน
ท่านทรงทดลองจากแปลงที่ดิน
ท่านไม่ได้เลือกที่ดินที่ธรรมดา เพื่อให้สำเร็จง่ายๆ ทันใจ และสร้างภาพ
ท่านทรงเลือกที่ดิน ที่เสื่อมที่สุด เค็มที่สุด เปรี้ยวที่สุด ดานที่สุด
ท่านแก้ดิน จนกลับมาปลูกข้าวได้สำเร็จ

พระองค์ทรงทดลอง จนสามารถลดข้อเสีย ลดผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด
แล้วจึงค่อยนำออกใช้ นำออกสอน

ท่านสอนให้ “พอเพียง”
ถามว่าเรารู้จักคำนี้กันหรือไม่?

คำว่า “พอเพียง” นี้ ลึกซึ้งนัก
อย่างน้อยๆ ตามที่ผมเข้าใจ
คือเป็นการรวมจากสามหลักปรัชญาทางพุทธ นั่นคือ
ทางสายกลาง
ตนเป็นที่พึงแห่งตน
และ สันโดษ

หลายคนอาจเข้าใจว่า สันโดษ คือการไปอยู่กระท่อม
นุ่งใบตอง เก็บแมลงกิน
อันนั้นไม่ใช่สันโดษ นั่นเรียก ปลีกวิเวก ปนวิตถาร

คำว่า สันโดษ ความหมายง่าย ๆ คือการที่เรามีน้อยใช้น้อย ใช้เท่าที่จำเป็น
รู้จักพอ ถ้ามีมาก มีเหลือก็แบ่งบันให้คนอื่นที่เขายังลำบากด้วย

หลายคนบอกว่าเมื่อไหร่จะ"รวย" ถ้า"พอเพียง"
ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ให้รวย
แต่ท่านบอกให้รู้จัก "พอ"
และคำว่า "พอ" คือ "ไม่โกง"
"รวย"ได้ แต่ต้อง "ไม่โกง"

หากเรามีสันโดษ ปัญหาฉ้อราษฏบังหลวงก็ไม่มี
เพราะข้าราชการ หรือนักการเมือง รู้จักพอ
เมื่อรู้ตัวว่า เงินเดือนน้อย ก็ใช้น้อย หากใช้จ่ายเกินตัว ก็ต้องหารายได้เพิ่ม
หากหารายได้ไม่ทัน ก็ต้องโกงกิน
อันนี้เรียก ไม่รู้จักพอ ผลเสียคือ ประเทศจะล่มจม

มองภาพกว้างกว่านั้นที่ ในหลวง เคยตรัสว่า
หากประเทศต่างๆ รู้จักพอเพียง
สงครามชิงทรัพยากร ก็ไม่มี
โลกจะสงบสุขเพียงไรหนอ

ผมเป็นห่วงคนไทยเรื่อง “การรักในหลวง”
คล้ายกับการที่ผมเป็นห่วงคนไทย “นับถือศาสนาพุทธ”
การนับถือด้วยสัมโนครัว นับถือด้วยเครื่องลางพระเครื่อง
ท่องนโมฯเพราะกลัวผี สวดมนต์หรือบวชเพราะอยากขึ้นสวรรค์ ไหว้พระเพราะขอหวย บนบานหน้าพระพุทธรูป เชื่อถือฤกษ์ยาม

แก่นธรรม อยู่ที่ใด? คนไทยซักร้อยละเท่าไหร่ จะเข้าใจกันนะ?
เช่นเดียวกับ “การรักในหลวง”

จงตระหนักความจริงที่ว่า
อีกสี่สิบปี เราจะไม่มีในหลวงที่สุดยอด พระองค์นี้แล้ว
การรัก การบูชาในหลวงพระองค์นี้ที่ดีที่สุดคือ
“การปฏิบัติบูชา”

หากท่านรัก และเชื่อในคำสอน และการปฏิบัติในพระจริยวัติของท่าน ว่าเป็นหนทางที่ถูกในการพอประเทศเรารอดได้
เมื่อท่านเห็นใครจะนำพาประเทศเราไปผิดทาง หรือใครไม่รู้จักพอเพียง หรือ "โกง" เพื่อจะ "รวย"
หรือแย่กว่านั้นคือ "รวย" แล้วยัง "โกง" อีก ไม่รู้จักพอ
การปฏิบัติบูชาอย่างง่ายที่สุดก็คือการแสดงความไม่เห็นด้วย ตักเตือนเขาซะ

สำหรับวิถีชีวิตนั้น จงเอาแบบอย่างการดำเนินชีวิต การที่ท่านทรงงานหนัก
ธรรมะที่ท่านครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุข ของมหาชนชาวสยาม
ความจริงใจที่ท่านมอบให้แผ่นดินไทย
และสิ่งที่ท่านทรงสอน มาปฏิบัติ อย่างเข้าใจ

เพียงเท่านี้ ในหลวงของเรา
จะ “In Your Heart” จริงๆ ครับ

Friday, June 02, 2006

ชวนชม เรือพระราชพิธี

ภาพจาก www.kalamung.com/index24.html
"...นาวาสถาปัตย์ ช่างเชี่ยวชัดชาญเชิงเช่น
ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย..."
---------------------------------------------

ปี ๓๐ สมัยผมเรียนชั้นประถม
ช่วงปิดเทอม คุณครูให้ทำรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย

ตอนนั้นได้ดูโทรทัศน์ ได้ยินว่าจะมีการเห่เรือ
ผมเห็นว่า เจ๋งดีนะ
ตอนนั้นคิดแบบเด็ก ๆ ว่าเหมือนขบวนการโกกุนไฟว์
เรือหลาย ๆ ลำ ประกอบร่าง ยิงปืนใหญ่
เลยคิดว่าจะทำรายงานเรื่อง “ขบวนพระยุหยาตราทางชลมารค”

พี่สาวก็สนับสนุนส่งเสริมด้วยการพาไปหาข้อมูลที่ “หอสมุดแห่งชาติ”
หาข้อมูลกันอยู่สองวัน เล่นเอาผมอ่าน ชุดการ์ตูน ของซีเอ็ด เล่ม “มีจริงหรือไม่” จบลงไปได้
ส่วนพี่สาวก็ได้ข้อมูลเพียงพอ พร้อมวางรูปแบบรายงานเสร็จ

จำได้ติดตา ว่าภาพที่ได้มา เป็นรูปเรือสุพรรณหงส์รูปด้านข้าง มีพู่ห้อย สวยมาก
ภาพนั้นแปะอยู่กลางหน้ากระดาษฟุลแก๊บ ด้วยกาวน้ำ ฝาสีฟ้า

เริ่มต้นด้วยโคลงสี่ และบทเห่ เขียนด้วยปากกา ตัวโต เต็มบรรทัดว่า
“สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์”

ส่วนเนื้อหา เป็นการคัดลอกตัวครึ่งบรรทัด จากกระดาษที่ถ่ายเอกสารมาจากหอสมุดฯ
มีลายมือพี่สาวโยงไปมา สรุปความได้สี่กระดาษฟูลแก๊บ

ผมจำเนื้อหาในนั้นไม่ได้เลย คงเป็นผลกรรมของการให้พี่สาวทำการบ้าน

---------------------------------------------

จากนั้นไม่กี่ปี ด้วยความซนของผม ก็ได้พาก๊วนจักรยาน แหกกฏแม่ ขี่ออกจากซอยหมู่บ้าน ออกถนน เที่ยวเล่นไปเรื่อยเปื่อย
จนข้ามสะพานอรุณอัมรินทร์ ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านผมมาก
(ความคิดวันนี้ คงเหมือนการขับรถไปสระบุรี)
ผมจอดจักรยานกลางสะพาน และมองเห็นอู่เรือพระราชพิธี อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟบางกอกน้อยอยู่ไม่ไกล
สีทองจากหัวเรือสุพรรณหงส์ และอนันตนาคราช ช่างสะดุดตายิ่งนัก

ผมอยากเข้าไปดูเรือ ตั้งแต่วันนั้นมา
ทุกครั้งที่ได้นั่งรถ หรือนั่งรถเมล์ข้ามสะพาน ก็ต้องมองไปที่อู่เรือนั้นทุกทีไป
แต่จนแล้วจนเล่า ก็ไม่ได้มีโอกาสสักที

---------------------------------------------

ขณะเรียนปีสาม โรงเรียนสถาปัตย์
มีการเรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทย
ได้รับมอบหมายให้ทำรายงานเรื่อง “ลายไทย”
ผมก็ได้โอกาส ขุดความฝันที่หวังมานาน เอามาทำให้เป็นจริง
กลุ่มผม ด้วยการชักนำของผมเอง ได้เลือกหัวข้อ “เรือพระราชพิธี”

ผมได้ไปที่อู่เรือพระราชพิธีเป็นครั้งแรก
และได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นนักเรียน
ได้ตักตวงความรู้จากที่นั่นมากมาย

รายงานเล่มนั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์ การผูกลายของโขนเรือ
ใครไม่เคยเข้าไปดูใกล้ ๆ จะไม่รู้ว่า ลายสีทองข้าง เรืออนันตนาคราช
เป็นการผูกลายของหัวนาคเล็ก ๆ เต็มไปหมด สมชิ่อ อนันตนาคราชนัก

เรืออเนกชาติภุชงค์ หัวเรือ เป็นลายหัวนาคตัวใหญ่ใหญ่ ส่วนลายก็เป็นลายนาคขดไปมาเช่นกัน

ลายสีทองข้างโขนเรือสุพรรณหงษ์ เป็นลายกนก ผูกไปมา ลักษณะเหมือนขนหงษ์

"สวยงาม และลงตัวยิ่งนัก"

ตอนนั้น ต้องหัดคัดลอกลายไทยกันมือหงิก
เขียนลายด้วยดินสอกันบนกระดาษ เอศูนย์ต่อกันสี่แผ่น (ประมาณสองมือกาง)
ถอดลายออกมาอัตราส่วนประมาณ ๑ ต่อ ๒๕

ด้วยความที่มือห่วยกันมาก ผลงานจึงออกมาดูไม่จืด

แต่ของจริงนั้น สวยจริง ๆ ครับ
ใครไม่เคยไป หาโอกาสไปดูกันนะครับ

---------------------------------------------

ปี ๔๒
ผมได้มีโอกาสชมขบวนเห่เรือพระราชพิธีด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก
มีเพื่อนมันเป็นญาติกับคนมีบ้านอยู่ริมน้ำใกล้ ๆ ธรรมศาสตร์

เมื่อเรือผ่านเข้ามาใกล้กับจุดที่ดูอยู่
เสียงเห่ และเสียงรับ ดังก้องกังวานทั่วท้องน้ำเจ้าพระยา
ขนลุกจริง ๆ ครับ (นี่ขณะพิมพ์ ขนยังลุกเพราะจำบรรยากาศนั้นได้)

ในหลวง ประทับบนเรือสุพรรณหงส์ เคลื่อนช้าๆ อยู่กลางลำน้ำ และไม่ไกล
ฝีพายจ้วงน้ำท่านกบินพร้อมเพรียง สีทองจากตัวเรือระยิบระยับ

ผมลดกล้องติดเลนส์เทเลลง
ยกมือท่วมหัว “ขอพระองค์ จงทรงพระเจริญ”

---------------------------------------------

ใครอยู่เมืองไทย พลาดไม่ได้นะครับ
แม้บัตรแพง หรือขายหมด
ลองไปดูช่วงที่แม่น้ำเปิด หรือติดถนน
ต่อให้ไม่เห็นอะไรก็ตาม แต่เสียงจากการเห่เรือ
และกลิ่นไอของประชาชนที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดี ณ ที่นั้น

หาไม่ได้ที่ไหนในโลกแล้วหล่ะครับ


---------------------------------------------
บทเห่เรือปีนี้ งดงามเช่นกันครับ

Tuesday, May 23, 2006

ระบอบ "นาย" "ทุน" = ศาสนาบูชา "อำนาจ" "เงิน"

ศาสนา ลัทธิต่าง ๆ ผมมองมานานแล้วว่า เป็นส่วนเข้ามาเติมเต็มมนุษยชาติ
เพื่อตอบความสงสัย ในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่สงสัย สิ่งที่ไม่เข้าใจ

เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไป หลาย ๆ อย่างได้ถูกอธิบายด้วยความจริงที่ค้นพบ
จีพีเอส และดาวเทียมพยากรณ์อากาศ มาแทนที่การบูชาเทพโปเซดอน
นรกใต้พื้นผิวโลก ต้องอยู่ลึกกว่าระยะสิบสองกิโลเมตรที่เรือดำน้ำนอติลุสลงไปถึง
พระเจ้าของศาสนาคริสต์ ถูกเปลี่ยนที่อยู่จากเมฆบนฟ้า ไปอยู่ที่ขอบจักรวาลที่อยู่เกินกว่าอำนาจของบิกแบงค์

ใครเคยอ่านหนังสือของคุณ ดังตฤณ เรื่อง “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน”
คงได้แนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นรูปธรรมในการมองกฎแห่งกรรม
แม้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ และอธิบายได้ง่ายมากว่าเป็น “ปัจจัตตัง” หรือเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตนเอง

ผมมองหนังสือคุณดังตฤณว่า เป็นการอธิบายความสงสัย ความงุนงงในกฎแห่งกรรม ให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้
สำคัญกว่านั้นคือ ผมชอบที่เป้าหมาย คือการสอนให้เข้าใจที่มา และที่ไป
สอนให้เป็นคนดี และอย่าไปหวังผลในความดีนั้น เพราะจะได้ผลไม่บริสุทธิ์

เหตุการณ์บ้านเมืองหลายๆ อย่างที่ผ่านมา หลายคนงุนงงเหมือนศาสนา
ไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ใคร ทำอะไร เพื่ออะไร

“คู่มือทรราช” เป็นคำอธิบายได้ดีพอสมควร
แต่มันไม่อธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่ผมสงสัย

“แผนการณ์จากฟินแลนด์” ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ หรือใครคิด ใครแต่งขึ้นมา
แต่กลับเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการอธิบายหลาย ๆ อย่างได้อย่างลงตัว
๑.ยึดรากหญ้า
๒.บริหารด้วยทุนนิยม
๓.ปกครองด้วยพรรคเดียว
๔.รื้อระบบราชการ
๕.ลดบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้เป็นแค่สัญลักษณ์

หากใครอ่านที่ผมเขียนเรื่อง “หาง” จากบทความที่ผ่านมา
ห้าข้อนี้ เป็นการใช้หางของคอมมิวนิส เหมา ฟาสซิส และทุนนิยมได้อย่างลงตัว
เหมือนทุกอย่าง จะตอบด้วย “เงิน”

เงินเป็นอุปกรณ์ และอาวุธนำไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่าง
แผนการปฏิบัติที่แยบยลนั้นอาจเป็นอย่างขั้นตอน
อาจแจกแจงได้เป็นข้อๆ ตามนี้
๑.กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มอี ทุนการศึกษาจากเงินหวย
๒.แปรรูปทรัพยากรเข้าตลาดหุ้น ปิดปากสื่อด้วยระบบสปอนเซอร์
๓.ซื้อ และมอมเมาพรรคการเมือง องค์กรอิสระ ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทน ฯลฯ
๔.ขึ้นเงินเดือนราชการ เปลี่ยนเป็นพนักงานของรัฐ ไม่มีข้าแผ่นดินอีกต่อไป
เมื่อสำเร็จทั้ง ๔ ข้อแล้ว ผลลัพท์ข้อ ๕ อยู่ไม่ไกล

บวกกับการที่มีใครตั้งใจบังอาจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการ
เอากรณีของประเทศเนปาล เป็นกรณีศึกษา
การที่กษัตริย์เนปาลทนไม่ได้ ลงมาสังฆกรรมนัวเนียกับการเมือง
จนประชาชนโกรธ และเดินขบวนขับไล่
สุดท้ายพระองค์ต้องคืนอำนาจ
และ มีการแก้รัฐธรรมนูญให้ลดพระราชอำนาจ

มันเปรียบเทียบไม่ได้!!!

แต่พอจะเห็นหนทางอะไรบางอย่าง
หากมีใครต้องการจะเดินให้เข้าแผนทั้งห้านั้น

เขาสู้กับอะไรอยู่?
เราสู้กับอะไรอยู่?

ถามตัวเองซะ
ว่าเราเชื่อในอะไร?
เราหลงไหลในอุปกรณ์ ในอาวุธที่เขามอมเมาเราหรือไม่?

เลิกทำตัวเป็นนักเชี่ยวชาญในตัวอักษรบ้างได้ไหม?
จงอย่าลืมตัวว่า ก่อนเป็นนักเชี่ยวชาญอะไรก็ตาม
คุณเป็น “คน” มาก่อน

Friday, May 19, 2006

Specialist vs Generalist

ประมาณปี 38 สมัยที่ผมเพิ่งเข้าโรงเรียนสถาปัตยกรรม ช่วงนั้นวงการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ตื่นตัวอย่างมาก
กระแสงานด้านอาคารประหยัดพลังงาน ด้านงานอนุรักษ์อาคาร กระเพื่อมขึ้นมา
ตอนนั้นมีผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาต่าง ๆ โดดเด่นขึ้นอย่างมาก
ได้ยินว่ามีการว่าจ้าง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นในโครงการใหญ่ๆ ด้วยจำนวนเงินที่นึกไม่ถึง

ขณะนั้น ในสายตาของนักเรียนสถาปัตย์ เหมือนมีความเชื่อว่า ควรแสวงหาความเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งสักอัน
เช่น สาขาเทคโนโลยีอาคาร หรือ สาขาอนุรักษ์อาคาร หรือ ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ด้านพลังงาน ฯลฯ
หรือเรียกว่า “Specialist”

สองสามปีผ่านไป
สภาวะเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากความไร้วินัย ความกระหายโลภในกระแสฟองสบู่ที่เมาเป่ากันมาหลายปี
ในที่สุดวงการก่อสร้าง และอสังหาฯ ต้องเผชิญ “ความจริง” ที่จำเป็นต้องล่มสลายอย่างรุนแรง
อาคารมากมายต้องหยุดก่อสร้าง การจ้างงานของวิชาชีพในการก่อสร้างหดหายอย่างไม่เคยเกิดขึ้น
ความซึมเซาในโรงเรียนสถาปัตย์เกิดขึ้นทั่วทุกชั้นปี เมื่อพบความจริงที่ว่า พี่บัณฑิตจบใหม่ร้อยกว่าคน ได้งานแค่ไม่ถึงสิบคน อาจารย์หลายท่านหน้าตาหมองหม่น นำเอาเรื่องเศร้า และเรื่องหายนะในวงการมาเล่าให้นักเรียนฟังอยู่เนืองๆ

อาจารย์หลายท่านเคยได้ชื่อว่า “Specialist” กลับประสบปัญหาเช่นเดียวกับบัณฑิต คือ “ไม่มีใครจ้าง”

ช่วงนั้น สถาปนิกที่ยังคงมีงานอยู่เรื่อย ๆ กลับเป็นพวกที่ถูกเรียกว่า “Generalist”
เขาเหล่านั้น รับงานได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ
ให้คำปรึกษาด้านการต่อเติม ซ่อมแซม
ใช้ความรู้ และวิชาชีพ อย่างเขาถึงประชาชนทั่วไป
ประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าในพวกเขา และพึ่งพาเขาได้
เขาไม่ได้ทำงานออกแบบเพื่อมุ่งแต่รับใช้นายทุน

อย่างที่รู้กันว่า สถาปัตยกรรม เป็นได้ตั้งแต่ หนึ่งในปัจจัยสี่ จนถึง สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

สัจจธรรมอีกอันหนึ่ง ของมนุษยชาติคือ
“ยามบ้านเมืองสมบูรณ์พูนสุข ศิลปินจะก่อเกิด”
ตัวอย่างที่เห็นคือ ยุโรปสมัยยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ “Renaissance” มี ดาวินชี่ ไมเคิล แอนเจโล่ เบอร์นีนี่ ฯลฯ คอยสร้างผลงานระดับพระกาฬ ที่ทุกวันนี้เราเห็นยังอ้าปากค้าง
หรือ สมัยสุโขทัย ที่สุขโข ภายใต้อโณทัยนั้น จะเกิดพุทธศิลป์ พระปางลีลา หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่สวยงาม ล้ำลึกยิ่ง

“แต่ยามบ้านเมืองวิกฤต ปราชญ์จะก่อเกิด”
คานธี ดาไลลามะ มาติน ลูเธอร์คิง คงพออธิบายได้

หากเราเห็นถึงสัจธรรมบนโลก เราจะเห็นได้ ว่าเราควรเป็นอะไร ในเวลาไหน
หรือสองคำว่า “กาละ เทศะ” จะอธิบายได้ทั้งหมด

แต่มากกว่านั้น หากมองให้เป็นมุมมองของการปฏิบัติขึ้น
การควบรวมทั้ง Specialist และ Generalist จะเป็นภาพอุดมคติเกินไปหรือไม่?

พี่คนหนึ่งที่เคารพเปรียบเทียบง่ายๆ ว่ามันคือ “หาง”
“คุณมีกี่หาง?”
หางอันนี้ มีไว้หลายหาง ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มี

ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือ สถาปนิก

หากสถาปนิกคนหนึ่ง รู้เรื่องกฏหมาย รู้เรื่องออกแบบ เชี่ยวชาญเรื่องก่อสร้าง และเชี่ยวชาญด้านประหยัดพลังงาน
บ้านหรืออาคารที่ออกมา จะออกมาเป็นอาคารที่ไม่น่าเกลียด ไม่ผิดกฏหมาย งบประมาณลงตัว และประหยัดพลังงานมาก

หากสถาปนิกอีกคนหนึ่ง สนใจเรื่องสุขภาพ และรู้เรื่องงานระบบอาคาร
สถาปัตยกรรมคงออกมาเป็น งานที่ดูแลง่าย และเป็นอาคารที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หากสถาปนิกอีกคนหนึ่ง สนใจจะเป็นนักเขียน และเชี่ยวชาญการตลาด
เขาคงบรรยายให้เห็นภาพหลายๆ อย่างได้ง่ายดุจงานสถาปัตยกรรม สร้างสรรค์ ได้ประโยชน์ใช้สอย และขายออก

พวกนี้ ไม่มีวันอดตาย

หรือจะยกตัวอย่างห่างออกไป

หากนักวัสดุศาสตร์ มาสนใจเรื่องพระเครื่อง อะไรจะเกิดขึ้น?
การวิเคราะห์พระเนื้อผง เนื้อชิน พระกริ่ง คงออกมาอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจเป็นแน่

หากนักคณิตศาสตร์ มาสนใจเรื่องจิตวิทยา อะไรจะเกิดขึ้น?
คงเห็นหนังสือเรื่อง “พีชคณิตการหย่าร้าง” อยู่บนแผง

หากโปรแกรมเมอร์ มาสนใจด้านศิลปะ อะไรจะเกิดขึ้น?
การเขียนโปรแกรม หรือระบบดิจิตอล ให้ออกมาเป็นงานศิลป์ คงน่าดูไม่หยอก

คนเหล่านี้ รอการ “ก่อเกิด” และเกิดขึ้นแล้วบนโลกนี้
พวกเขามีอย่างน้อย “สองหาง”
และเอามาผสมรวมกันอย่างลงตัว

ในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในสภาที่อึมครึมแบบนี้
ปราชญ์ และ ศิลปิน อาจเป็นคนเดียวกันได้
ว่าไหมครับ?

Monday, May 15, 2006

หลักกิโลต่อไป อยู่ที่ใด?

ในที่สุดก็จบแล้ว ชีวิตการเรียน
สองอาทิตย์ก่อน พลังกายใจทุกส่วน
มุ่งไปที่วิทยานิพนธ์ที่ค้างคามาแรมปี

สรุปรวบยอดงานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีตะวันตกล้ำยุค ด้วย "เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ปฏิจสมุทบาท”
เนื้อความสรุปของสรุปที่ซ่อนอยู่ คือ “กูไม่ใช่ทาสพวกมึง”

หลักกิโลนั้นผ่านไปแล้ว
บังเอิญไม่ได้มองซะด้วย ว่ากิโลต่อไปจะเป็นอะไร
และกิโลต่อไปจะอีกไกลแค่ไหน?

แต่วันนี้กลับรู้สึกว่ามีอะไร “ต้องทำ” และ “อยากทำ”
เยอะกว่าตอนก่อนส่งวิทยานิพนธ์เสียอีก
และเยอะกว่าตลอด ๒๘ ปีที่ผ่านมา

เป้าหมายชีวิต เป็นสิ่งที่คิดนานแล้ว
แต่ต่อจากนี้ คือเวลาที่พิสูจน์ และทำให้มันเป็นจริง

แผนการต่อจากนี้คงเหมือนเล่นหมากรุก
รุกไปทีละตา กินทีละตัว คิดและเดินอย่างระวัง

เงิน เป็นปัจจัยที่สำคัญ
แต่ เงิน ไม่ใช่เป้าหมายอย่างแน่นอน

แผนธุรกิจที่วางไว้ จะให้มันเป็น “Cash Cow”
รีดมากินได้ทุกวัน เอาตัวรอด มีเหลือเก็บไว้ขาย บำเรอชีวิตบ้าง
แต่รายได้หลัก จะต้องไปหมุนเฟืองหลายๆ ตัวให้ประเทศไทยดีขึ้น
เฟืองคน เฟืองระบบ เพืองการศึกษา เพืองวิชาชีพ

เมื่อ วัวเงิน ตัวนี้เป็น “วัวดอลล่า”
การจะได้มาซักตัวก็ยากน่าดู

สนุกไปอีกแบบ
ที่ต้องวางกลเม็ดทุกหมากที่จะเดินในหมากธุรกิจกระดานนี้
คุยกับใคร คุยเรื่องอะไร คุยแบบไหน

หวังว่าทุกอย่างคงสำเร็จไปตามที่คาดหมาย

แม้ว่าหลักกิโลต่อไป ก็ยังไม่รู้อยู่ไหน

แต่เมื่อได้ทำในสิ่งที่อยากทำแล้ว
มันทำให้ไม่เหนื่อย ไม่ท้อจริงๆ นะ

Thursday, April 27, 2006

Sunday, April 16, 2006

คณิตศาสตร์ กับ ชีวิต (๒) - สัมพัทธภาพความแก่

ความแก่ ความหนุ่ม ความสาว
การบอกอายุ อาจยังเห็นไม่ชัด
ต้องมีการเทียบเชิงสัมพัทธภาพ

ตัวอย่าง
ผมมีรุ่นพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง
เขาเป็นบัณฑิต ตอนผมปีหนึ่ง
อายุห่างกันหกปี

อยากเทียบให้ดูไม่ต่างกันมา
ให้บอกตัวเลข เช่น
พี่หกขวบแล้ว ผมเพิ่งเกิด
หรือ พี่จะ ๓๙ ผมเพิ่ง ๓๓

หากอยากเทียบให้ห่าง
ให้เทียบสถานภาพ เช่น
"ตอนพี่อยู่ปีหนึ่ง
ผมเพิ่งสอบเข้ามัธยมเอง"


ผมสรุปเป็นหลักง่าย ๆ
ของการอยากเทียบใครให้แก่
ให้ตั้งคนแก่กว่า อยู่ในช่วงมหาวิทยาลัย
แล้วเทียบดู

อีกตัวอย่าง
เด็กที่สอบ entrance ปีนี้
เขาเกิดปีช่วงปี 2531-2532 นะ
หรือ
"เขาขึ้นป.สอง ตอนผมเรียนปีหนึ่ง"

ตัวอย่างที่ผมยังตกใจเองคือ


น้องสองคนนี้ เพื่อนๆ ผมที่เมืองไทย
ชื่นชมกันมาก
บอกน่ารัก น่าหยิก
ผมก็เลยหาข้อมูลดู ปรากฏว่า น้องเขาอายุสิบสาม
เทียบออกมาคือ

"น้องเขาสองขวบกว่า ๆ
ตอนรุ่นพวกผมอยู่ปีหนึ่ง!!"


ผมก็เลยบอกพวกเพื่อนๆ ในข้อเปรียบเทียบนี้
มันก็อึ้งไป พร้อมบ่น"แก่จริงหว่ะ พวกเรา"

บางคนบอกว่า เทียบแบบนั้นไม่ดี
ต้องแบบนี้สิฟะ
"...น้องเขาจบมหาลัย
พวกเราก็มีธุรกิจของตัวเอง
เปิดบริษัท ตั้งตัวได้พอดี..."


เออ เทียบแบบนี้เข้าท่า

Tuesday, April 11, 2006

หรือ ภาษาไทยผมอ่อนแอ?

"คุณอากลับแล้วเหรอคะ?"
"...อะไรครับ..."

ผมงงกับคำถามจากพี่คนหนึ่งในร้านอาหารไทยที่ผมชอบไปเวลาเที่ยง

"อ้าวไหนว่า คุณอา มาไงคะ"
"...อะไรนะครับ..."

ผมเริ่มคิดอย่างจริงจัง
ว่าเร็ว ๆ นี้ คุณอาผมมาแถวนี้หรือเปล่า
"เอ่อ ผิดคนมังครับพี่"

"เห็นเดือนก่อน บอกคุณอาอยู่ยูเอ็น"
ผมคิดอีกที
"เอ่อ ไม่มีนะครับ ผิดคนมังครับพี่"

"อ้าว เหรอคะ" พี่เขารินน้ำแล้วก็จากไป

ทานข้าวเสร็จ ผมก็เดินกลับไปทำงาน
ระหว่างทางก็คิดว่า
เอ เราพูดอะไรไปนะ?

พลันนั้นผมก็ดีดนิ้วดังเปาะ

เดือนก่อนพี่เขาถามว่า
"อยู่แถวนี้เหรอคะ"
ผมก็ตอบไปว่า
"...ทำงานอยู่เอ็นวายยูเหม็ดหน่ะครับ..."(NYU Med)
พี่เขาคงฟังออกมาเป็น
"...อาอยู่ยูเอ็นหน่ะครับ..."

หรือ ภาษาไทยผมอ่อนแอลง จริง ๆ

เช้าฟาดฝัดพัก เย็นฟากฝักฝัด
ระยอง ระนอง ละยา

Saturday, April 08, 2006

สามเหลี่ยมแห่งความสำเร็จ

บทความนี้
ผมได้จาก เวปสถาปนิกสยาม

บทความนี้
เขียนโดย พี่ที่เคารพคนหนึ่ง
ที่ได้เคยคุยกับผู้ยิ่งใหญ่แห่งชินครอป
เมื่อสองปีก่อน
ในหัวข้อ "หนังสือการบริหาร"
ความตอนหนึ่ง น่าสนใจ
เอามาเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

--------------------
"สามเหลี่ยมแห่งความสำเร็จ"

การเริ่มทำการใด
ต้องเริ่มที่ "Best Product" ก่อน
เพราะจะเป็นตัวสำคัญที่สุดในการ start ถือเป็น
ยอดจั่วของสามเหลี่ยม

หลังจากที่ได้ Best Product แล้ว
ก็จะก้าวเข้าไปสู่มุมที่สองของสามเหลี่ยมที่เรียกว่า
"Customer Satisfaction"
คือการนำสินค้านั้นให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ
และจะเกิดอาการเสพติด และขาดไม่ได้

ขั้นตอนสุดท้ายก็คือมุมของสามเหลี่ยมมุมที่ ๓ ก็คือ
"Log In" หมายถึงการกินรวบ
เป็นเจ้าตลาดแต่ผู้เดียว ไร้คู่แข่ง
เป็นการผูกขาดสังคม ผูกขาดการตลาด
หลังจากนั้นอยากจะทำอะไรก็ทำได้
สบายมาก

...ผมนั่งฟังอยู่ด้วยความชื่นชมในความสามารถและวิสัยทัศน์
แต่ด้วยความที่เป็นคนขี้สงสัย
ก็เลยถามพี่เขาไปว่า
"แล้วต่อจาก Log In นั้นจะเป็นอย่างไรครับ"

พี่เขาก็ตอบออกมาว่า
"มันจะมีอยู่ด้วยกัน ๓ ทางก็คือ..."
๑.กลับเข้าสู่วงจร Best Product อีกครั้ง
หาสินค้าใหม่ ทำให้คนพอใจ แล้วก็ LogIn อีกครั้ง
๒.เกิดการแตกแยกภายใน ทำให้องค์กรแตกแยก
และล่มสลายไปในที่สุด
๓.คู่แข่งหรือสังคมรับไม่ได้ จะเกิดการทำลายจากภายนอก
จะเกิดการปฎิวัติ

ณ วันนี้ พรรคไทยรักไทย
ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า
Best Product ของสังคมการเมืองไทย
เป็นการคิดใหม่ทำใหม่ เสนอการเมืองแบบไม่น้ำเน่า
แล้วก็เข้าสู่นโยบายประชานิยมจนกลายเป็น
Customer Satisfaction
และหลังจากนันก็เข้าสู่สามเหลี่ยมมุมที่ ๓
ก็คือ Log In ไปเรียบร้อยแล้ว
เป็นผู้ครองอำนาจแต่ผู้เดียว
เลือกตั้งเมื่อไรก็ชนะ จะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง.....
และได้ทำการหมุนกลับไปสู่ Best
Product->Customer Satisfaction->Log In
แล้วหลายรอบ

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาคมชาติไทยตอนนี้
กำลังถึงจุดของการเปลี่ยนแปลง
จาก Log In ไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง

ใน ๓ ข้อที่พี่ท่านบอกมาคือ
๑. กลับสู่วงจรเดิมเพื่อครองอำนาจ Log In
๒. พรรคแตกแยก พรรคล่มสลาย
๓. ถูกปฎิวัติมวลชน

--------------------

สามทางออกนี้ ออกทางใด
ถูกใจใครหรือไม่ผมไม่ค่อยสนแล้วหล่ะ

สนแต่ว่า

เมื่อออกได้แล้ว
ประเทศไทยจะเหลืออยู่ไหมนะ

Tuesday, April 04, 2006

คณิตศาสตร์ กับ ชีวิต (๑) - สมการความเครียด

ผมเป็นคนชอบคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก
เป็นวิชาเดียวที่พอจะเชิดคอได้
ท่ามกลางเกรดวิชาอื่นที่เป็นเลขฐานสอง

สมัยมัธยมต้น
เคยสนุกกับการแก้สมการ หรือเรขาคณิต
อาจารย์ท่านหนึ่งเห็นแล้วก็นึกสนุกด้วย
ถึงขั้นเอาโจทย์ระดับมหาวิทยาลัยมาให้เล่นกัน

ทำเอากลับบ้านดึกไปหลายวัน

หลังจากสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ผมก็ไม่ได้ใช้ความสนุกสนานเหล่านั้นสักเท่าไหร่
กลับมาสนุกสนานกับการแก้ปัญหา
หาเหตุผลในงานออกแบบ

กว่าจะพบว่ามันสนุกเหมือนวันเก่า ๆ
ก็เกือบจะสาย

ผมเริ่มหยิบหนังสืออ่านเล่นหลาย ๆ แนวมาอ่าน
เริ่มเห็นการนำคณิตศาสตร์
มาอธิบายอะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง
ให้เข้าใจง่าย และเห็นภาพชัดเจนขึ้น
ว่าจะเอามาเล่าเป็นตอน ๆ

อันแรกที่หยิบมาเล่าอีกทีนี้
ผมได้มาจาก หนังสือของ คุณประภาส ชลศรานนท์
ในหนังสือรวมเล่มอันหนึ่งของพี่เขา
(เอ เล่มไหน ก็จำไม่ได้แล้วสิ)

พี่จิก(ขอวิสาสะ เรียกว่าพี่จิก แล้วกันนะครับ)
เขียนในหนังสือว่า ได้สมการนี้มาจากคุณหมอคนหนึ่ง
ดูนี่สิครับ


ผมเห็นสมการนี้แล้ว อี้ง ไปสามนาที
นั่งยิ้มนาน ๆ เหมือนได้พบอะไรบางอย่าง

สมมติ แบบแทนค่าสมการนะครับ
กำหนดให้ มี ความสามารถ = 10

อยากจะเครียดมากสัก = 100
ก็ให้มีความอยากไป = 1000 Ans.

อยากจะเครียดกลาง ๆ แค่ = 1
ก็ให้มีความอยาก = 10 Ans.

หากต้องการเครียดน้อย ๆ
ก็ให้มีความอยากน้อย ๆ เช่น
ลองแทนค่าความอยาก = 1
จะเครียดแค่ = 0.1 Ans.

โตขึ้นมาอีกหน่อย
ได้รู้เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
ช่างมาเสริมกับสมการนี้ได้พอดีกันเลยครับ
เป็นการขยายคำว่า สัญโดษ
"มีน้อยใช้น้อย ใช้ให้คุ้ม ใช้เท่าที่จำเป็น"

ความอยาก แตกความหมายออกมาเป็น
"อยากมี อยากได้ อยากเป็น"
ให้ลดซะ

ประสานแนวคิดตะวันตก
อธิบายให้เข้าสมการคือ
ให้มีการ "พัฒนาความสามารถ" ควบคู่กันไป

คงดีนะครับ
หากแทนค่าสมการด้วย
ความอยาก = 0.01 และจะน้อยลง
ความสามารถ = 1000 และจะมากขึ้น
ความเครียด คงเข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

คงเป็นชีวิตที่มีความสุขนะครับ Ans.

Sunday, April 02, 2006

New Yorkers said "Get Out"

และแล้ว คนไทยในนิวยอร์ค ก็รวมตัวกันซะที
ได้ยินว่า เพิ่งตกลงกันได้เมื่อวันพุธ ประชาสัมพันธ์อ่อนไปนิด

หน้าสถานกงสุล วันเสาร์ ตอนเที่ยง
กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็มารวมตัวกัน
(ถ้าชุมนุมกันเงียบ ๆ ตัวเหลือง ๆ จะดูเป็นพวก "ฝ่าหลุนกง"ไป)

เริ่มด้วยการปราศัย ให้ข้อมูล
แทรกให้ข้อสรุป ด้วยการตะโกน "Taksin Getout" เป็นพัก ๆ


พวกที่มา ส่วนใหญ่เป็นป้า ๆ น้า ๆ
แต่ละคนมีประเด็นติดใจในระบอบทักษิณคนละอัน สองอัน
เช่น เรื่องทำไมให้สิงค์โปรมามีกองทหารในไทย
หยุด เอฟทีเอ
หมิ่นสถาบัน ศาสนา พระมหากษัตริย์
จริยธรรม ฉ้อราษฏ์บังหลวง
ฯลฯ
ได้คุยกับ พวกพี่ ๆ (ต้องเรียกพี่ ๆ นะ เรียกป้ากลัวพาลไม่คุยด้วย)
ได้ความว่า พี่ ๆ อยู่ที่นี้มานานหลายสิบปี
ทำร้านอาหาร ขายของชำ เป็นส่วนใหญ่
มีคุณหมอ นักธุรกิจบ้าง

แต่ที่สำคัญคือ "เขาติดตามข่าวสารบ้านเมือง"
ยิ่งกว่านั้นคือ "เขาหวงแหนประเทศชาติ"


ได้คุยกับคุณพี่ท่านนี้ บอกว่า
เขาไล่กันตั้งนานแล้ว
มันทำไมฟังพวกเราไม่รู้เรื่องนะ


หลังจากมอบหนังสือการคัดค้านระบอบทักษิณกับตัวแทนสถานกงสุลแล้ว
ต่อจากนั้นก็
การแจกเนื้อเพลง และการร่วมกันร้องเพลง “คนหน้าเหลี่ยม” ด้วยกัน


“...ลิ่วล้อ สิงกะโปโตก...”


ทั้งร้องทั้งเต้น เป็นที่หรรษา


จบด้วย เพลงสดุดีมหาราชาฯ และ เพลงสรรเสริญฯ


ระหว่างชุมนุม มีป้าชาวอเมริกันเดินผ่านมาหยุดดู
บอกว่าให้ชุมนุมเอา ไอ้บุช ออกไปด้วย
ก็ได้แค่บอกว่า
"Taksin is son of the Bush"

ถ้ามีโกงเลือกตั้ง และเหลี่ยมยังด้านไม่ออก
นัดหน้า เจอกันที่ UN !

Monday, March 27, 2006

พ่อแกมันขี้โกง

“พ่อแกมันขี้โกง ขี้โกง ขี้โกง ๆๆ”
“ไม่จริง พ่อไม่ได้ขี้โกง”

ใครอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับผม
สมัยเด็ก ๆ จำได้ไหมครับที่มีโฆษณาตัวหนึ่ง
เนื้อหาเกี่ยวกับรณรงค์ลดการฉ้อราษฏ์บังหลวง

ที่มีเด็กน้อยคนหนึ่งไปโรงเรียน แล้วถูกเพื่อนตะโกนด่าว่า
“พ่อแกมันขี้โกง”
เด็กคนอื่น ๆ ก็ช่วยกันผสมโรงตั้งวงล้อม
“ขี้โกง ขี้โกง ๆๆๆ”
จนเด็กเป้าหมายลงไปกองกับพื้น
ร้องไห้โฮ ตะโกนว่า
“ไม่จริง พ่อไม่ได้ขี้โกง”
ตัดฉากกลับมาเป็นตัวพ่อ นั่งกลุ้มกับปัญหาโกงบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่

สงสารเด็กคนนั้นนะครับ
ไม่ได้โกงแท้ ๆ ดันโดนสังคมประนามจนเจ็บปวด

หากพ่อของเด็กรู้ว่าผลกระทบของการทำกรรม
มันไม่ได้กลับมาแค่ตัวเองต้องติดคุกติดตาราง
แต่กลับทำให้ลูกเมีย ไม่มีที่จะยืนบนสังคม
เงยหน้าก็อายฟ้า ก้มหน้าก็อายดิน
ว่า “พ่อเราขี้โกง”

แม่ค้าซอยละลายทรัพย์ตะโกนด่าคนใหญ่คนโตกันซึ่งหน้า
“ขายชาติ ออกไป”
เพราะได้คาถา “กูไม่กลัวมึง”
ไม่รู้ว่าร้านจะโดนปิด สรรพากรตรวจภาษี ผัวโดนกระทืบ
หรือโดนแจ้งความ
“ดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ (กินราดหน้า)” หรือไม่นะครับ
ต้องดูกัน เพราะเครื่องมือตอบโต้กลับ มีให้เลือกเต็มไปหมด

ลูกเมียเดินห้าง ก็โดนตะโกนด่า
“ไอ้หน้าด้าน”
จนวิ่งเข้าห้องน้ำไม่ทัน ไม่วายโดนตามไปด่าอีก

ผมมองเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นการกระเพื่อมของ"ระบบจารีต" อันหนึ่ง
จิตนาการดูนะครับ
หากคนชั่ว โกงแผ่นดิน ตื่นเช้ามา ข้างบ้านตะโกนด่า ก่อนนอนตะโกนด่า
เดินผ่านใคร โดนถ่มน้ำลายใส่
แม่ค้าปากซอยไม่ขายก๋วยเตี๋ยวให้
ไม่มีใครยกมือไหว้นับถือ แม้แต่พนักงานต้อนรับม่านรูด
เด็กสองขวบเห็นหน้าในทีวีแล้วตะโกน “ออกไป๊”
เห็นนามสกุล ก็ยี้ แขยงกว่าก้อนอึ
เอาชื่อไปตั้งเป็นชื่อหมา หรือจิ้งจก
(อันนี้เกิดแล้วจริง ๆ บ้านเพื่อนผมที่มหาชัย ตั้งชื่อหมูป่าเลี้ยงว่า ชวลิต
เนื่องจากการลดค่าเงินบาททำให้สูญเงินไปหลายล้าน)

นี่แหล่ะครับ พลังจารีต
ซื่งเป็นกฏหมายแต่โบราณมา
มุ่งให้สังคมสงบสุข
มาตราฐานสูง และดิ้นได้ยากกว่า “กฏหมายลายลักษณ์อักษร”

การลงโทษที่สันติ แต่รุนแรงที่สุดของจารีตคือ
“การขับออกจากสังคม” หรือ “การเพิกเฉย ไม่สังฆกรรมด้วย”

หากมาตราฐานนี้ถูกยก
แผ่นดินไทยจะไม่มีที่ให้คนชั่วอยู่ครับ

เว้นแต่หมาบ้านผม ได้ชื่อใหม่แล้วว่า "ทักษิณ" และ "ออกไป"

Friday, March 24, 2006

อ่านระหว่างบรรทัด

“ให้โอกาสผม ผมจะนำประเทศไทยสู่สากล”
ทักษิณบอกไว้ เมื่อห้าปีก่อน
นี่เพิ่งไม่กี่ปีเอง คำสัญญาที่ว่า
“นักการเมืองรวยแล้วไม่โกง” “ภายในหกปีนี้ คนจนจะหมดไป”
จะเห็นผล แล้วไอ้ที่สนธิออกมาพูด ปาว ปาว
ตอแหลทั้งนั้น
ผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งนั้นแหล่ะ
ประชาชนที่ไปหลงเชื่อ จะเดือดร้อน
ถูกนายสนธิ หลอกลวง เล่นนอกเกม
ตื่นได้แล้วประชาชนทั้งหลาย
อย่าไปเชื่อไอ้สื่อจอมปลอมที่
มาร่วมกันขับไล่ นายก และ
อีกไม่นาน ท่านทักษิณ ก็จะจัดการไอ้พวก
กังฉิน และบริวารขันทีรอบข้าง
จงเชื่อในผู้นำของเรา ที่เน้นการส่งออกสินค้า
ออกนอกประเทศ
เศรษฐกิจจะก้าวหน้า พวกก่อการร้ายก็จะฆ่าให้สิ้น
ให้พวกมันไม่มีแผ่นดินจะอยู่
ทักษิณเป็นนายกที่ดีที่สุดแล้ว
ลูกหลานเราจะสรรเสริญ


เขียนไว้เล่น ๆ ตั้งนานแล้ว

Monday, March 20, 2006

Saturday, March 11, 2006

เล่น Crossword กัน

(โปรดใช้วิจารณญาณ และจริยธรรมในการเล่น)



แนวตั้ง
1.บุคคลผู้จ้องทำร้าย ลบหลู่ ศาสดา อาจารย์ และผู้มีพระคุณ, จนวันสุดท้ายของชีวิต ธรณีสูบไปจะหมดตัวจึงจะค่อยสำนึกผิด
3.ผู้นำประเทศ ซึ่งมาตามครรลองการเลือกตั้ง ต่อมาเผด็จการ แบ่งแยก และเข่นฆ่ามนุษยชาติ พาประเทศเข้าสู่หายนะอย่างใหญ่หลวง
4.กลุ่มชนชาตินายทุน คอยจ้องทำลายสยามประเทศแต่โบราณมา จวบจนปัจจุบัน
5.วีรบุรุษในใจชาวสยามจำนวนมาก จอมกะล่อน หลอกลวงประชาชน เอาตัวรอดไปวัน ๆ จนชาวสยามมีตำนานเล่าขาน
6.ผู้นำประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชานิยมท่วมท้น อำนาจอุดหู ปิดตา ฉ้อราษฎร์ บังหลวง ผลประโยชน์ทับซ้อน จนประชาชนขับไล่ ทั้งผัวเมีย จนไม่มีแผ่นดินจะอยู่

แนวนอน
2.เอาความสามารถของบุคคล แนวตั้ง 1,3,4,5 และ 6 มารวมกัน

เฉลย Crossword

เฉลย
(โปรดใช้วิจารณญาณ และจริยธรรมในการรับชม)

Friday, March 10, 2006

จริยธรรมอยู่ไหน?

ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า จ ริ ย ธ ร ร ม ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู ก ติ ก า ก ติ กู

Wednesday, March 08, 2006

เมื่อไหร่จะลง?



ทางข้างหน้ามันขาด
ไม่ลงซะที

ขันที กับโมหะ ปิดตา
โลภะ ปิดหู
โทสะ เหยียบคันเร่ง


ระวังจะไม่ได้ลงดี ๆ นะ

Tuesday, March 07, 2006

เรียนไปทำไม?

เด็ก ๆ ผมเป็นเด็กขี้เกียจ
สมุดจดก็จดไม่ทัน
สมุดการบ้านก็ไม่ทำ
ต้องเว้นกันเป็นหน้า ๆ แทบทุกวิชา

ส่งการบ้านไม่ทัน ก็ไม่ส่ง
จนเคยต้องปลอมลายเซนต์อาจารย์ตอน ป.สาม

เด็ก ๆ โดนตีหน้าห้องจนก้นช้ำ แทบทุกอาทิตย์
โดนเชิญผู้ปกครองนับครั้งไม่ถ้วน

เกรดเฉลี่ย ไม่เคยเกินสองจุดห้า
จุดตกต่ำสุดน่าจะเป็นช่วงมัธยมปลาย
สอบกลางภาค ลุ้นหนักมาก
ว่าจะเกือบตก หรือเกือบผ่าน
แน่นอน มีเกรดในสมุดพก เกือบเป็นโค้ดดิจิตอล
...0.1.1.1.0.1.1...

อาศัยการอัดหนัก ทำโจทย์สิบปีรวดทุกวิชา
และฟัง "ช๊อกเรดิโอ" ที่มันเล่าเรื่องผี จนนอนไม่หลับ
เลยต้องลุกขึ้นมาอ่านหนังสืออยู่เดือนหนึ่ง
โชคดีที่เข้ามหาวิทยาลัยได้

ชีวิตเหมือนจะกลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง

แต่การเรียนไม่ดีเหมือนเดิม
2.09/2.13/2.23/2.45/2.37

จนปีสามเทอมสอง
ผมค้นพบว่า
“การเรียนเพราะอยากรู้”
มีความสุข สนุก และได้เกรดดีกว่า
“เรียนเพราะอยากได้เกรด”

ผมสนุกกับการเรียนหลาย ๆ วิชา
ผมเริ่มได้เกรด มากกว่า สองจุดห้า ครั้งแรกในชีวิต
และมากกว่า สาม ในเทอมถัด ๆ มา

สามปีก่อน
ผมมาเรียนต่อเมืองนอก
ผมเรียนไม่มีความสุขอีกครั้ง
เพราะมัวแต่คิดว่า
ความรู้ที่เรียนไปก็คงเอาไปใช้กับเมืองไทยไม่ได้แน่ ๆ

จนพี่ที่เคารพคนหนึ่ง แนะนำว่า
“ให้เรียนเอาแนวคิด ว่าฝรั่งมันคิดกันยังไง”

ผมกลับไปเรียนสนุก และได้เกรดดีกว่าเดิมอีก

ทุกวันนี้ มีเสียดายนิดหน่อยก็แค่อยากกลับไปเรียน
และเก็บเกี่ยวความรู้ช่วงที่หลับในห้องอีกครั้ง
โดยเฉพาะวิชา History of Art

ผมมักรู้ตัวเมื่อสาย แต่ไม่คิดเสียใจ
กลับมีความสุขเสียอีก เมื่อนึกถึงวันที่เหลวไหล

รู้จักกันไหมครับ?
ความรู้สึกของการเป็น "เด็กเรียนไม่เก่ง"

Saturday, March 04, 2006

375.357

เมื่อรัฐบาลเสียงข้างมาก 375 แก้ปัญหาถึงทางตัน

นี่สงสัยเราต้องผ่าทางตันด้วย .357 แล้วกระมัง

Wednesday, March 01, 2006

ผมอยากเป็น 'เภท ที่สาม

ผมชอบบทความของคุณนิธิ เอี่ยวศรีวงค์ เรื่อง “วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ”
(มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1332)

สรุปเป็นใจความว่า
- การไล่ทักษิณนี้ เป็นแค่ “สัญลักษณ์”
- สิ่งที่เราต้องไล่จริงๆ ไม่ใช่ “คุณทักษิณ” แต่เป็น “คนแบบทักษิณ”

“คนแบบทักษิณ” ผมชอบคำนี้จัง
เป็นการสรุปความคิดผมที่อึดอัดช่วงนี้ได้โดนใจมาก

เคยได้ยินไหมครับ คำแนะนำสำหรับการเลือกคู่ครอง
“ไม่ใช่อยู่ที่ชอบในจุดดีอะไรในเขา แต่อยู่ที่การยอมรับในจุดเสียที่สุดของเขาได้”

จริงอยู่ การมีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำแบบสากล มีนโยบายสร้างสรรค์มากมาย นั่นหวือหวา น่าสนใจ
อันเปรียบเหมือนผู้หญิงหน้าตาดี ๆ ฉลาด เสียงออดอ้อนน่ารัก เย้ายวน
แต่การไร้จริยธรรม กะล่อน พูดเอาตัวรอดไปวัน ๆ ปากกล้า ใจร้อนหยาบคาย ผลประโยชน์ทับซ้อน
คือ ผู้หญิงเย้ายวนคนนั้น มีผัวลูกสองแล้ว ตอแหลเก่ง และคบผู้ชายทีละสิบ ๆ คน

"ผมรับไม่ได้ครับ"
ทำไมหน่ะหรือ เพราะจุดหมายการคบผู้หญิงซักคนตอนนี้ของผมคือ
“เธอต้องเป็นแม่ที่ดีของลูก”
ฉนั้น ข้อเสียทั้งหมดของผู้หญิงยั่วยวนที่ว่ามา
จึงผิด 'เกณฑ์' ของผมแน่นอน

ฉันใดฉันนั้น ประเทศก็เช่นกัน


กลับมาที่ “คนแบบทักษิณ”
ผมกลับเมืองไทยคราวก่อน
ผมอึดอัดกับการกระทำหลายประการของคนไทยเรา
ส่วนมากอยู่ในเรื่องรายละเอียด เช่น การโดนแซงคิวหน้าด้านๆ การทิ้งขยะ การขับรถแบบหม้า ๆ ฯลฯ
อาจเป็นได้ เพราะไม่ได้เจอมานาน
(ส่วนการเมือง ตลก ๆ นั้นเหมือนกัน)

เคยอ่านจดหมายเหตุของนายตรุแปง ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกประเทศสยามสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
มีเนื้อความโดนใจสรุปว่า

ข้อดีคนไทยคือ - อัธยาศัยดี ยิ้มง่าย มีน้ำใจ
ข้อเสียคนไทยคือ - รักสบาย ไม่ขยัน ไม่มีวินัย ขี้ขลาด ขี้กลัว นับถือผีฟ้า ผีบ้าน ไสยศาสตร์ แม้ทหารก็ไม่กล้าฆ่าคน
ในเรื่องความยุติธรรม - แทบไม่มีความยุติธรรมในประเทศนี้ คนที่มีฝีปากดี จะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบกฎหมาย และเอาเปรียบได้อย่างน่าเกลียด
ฯลฯ

อ่านจบแล้ว คิดเลย
“ผ่านมาสองร้อยกว่าปี เราก็ยังเป็นแบบนี้อยู่เหรอ”
ผมก็ไม่รู้นะว่า ฝรั่งตรุแปง นี่มันมีตัวตนจริง ๆ หรือปล่าว
แต่คนแต่งจดหมายเหตุนี้ นี่เข้าใจประเทศเราจริง ๆ

การแย่งขึ้นรถไฟฟ้า ทิ้งขยะ แซงคิว ขับรถแทรกแถว

นี่มันสันดานประเทศไทย
ข้อดีในข้อเสียก็มี เรื่องเอื้ออาทร การอุ้มชูกัน (แม้ว่ามันจะน้อยลงทุกวัน ๆ ก็ตาม)

".. สิ่งสำคัญในการปกครองก็คือบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด
....การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
....หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..."


ผมว่า สี่ห้าบรรทัดในพระบรมราโชวาทนี้ เกือบจะเป็นผังการพัฒนาประเทศได้ดีมาก ๆ เลย

ประเด็นที่อยากให้คิดคือ ระบบควบคุมคนไม่ดี
ระบบต้องเริ่มจากเล็ก ๆ เช่น
คนทิ้งขยะต้องโดนปรับ
คนแซงคิวต้องโดนประนาม
รถแทรกตีนสะพานต้องโดนใบสั่ง
และตำรวจต้องไม่เรียกเงิน สองมาตรฐาน ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใด ๆ

สังเกตว่า ทำไมคนไทยมาอยู่ต่างประเทศ ระเบียบวินัยตรงเปะ
ไม่แทรงคิว ไม่ทิ้งขยะ ขับรถไม่ใจหม้า

ผมคิดส่วนตัวว่า
จะพัฒนาสันดานคนไทย “ระบบ” มันต้องดี
กฏหมายต้องเข้มแข็ง (ไม่ใช่รุนแรง)
จริยธรรมต้องไม่ย่อหย่อน
เลิกได้แล้ว แนวคิดชื่นชมคนเก่งแบบศรีธนนชัย
และสุดท้าย ที่สำคัญที่สุด
"ทุกคนต้องทำตามหน้าที่"

ไล่ไอ้พวกกลุ่มคน ที่มันถ่างมาตรฐานจริยธรรม ให้ไปไกล ๆ เป็นสัญลักษณ์ และตัวอย่างเลว ๆ ก่อนนี่แหล่ะ

สรุปรวบยอดคือ
เราต้องไม่เอา “ทักษิณ” และ “คนแบบทักษิณ”

มีคนกล่าว(เชิงดูถูกคนไทยกันเอง)ว่า
ประเทศไทยมีคนสองประเภท
ประเภทที่หนึ่ง คือ “คนโกง”
ประเภทที่สอง คือ “คนที่ยังไม่มีโอกาสจะโกง”

เศร้านะ เพราะมันเป็นความจริงในส่วนใหญ่
แต่ผมเชื่อว่า
มันต้องมีอีกประเภทหนึ่งสิ คือประเภทที่สาม
ประเภทที่สาม คือ "คนไม่โกง ในทุกๆ โอกาส"

ผมอยากเป็น 'เภท ที่สามครับ


จริงไหมหล่ะ ตัวเอง

...........................

ขอบคุณ ไอ้นอร์ท สำหรับบทความคุณนิธิ

Sunday, February 26, 2006

ขอบคุณ คุณทักษิณ

เอดเวริด เดอ โบโน นักคิดชื่อก้องโลก
เคยแนะนำให้ลองแบ่งแยกความคิดเป็นหกอย่าง
อุปมา เป็นหมวกสีต่าง ๆ หกสี (Six Hats of Thinking)
กล่าวคือ
เมื่อเราสวมหมวกสีขาว ให้คิดเรื่องเหตุผลอย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีดำ ให้คิดแต่ในแง่ร้ายอย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีแดง ให้คิดแต่ในแง่อารมณ์อย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีเหลือง ให้คิดแต่ในแง่ดีอย่างเดียว
เมื่อเราสวมหมวกสีเขียว ให้คิดในเชิงสร้างสรรค์แต่อย่างเดียว
และ เมื่อเราสวมหมวกสีฟ้า ให้เป็นแบบควบคุมความคิดของหมวกทุกใบ

เมื่อแบ่งแยกการคิดแล้ว ความคิดจะเกิดพลังอย่างไม่มีข้อหยุดยั้ง
จะทำให้เราคิดไปได้ไกลว่าที่เราคิดแบบไม่แบ่งแยก

จากที่ได้ติดตามขบวนการต่อต้านคุณทักษิณ
งานศิลปะต่าง ๆ เช่น รำตัด งิ้ว โคลง กาพย์ กลอน เพลงพื้นบ้าน เพลงเพื่อชีวิต ภาพวาด งานเขียน ฯลฯ
ล้วนมีเป้าหมาย และมีพลังมุ่งไปในทางเดียวกัน
มีความคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาล้ำลึก แยบยล

เปรียบเหมือน ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ น้อย ๆ ได้ทีเดียว

ประกอบกับผมได้ยินพี่ที่เคารพคนหนึ่ง วิเคราะห์ว่า
การที่คุณทักษิณ ยื้อสถานการณ์ไว้แบบนี้ “ดีแล้ว”
เพื่อให้นักศึกษาที่ตื่นตัว ตื่นต่อไป
เพราะหากคุณทักษิณลาออกถอดใจเร็วไป จะทำให้นักศึกษาที่เริ่มเคลื่อนไหว รู้สึกว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นได้มาง่ายเกินไป

ผมไม่เคยคิดแต่งกลอน ไม่เคยเรียบเรียงความคิดในการเขียน และเคยคิดว่าชาตินี้ไม่คิดว่าจะทำ
ผมก็มาลองทำดูได้

ผมสวมหมวกสีเหลือง แล้วคิดขอบคุณ คุณทักษิณ

และเมื่อผมเปลี่ยนหมวกความคิด
คิดถึงคุณทักษิณครบทุกหกใบหกสีแล้ว
ผมว่า เดอ โบโน ขาดหมวกไปใบนึงครับ

ใบนั้นคือ หมวกฟาง แห่งจริยธรรม

คุณทักษิณ มีไหมครับ? ถ้าไม่มี ผมจะให้ยืมใส่

Saturday, February 25, 2006

กระดานเดียว สองหมาก

เมื่อหลายวันผ่านมา
ผมเห็นชายสองคนเล่นหมากรุกอยู่ข้างถนน ดูน่าสนใจ
ผมเลยหยุดยืนดู

ผมรู้ภายหลังว่า สองคนนั้นชื่อนายมวย กับนายสอย

นายมวย เดินก่อน แทงเบี้ยด้วยเม็ด
นายสอย ขยับเบี้ยตาม และเปิดแนวรุกด้วยโคนกับม้า

เกมผ่านไป ทั้งคู่วางหมากกันอย่างเข้มข้น

นายมวย นำไวน์ชั้นดีรินให้นายสอย
ขณะที่นายสอยจิบไวน์ และหยิบขวดมาชื่นชมอยู่นั้น
นายมวย ก็ขยับโคนเดินแทยงไปสามช่อง ลงตำแหน่งฆาตม้า กับ เรือของนายสอย
นายสอยไม่ทันเห็น จะแก้เกมผูกม้ากับเรือ ก็ไม่ทันแล้ว เลยต้องยอมสละเรือ เพื่อรักษาม้า

การเดินสองครั้งต่อมา นายมวยหยิบหนังสือปลุกใจเสือป่าให้นายสอยดู
เม็ดของนายมวย เดินสามช่องในทางตรง ลงตำแหน่งฆาต โคน กับเรือ ของนายสอยอีก
นายสอย ก็จำใจ เสียโคนรักษาม้าอีกครา

นายมวย ยังมีกลเม็ดมากมาย ค่อย ๆ ดึงความสนใจนายสอย
และเดินหมากประหลาด ๆ ช่วงนายสอยเผลอ

นายสอย จึงเหลือแค่เบี้ยไม่กี่ตัว เรือหนึ่ง และม้าหนึ่ง
ขณะที่นายมวย เสียเบี้ยเพียงไม่กี่ตัว

นายสอยก็งง ว่าเกิดอะไรขึ้นหว่า
และกลับมาตั้งใจเล่น

ก็ได้รู้ว่า หมากรุกที่นายมวยเดินนั้น เป็น “หมากรุกฝรั่ง”
เม็ด ไม่ใช่ เม็ด แต่เป็น ควีน!
โคน ไม่ใช่ โคน แต่เป็น บิชอบ!
เบี้ย ไม่ใช่ เบี้ย แต่เป็น พอน!

นายสอย ไม่ลดละ ค่อย ๆ เล่น อย่างระมัดระวัง
แต่นายสอย ยังคงเดินตามกฎหมากรุกไทย สู้กับหมากรุกฝรั่ง ของนายมวย
บนกระดานเดียวกันนั้น อย่างไม่ลดละ
นายสอย ต้องใช้ความคิดหนัก ๆ นาน ๆ
แม้ว่า จะมึน ๆ จากฤทธิไวน์ชั้นดีที่จิบไปหลายอึก
แต่ใจนายสอย ไม่วอกแวกกับหนังสือปลุกใจเสือป่าอีกต่อไปแล้ว

ม้า กับ โคน ของนายสอย ก็ค่อย ๆ โค่น บิชอบ กิน พอน ทีละตัว
รุกคืบเข้าไป ใช้เรือกดดันขึ้นไปทีละตา ทีละตา

นายมวยเห็นชัดว่า หากปล่อยให้นายสอยเดินอีกทีหนึ่ง
ตัวเองจะโดน นายสอย รุกฆาต เผด็จศึก
ขณะที่ ควีน กับ บิชอบ กับหมากที่เหลือเคลื่อนมาช่วยไม่ทันอย่างแน่นอน

ทันใดนั้น นายมวย ก็ล้มกระดาน!
พร้อมตะโกนด่าว่า นายสอย
“ไอ้สอย เอ็งมันเล่นนอกเกมนี่หว่า ที่เอ็งเล่นมันคนละหมากกับข้าชัด ๆ”

นายสอยก็ไม่ว่าอะไร เพราะงงอยู่ว่า หมากรุกฝรั่งจริง ๆ มันได้เปรียบกว่าหมากรุกไทยหลายขุมนัก

“ไอ้สอย ข้าให้โอกาสเอ็งเล่นอีกทีนึง”
นายมวยเอ่ยปากยิ้ม ๆ พร้อมหยิบกระดานที่คว่ำอยู่ ขึ้นมาตั้งหมากให้นายสอย

ปรากฎว่า นายมวย ตั้งหมากตัวเองแบบหมากรุกฝรั่ง
และตั้งหมากให้นายสอย แบบหมากรุกไทย แถมมี ม้า โคน และ เรือ ให้แค่อย่างละตัว
เบี้ย ก็เหลือแค่ครึ่งเดียว

“มาๆ มาเล่นกันใหม่นะ นายสอยนะ”

คุณเป็นนายสอย คุณจะเล่นไหมครับ?

.................................................

เรื่องจริงจากที่ผมนั่งดู
“นาย มวย หัวแค้ว” กับ “นาย สอย ข้างเนี้ยง”

ขอบคุณ
คุณอนารยชนโรแมนติก สำหรับ ไอเดีย “มวย หัวแค้ว”
ไอ้ปรัชญ์ สำหรับ ศัพท์ทางหมากรุก

Friday, February 24, 2006

สังคมเสียงข้างน้อย

และแล้ว มันก็ยุบ

ฉลาดจริง ๆ
พิสูจน์ได้ว่า คนระดับ พันตำรวจโท ด๊อกเตอร์
ถ้ามันจะเลว นี่เลวได้ฉลาดจริง ๆ

ฤาเขาจะกลับมาด้วยเสียงข้างมาก
ฤาเราต้องยอมรับเขา
ฤาเราต้องเล่นนอกระบบจริง ๆ

ประชาธิปไตยนี่นา
เล่นตามกติกาต้องยอมรับเสียงข้างมากนะ

สว.เสียงข้างน้อย
ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย
กรรมการสรรหาเสียงข้างน้อย
คตง.เสียงข้างน้อย
ม๊อบ เสียงข้างน้อย
ฯลฯ เสียงข้างน้อย

ทำไมผมกลับมองเห็นความมีปัญญาในเสียงข้างน้อยเหล่านี้นะ

น้อยครับ ผมขอเป็นเสียงอยู่ข้าง ๆ คุณนะครับ

Thursday, February 23, 2006

วาเลนไทน์ กับ มาตราฐาน

“...แต่งตัวสบาย ตามสไตล์หลวม ๆ หากดู รวม ๆ คงจะดูยับ ๆ…”

วันวาเลนไทน์ ผ่านไปแล้ว
ทำไมต้องซื้อดอกไม้ให้กัน?
วันนี้มันสำคัญฉไน?

ไม่ต้องไประลึกตำนานชาวโรมันร่วมรักกันระหว่างสงครามอะไรนั่นหรอก
สำหรับผม วันเกิดตัวเองยังจำไม่ค่อยได้เลย

ปีก่อน ก็ลืมไปเฉยเลย แต่พอผ่านไป
ก็ไม่เห็นมันจะลอกคราบให้ตัวใหญ่ขึ้นในวันนั้นนี่หว่า
หากใช้ปฎิทินชาวแอสเทคโบราณ ซึ่งปีหนึ่ง มี 260 วัน
ตอนนี้เราไม่อายุสามสิบเก้าแล้วหรือ?

แล้วทำไม ไม่มีดอกกุหลาบให้วันวาเลนไทน์ แล้วจะรักน้อยลงหรือ?
ก็รักเหมือนเดิมทุกวันนี่นา
แล้วของขวัญวันเกิด จะเอาไปทำไมเล่า?
จะไปเปลืองเงินทำไม?

จะเอาเหรอ ให้ดอกไม้ ให้ของขวัญสุดหรู แต่ไปมีกิ๊กตรึม?

ผมก็เป็นคน “มาตรฐานเดียว” ผมก็ไม่ต้องการของขวัญวันเกิดเช่นกัน
ทำดีต่อกัน รักกัน ซื่อสัตย์กัน ทุกวันดีกว่า จริงไหม?

...............................................

หลายปีก่อน ผมคิดแบบนี้
วันนี้ อยากกลับไปตบกะบาลไอ้หมอนั่นจริง ๆ

ไม่ได้อยากให้มัน เปลี่ยนเป็นคน สอง สาม มาตราฐาน ตามท่านผู้นำเรานะครับ
แต่อยากให้เปลี่ยนจุดที่วางมาตราฐาน
จาก “มาตราฐานการทำตัว”
ให้เป็น “มาตราฐานแห่งความสุข”

ทำอะไรก็ได้ ให้มีความสุข
ความสุขเขา ก็คือ ความสุขเรา

“...ฉันคนง่าย แต่เรื่องหัวใจไม่เคยง่ายซะที...”

ปีนี้ดอกกุหลาบแดง แพงกว่าปีก่อน สองเหรียญแหน่ะ แย่จริง ๆ

Thursday, February 16, 2006

ทำบุญด้วยการจุดเทียน

หายไปหลายวัน และคงจะอีกหลายวันครับ

หายไปถกเถียงประเด็นทางการเมืองอยู่

ไม่ขอเอาที่ไปเขียนไว้ที่ต่าง ๆ มาลงในนี้นะครับ

กลัวที่นี่จะเป็น บล๊อก การเมืองไปซะอย่างนั้น

ถ้าได้ข้อสรุปอะไร เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังดีกว่า

เพิ่งอ่าน "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" จบไปหมาด ๆ
ทำบุญที่ดีทางหนึ่ง คือ "การให้ปัญญา"

จุดเทียนกันเถอะครับ

ประเทศชาติจะสว่างไสว ด้วยเทียนปัญญา

Sunday, February 12, 2006

การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี

การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี
แม้เป็นที่รู้กันอยู่ว่า
"การถอดถอนผ่านวุฒิสภา" มีโอกาสเป็นจริงไปได้ยากมาก
เนื่องจาก วุฒิสมาชิกทำตัวขายตัว ขายชาติ จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วมาจากหลาย ๆ เหตุการณ์ (สตง. กทช. กสช. กกต. ปปช.ฯลฯ และการวางตัวของ สว.จำนวนมาก)
อันกระบวนการนี้ จะผ่านการพิจารณาของ สว.- ซึ่งถ้าพวก"มัน" ดึงเกม ทำการตรวจสอบรายชื่อทีละรายชื่อ ห้าหมึ่นคน จะต้องใช้เวลาเป็นปี
ขั้นต่อไป คือ ส่งผ่านไปยัง ปปช. - ซึ่งกระบวนการสรรหายังง่อยเปลี้ยด้วยความตั้งใจอย่างหน้าด้าน ของ พวก สว.ขายชาติ
ยิ่งบวกกับเงื่อนเวลา ที่จะมีการเลือกตั้งสว.ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่ง กลุ่มสว.ขายชาติหน้าใหม่ จะเข้ามาอีกกระบุงโกยแน่นอน แล้วทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบเช่นเดิม อีกหกปี!!!

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คัดค้านการลงชื่อครั้งนี้ หากแต่เห็นว่าเป็นการ "ไร้ประโยชน์เชิงรูปธรรม" อย่างแน่นอน
ประโยชน์น่าจะอยู่ที่ "ประโยชน์เชิงสัญลักษณ์" ด้วยการที่กลุ่มนิสิตนักศึกษา เริ่มออกมาเคลื่อนไหว แสดงความสนใจ และรับผิดชอบต่อบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และควรสนับสนุนอย่างยิ่ง

แล้วผมจะกรอกฟอร์ม แล้วส่งไปให้นะครับ น้อง ๆ
ดาวน์โหลดฟอร์มที่นี่
กรอกแล้ว แนบสำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรราชการ พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาส่งไปที่
องค์การนักศึกษามหาวิทยาธรรมศาสตร์ (อมธ.) ตึกกิจกรรมนักศึกษา
เลขที่ ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนพระจันทร์
เขตพระนคร กทม. ๑๐๒๐๐

ศศินอนัตริยกรรม

กระต่ายบ้า
เคยออกเป็นหนังสือรวมเล่ม
ชอบในความคิดสร้างสรรค์ของมันจริงๆ

โปรดใช้วิจารณญาณในการดู

ขอบคุณไอ้เอียด สำหรับ link

Thursday, February 09, 2006

ภูเรือ episode 3 “พี่คำภู พาเดินป่า”

“บ่ายนี้เดี๋ยวพาไปเดินป่า”
พี่คำภู ผู้นำทางกิติมศักดิ์ ร่างเล็ก วัยประมาณห้าสิบ เอ่ยปากบอกยิ้ม ๆ ด้วยสำเนียงพื้นถิ่น

พวกเรา สถาปนิกหนุ่มสาว ชาวกรุง หลังจากจบมาหมาด ๆ ทำงานได้สามสี่เดือน
ทางที่ทำงานที่แสนดี ก็ส่งพวกเราเด็กเข้าใหม่อย่างพวกเรา มาพักผ่อนกัน

“ไร่ชัชนาถ” บ้านสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
ที่นี่มีสองร้อยกว่าไร่ หกเจ็ดปีก่อน ยังเป็นเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้เป็นป่า
ป่าที่นี่เป็นป่าปลูก ปลูกด้วย “แรงคนสองคน ขี้จากวัวหนึ่งฝูง กับน้ำหนึ่งบ่อ”
(แล้วจะบอกประวัติใน episode 1-2 เรื่องยาว แต่น่าจะสนุก)

หกปีผ่านไป ป่าปลูกตอนนี้ ดูครึ้มแล้ว
แดดลงตรงหัว แต่อยู่ใต้ผืนใบไม้แล้วรำไร อากาศไม่ร้อน ไม่หนาว เหมาะกับการเดินเล่นในป่ามาก

“พี่คำภู นี่ต้นอะไรครับ” พวกเราเปิดคำถาม เพียงเห็นต้นไม้ มีเกล็ดแดง ๆ แปลก ๆ ตรงปากทางเข้า
พี่คำภูหันกลับมา “อันนั้นไม้แดง”
เออ แฮะ เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นไม้แดงที่เป็นต้น ๆ
สีมันแดงจริง ๆ ด้วย แต่เนื้อไม้ข้างในไม่ยักกะแดงอย่างนี้นะ ผมคิดในใจ

“พี่ ๆ นี่ต้นอะไรครับ”
“นี่ต้นมะค่า เห็นไหม รอบ ๆ ต้นวัชพืชขึ้นไม่ได้ เพราะมันมียางหยด” พี่คำภูอธิบาย พลางชี้ไปใต้ต้นมะค่า
เห็นน่าจะจริงอย่างที่พี่เขาว่า เพราะรอบ ๆ ต้นไม่มีหญ้า ไม่มีอะไรเลย มีแต่ฝุ่นดิน
“...เออ มะค่านี่แพงนะเนี่ย...” “...มันมาจาก “มีค่า”ไง...”
กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวเถียงกันเอง ดูครึกครึ้น

พี่คำภูไม่ว่าอะไร ยิ้ม ๆ แล้วเดินต่อ
“พี่ ๆ นี่ต้นอะไรครับ”
พี่คำภูยังไม่ทันตอบ มีเสียงเถียงกันเองดังขึ้นเสียก่อน
“ต้นสัก ไงเล่าไอ้ฟาย แค่นี้ก็ไม่รู้”
“กว่าจะได้วงกบประตูสักอัน ก็น่าจะสิบปีขึ้นนะเนี่ย”
“สักนี่ดีนะ สีสวย ใช้แค่ชแล็กทา สีจะเนียนมาก คนถึงนิยมใช้ไง”
บทสนทนาระหว่างสถาปนิก อธิบายกันเอง
“สักนี่ใบใหญ่ หนอนแยะ กว่าจะโตได้ ลำบาก” พี่คำภูแทรกคำอธิบาย ระหว่างการเดินขึ้นเนินเล็ก ๆลูกหนึ่ง
“...มิน่าหล่ะ ถึงแพง...” เสียงเบา ๆ ดังจากกลุ่มสถาปนิก

พี่คำภูไม่ว่าอะไร ยิ้ม ๆ แล้วเดินต่อ พลางเอาพร้าตัดหญ้าสาบเสือ ถางทางให้เด็ก ๆ ที่ตามมา
แกคงเกรงพวกเราจะลำบาก

“ต้นนั้น ยางนา ...ต้นนี้ ตะแบก... อันนี้คล้าย ๆ กัน สเลา...”
พี่คำภูรู้แกว ตอบเสียก่อน ไม่รอให้พวกเรา กลุ่มสถาปนิกจำไม ต้องถาม
“...สเลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกร่อน...” ผมเอ่ยออกมาโดยไม่ตั้งใจ เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรจากกลุ่มเพื่อน ๆ
ต่อมานึกออกว่า จำประโยคนี้มาจากพวกเพื่อนภูมิสถาปนิก มันเคยท่องกันตอนสอบวิชาพันธุ์ไม้ ตอนปีสาม
พอเดินไปใกล้ ๆ เออ ใบกับทรงพุ่มมันเหมือนกันเลย แต่ต่างกันตรงเปลือกไม้จริง ๆ

“...อันนี้ประดู่ ต้นเล็ก ๆ นั่นชิงชัน...” พี่คำภูยังทำหน้าที่ของแกต่อ เพราะแกรู้จักทุกต้น เพราะปลูกมากับมือ
เสียงความเห็นดังจากกลุ่มสถาปนิกอีกครั้ง “เออ ชิงชันนี่เขาว่าลายสวย เดี๋ยวไปดูที่พื้นบ้านหลังแรกสิ สงสัยจะชิงชัน”

จากข้อมูลของพี่คำภู ต้นไม้พวกนี้ เริ่มปลูกพอ ๆ กัน หกปีก่อน
ทำให้เรารู้ได้เลยว่าต้นไม้ชนิดไหนโตเร็วโตช้า
ต้นสัก กับมะค่า ลำต้นนี่โตซักสองฝ่ามือกำได้ แต่ทรงพุ่มต่างกัน สักจะสูงชะลูด แต่มะค่าจะเป็นพุ่ม ๆ
รอบวงของไม้แดง ยังเพิ่งประมาณ มือครึ่งกำได้
ชิงชันยังแทบจะกำรอบได้ด้วยมือเดียว
ขณะที่พวกต้นสน จะใหญ่ที่สุด ประมาณว่าซักสามมือกำเห็นจะได้

พวกเราพอมีข้อสรุปในใจได้เล็กน้อยว่า
ไม้ที่โตช้า จะเป็นไม้เนื้อแข็ง
ส่วนไม้โตเร็วเป็นไม้เนื้ออ่อน
ส่วนเนื้อไม้ กับสี ก็จะต่างกันไปตามชนิด

พวกเรา ฝ่าดงใบสักแห้ง ๆ เดินกันเสียงกรอบแกร๊บมาสักพัก
พี่คำภูมาหยุดที่ไผ่กอนึง
พี่เขาอธิบายว่า นี่เรียกว่า “ไผ่บง ...บง ภาษากลาง แปลว่าป่านั่นแหล่ะ”
“อ๋อ นี่ไผ่ป่าธรรมดานี่เอง” เสียงพวกเราตอบเป็นลูกคู่
“กิ่งขนาดนี้ เอาไปตีไล่วัวได้”พี่คำภู อธิบายพลางหักกิ่งไผ่เล็ก ๆ ออกมา กิ่งหนึ่ง
พี่คำภูมองไปที่หน่อไผ่ที่มีร่อยรอยตัดใหม่ ๆ และบอกพวกเราว่า
“แล้วเย็นนี้คงได้กิน แกงจืดหน่อไม้ดองของแม่คำภานะ”
(พี่คำภา เป็นภรรเมียของพี่คำภู ทำอาหารอร่อยสุดในจังหวัดแถบนี้ ตามความเห็นผม)

“ไป เดี๋ยวไปนั่งพักที่เพิงนั้น” พี่คำภูชี้ไปเพิงพักเล็ก ๆ อยู่ที่ยอดเนินไม่ไกล

พวกเราพักเหนื่อยที่เพิงไม้ไผ่นั้น ลมเย็นเอื่อย ๆ พัดมา ทำเอาเหงื่อที่ชุ่มหลังอยู่นิด ๆ ให้ได้เย็นสบายกันทุกคน

เพิงนี้ ก็ทำจากไผ่บงกอนั้นแหล่ะ ตัดแป๊บเดียว มันก็โตกลับมาเหมือนเดิม พี่คำภูบอก พร้อมออกความเห็นต่อว่า ไผ่นี่มีประโยชน์หลาย
กินหน่อก็ได้ เอามาสร้างบ้านก็ได้ กิ่งยังเอาไปตีวัวได้อีก

เสียงกระเดื่องวัว ดังก๊อง ๆ จากชายป่า เหมือนพวกมันรู้ว่า จวนได้เวลากลับคอกที่ตีนเขาแล้ว หลังจากพี่คำภูต้อนพวกมันออกมาหาหญ้ากินตั้งแต่เช้า

ความเงียบปกคลุม เสียงลมจากปลายยอดไม้ สานรับกันดีกับจังหวะของลม
“ไม้อะไรสวยสุดวะ ถ้าจะสเปคเอาไปทำปาร์เก้หน่ะ” สถาปนิกหนุ่มชาวเมืองเริ่มเปิดคำถามทำลายความเงียบนั้น
“ไม้แดงไหม จะได้แดงทั้งพื้น เท่ห์ดี”
“ไม้แดงไม่ค่อยใช้กัน มันแข็งไป ยืดหดตัวเยอะด้วย เดี๋ยวพื้นจะโก่งเป็นเนิน ๆ หมดบ้าน” สถาปนิกสาวให้ข้อมูล
“ไม้สักก็ดีนะ ปลวกไม่กิน สีสวยดีด้วย”
“กินเว้ย ถ้ามันหิว ๆ ก็กิน บ้านกรูนี่ โดนไปแล้ว”
“ชิงชันไง แข็งสุด แต่กว่าจะได้แต่ละชิ้น สามสิบปีหล่ะมั้ง”
“ไม้มะค่าไง แพงสุด แต่ต้องคัดสีให้เสมอกันด้วยนะ ไม่งั้นบ้านลายตาแย่”
ฯลฯ
เถียงกันทั้งวันคงไม่จบ พวกเราคงตัดสินกันไม่ได้ เลยหันไปถามพี่คำภู

พี่คำภูมองพวกเราเถียงกันอยู่นาน ตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ยิ้ม ๆ ตามสำเนียงคนพื้นถิ่นเหมือนเคยว่า

“คนเมืองนี่หล่ะหนา ชอบตัดสินความงามจากสิ่งที่ตายแล้ว”


เย็นวันนั้น ขากลับจากเนินเขา ต้องผ่านป่าผืนเดิม
ฝูงสถาปนิกชาวเมือง ถูกต้อนด้วย “กิ่งไผ่บง” ในมือพี่คำภู
พวกมันเหล่านั้น ยอมกลับไปกินข้าวเย็นแต่โดยดี


ขอบคุณอัจฉรา และพี่ณี ที่ช่วยย้ำข้อมูลต่าง ๆ

Wednesday, February 08, 2006

ภาษา ดอกไม้

สิบสองปีก่อน

ผมอยู่มัธยมปลาย ต้องตื่นเช้ามาช่วยพี่สาวในงานรับปริญญาที่ช่างวุ่นวายเสียจริง ๆ
ซึ่งคงไม่ต่างจากวันนี้ หรือวันนี้อาจน้อยกว่าอีก
พี่สาวผมต้องตื่นตี ๕ มาทำผม
รับดอกไม้ที่สั่งไว้ตอน ๖ โมง
ก่อน ๖ โมงครึ่ง ต้องถึงมหาวิทยาลัย ถึงจะมีหวังได้ที่จอดรถ
และแน่นอน ในฐานะน้องชายที่แสนดี และช่างภาพจำเป็น การงัวเงียออกมาตั้งแต่ตี ๕ นั้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

ตี ๕ ครึ่ง ผมนอนรอในรถแถวสยาม พี่สาวผม เดินมาข้างรถ ยื่นกระดาษให้ใบหนึ่ง พร้อมบอกว่า ให้เอาใบรับนี้ไปร้านดอกไม้
แต่บอกเขา ว่าไม่เอาแล้ว เพราะไม่แน่ใจว่า ทางแม่กับพี่ชายก็สั่งมาเหมือนกัน เกรงว่าจะมีเยอะไปแล้ว
ผมอ่านในใบรับ เขียนว่า “มัดจำ ๕๐๐ บาท” ผมก็ถามพี่สาวผมว่า “อ้าว แล้วเงินมัดจำนี่เอาไง(วะ)”
พี่สาวผมเดินออกไปเพื่อทำผมให้เสร็จ ตะโกนบอก “ถ้าเขาทำแล้ว วันนี้เขาคงขายได้แหล่ะ ลองขอเงินเขาคืนดิ”

ร้านดอกไม้ เปิดแล้ว มีดอกไม้หลายช่อตั้งอยู่ที่พื้น ผมคิดในใจ “...นี่คงเป็นวันทำเงินวันหนึ่งในรอบปีเลยนะเนี่ย...”
ผมยื่นใบรับให้คนขาย เขาถาม “อ้าว นัดไว้ให้มารับ ๖ โมงนี่นา”
ผมก็บอกตรง ๆ “ไม่เอาแล้วครับ”
“ทำไมหล่ะ?” เขาถามกลับ
“มีเยอะแล้ว” ผมตอบขณะที่ตามองช่อดอกไม้ที่กองอยู่บนพื้น
“งั้นยึดเงินมัดจำนะ” เขาถาม
“ครับ” ผมตอบ เพราะเห็นว่า แฟร์ดี สั่งเขาทำแล้วไม่เอา ก็ต้องโดนยึดมัดจำ กฎง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

ผมกลับมานอนต่อที่รถ จนพี่สาวผมกลับมาด้วยทรงผมหัวกระบัง เป็นกระบังที่สูงที่สุดตั้งแต่มันเคยทำ (ซึ่งเป็นทรงยอดฮิตมากในยุคนั้น ถ้าผู้อ่านนึกไม่ออก ให้ดูที่เมียนายกวันนี้ อย่างไรอย่างนั้นเลย)

“ได้เงินมัดจำคืนไหม” มันถามพร้อมก้มหัวเข้ามานั่งในรถ ระวังกระบังจะชนขอบประตู
“ไม่ได้ เขายึดไปแล้ว”
“อะไร(วะ)” แล้วมันก็น้อมหัวออกใสกระบังออกจากรถไป เดินไปร้านดอกไม้

อีกไม่นาน พี่สาวผมก็กลับมา เข้ามานั่งในรถด้วยท่าเดิม ในมือกุมแบงค์ห้าร้อยอยู่
“แกไปพูดอะไรกับเขา(วะ)” มันถามอย่างคาดคั้น มองหน้าใกล้ ๆ กระบังนั้นมันช่างเกินสัดส่วนจริง ๆ
“ก็ ไม่ได้พูดอะไรนี่(หว่า) ก็เขาบอกจะยึดมัดจำ ก็ถูกแล้วนี่นา”
“คนขาย เขาถามตะกี้ น้องชายเหรอ ดอกไม้หน่ะ ยังไม่เสร็จหรอกนะ แต่น้องชายหน่ะ พูดไม่ดีเลย”
แล้วพี่สาวผม ก็ติดเครื่อง ถอยรถออก แล้วบอกว่า “บางสถานการณ์หน่ะ การพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้เราได้อะไรหลาย ๆ อย่างมา”

การพูด “อ๋อ พอดีคุณพ่อ คุณแม่ สั่งไว้ชนกันหน่ะพี่ ขอโทษจริง ๆ พี่ทำหรือยัง ถ้ายังไม่ทำ ขอเงินมัดจำคืนได้ไหม?.”
ยาวกว่า “มีเยอะแล้ว” สิบเอ็ดเท่า มีผลเท่ากับเงิน ห้าร้อยบาท

ผมจำบทเรียนวันนั้นจนถึงวันนี้ สิบสองปีที่ผ่านมา
หลายโอกาส ที่ผมพูดยาวอีกสักหน่อย
ผมได้อะไรหลาย ๆ อย่างมากกว่าเงินห้าร้อยบาทจริง ๆ

Monday, February 06, 2006

“แล้วเจอกัน ประเทศไทย”

จากชีวิตหลายคนที่เคยได้ฟัง และได้อ่าน
...วัยเด็ก อยากปรับปรุงจักรวาล...
...วัยรุ่น อยากปรับปรุงโลก...
...วัยทำงาน อยากปรับปรุงประเทศ...
...วัยเกษียร อยากปรับปรุงครอบครัว...
...วันก่อนจะตาย แค่ปรับปรุงตัวเองได้ ก็บุญโขแล้ว...
นี่แหล่ะชีวิต
แต่ไม่เป็นไร
แล้วเจอกัน ประเทศไทย

อยู่ไม่ได้แล้ว

“กลิ่น เป็นประสาทสัมผัสที่จะเตือนให้คนเราละลึกความทรงจำได้ดีที่สุด”

ข้อพิสูจน์เชิงชีววิทยาและจิตวิทยาได้พิสูจน์แล้วในตัวผม เมื่อสองปีก่อน

สองปีก่อน
...ปีกว่าแล้วสินะ ที่ไม่ได้กลับมาบ้าน... “เรียนหนักไหม?”... “หนาวไหม?” คือคำถามที่ผมได้ยินทางหูโทรศัพท์ทุกครั้งที่โทรกลับบ้าน และอีกครั้งในรถระหว่างทางกลับบ้านกับพี่ชายผม
“คิดถึงบ้านไหมเนี่ย?” ....คำตอบนี้ผมได้คำตอบแล้วในใจแล้ว ตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน “...ไม่เห็นจะคิดถึงเลย... อยู่โน่น สนุกจะตาย...นี่ถ้าไม่ใช่นายแต่งงาน ฉันก็ไม่มาหรอก...” ผมคิดในใจ แต่คิดว่าตอบคำถามยอดฮิตนั้นด้วยรอยยิ้มดีกว่า

เกือบเที่ยงคืน กรุงเทพ ฯ มืดสนิท อากาศร้อนชื้นอบอ้าว ร้อนชื้นหลังฝนตก ที่ผมรู้สึกตั้งแต่ในที่จอดรถสนามบิน บ้านเมืองข้างทางยังเหมือนเดิม ไม่ต่างจากปีกว่า ๆ ที่แล้วที่ผมขับรถร่อนไปทั่ว
ผมมองไปที่ด่านโทลเวย์ เห็นรถต่อแถวสองสามคัน เพราะดึกแล้วเหลือช่องเดียว “รถติดไหม?” ผมถาม แต่คิดในใจในเสี้ยววินาทีนั้นว่า จะถามทำไมนะ และแน่นอน “เหมือนเดิม” พี่ชายผมตอบ

รถเข้าซอยบ้าน ทุกอย่างเหมือนเดิม มีแต่ต้นไม้ใหญ่บ้านปากซอยที่ถูกเล็มไปแยะ รถจอดไฟสลัวที่โรงรถที่เดิม รถโตโยต้าคันจิ๋วคู่ใจผมไม่อยู่ที่เดิมแล้ว เพราะพ่อขายไปหลังจากที่ผมไปเรียนได้ซักเดือน ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีใครใช้แล้วนี่

ประตูรถเปิดออก ในใจผมคิดว่า ดีนะที่ไม่ต้องเอาอะไรกลับมาบ้าน กระเป๋าไม่หนักจะได้ยกขึ้นบ้านได้ง่าย ๆ
ทันใดนั้น กลิ่นไอดินกรุ่น ๆ หลังฝน ผมเชื่อว่ามาจากใต้ต้นอโศกที่ปลูกไว้ริมรั้ว ลมพัดแผ่ว ๆ โชยเอากลิ่นโมกที่แม่ผมลงไว้เมื่อหลายปีก่อน เข้าจมูก
...เฮ้ย คิดถึงบ้านหว่ะ...

ทุกวันนี้ ผมเรียนจบ ได้งานดี เงินดี ก้าวหน้าพอสมควร มีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย กินหรูได้บ่อยครั้งต่อเดือน ถ้าเอาเงินเดือนนี้ไปแลกเป็นเงินไทย คงเป็นเศรษฐีหนุ่มทุกปลายเดือนอยู่

“ผม(กู)จะกลับเมืองไทย”
“จะกลับทำไม(วะ)” เพื่อนอินเดียที่เรียนจบมาด้วยกันถามระหว่างกินข้าวเที่ยงในสวนกลางเมือง
ผมไม่อยากจะอธิบายให้ยืดยาว เลยบอกมันไปว่า “ผม(กู)จะกลับไปหาแม่ คิดถึงแม่(หว่ะ)”
มันหัวเราะ แล้วถามว่า “จริงเหรอ(วะไอ้สัด)” ผมตอบมัน ด้วยการยิ้ม และกัดแซนวิชคำโต แล้วเงยมองฟ้า เหมือนที่ชอบทำบ่อย ๆ
“คุณ(มึง)ว่าไหม คนเมืองนี้(แม่ง) ไม่ค่อยมองฟ้ากัน?” ผมเปลี่ยนเรื่อง
ในใจคิดว่า ไม่ใช่เพราะผมคิดถึงแม่ (ก็คิดถึงนะแม่นะ แต่แม่ยังไม่ใช่เหตุผลหลัก)
ไม่ใช่เพราะเบื่อที่จะเป็นพลเมืองชั้นสองที่นี่(อันนี้ก็ไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ในเมืองนี้)
ไม่ใช่เพราะสาวไทย (ป่าวเลย...สาวเกาหลี ญี่ปุ่นที่คบ ๆ อยู่ น่ารักเร้าใจกว่าเป็นกอง)
ไม่ใช่เพราะอาหารไทย

แต่ผมไม่อยากใช้ชีวิตแบบวัน ๆ หาเงินได้ ใช้เงิน ไปจนตายที่นี่ เหมือนที่คนประเทศนี้มันทำ ๆ กัน
ผมว่าชีวิตผมจะมีประโยชน์กว่าที่ประเทศแม่ผม (แม้เงินเดือนที่ผมจะได้ที่เมืองไทย จะเท่ากับที่ผมหาได้ในเวลาวันครึ่งที่นี่ ให้ตายเหอะ)
ผมขอแลกการได้เที่ยวยุโรปทุกปี มีรถหรู ๆ ขับ กับการที่มีคนไทยซักกลุ่มหนึ่งจำชื่อผมได้ว่าผมทำอะไรให้ประเทศเถอะนะ
ผมเชื่อ สังคมไทยคงจะดีขึ้น ไม่มากก็น้อย
แล้วเจอกัน ประเทศไทย

Sunday, February 05, 2006

Good Morning

เช้าวันหนึ่ง
เจ็ทแล๊ค ตื่นเช้า
ตึกซีซ่า เพลี่ ที่ดาวทาวน์ ก็ไปอยู่บนเมฆ
หนาวอิบหาย

อยากกินก๋วยจั๋บเยาวราช

Friday, February 03, 2006

ฤากงล้อประวัติศาสตร์ จะหมุนอีกครั้ง

เฮ้ย ๆ ๆ มันแปลก ๆ นะ
หลังจากที่ผมได้ติดตามเหตุการณ์ และได้คุยกับหลาย ๆ คน
ได้รับรู้ รับฟัง เรื่องราวอดีต และปัจจุบัน จากหลาย ๆ มุมมอง
จากที่ผมสังเกตเหตุการณ์ เล็ก ๆ และใหญ่ ๆ เริ่มเดินซ้ำ ๆ
ฤากงล้อประวัติศาสตร์ จะหมุนอีกครั้ง
ขอเล่าให้ฟังแบบเป็นหลักกิโลเมตร ของเหตุการณ์ ดังนี้แล้วกัน
(บางส่วนตัดมาจากเมลที่คุยกับ คนตุลา)

ถนนมันเริ่มจาก ทรราช และเผด็จการ
หลักกิโลเมตร ที่หนึ่ง ก่อนปี ๑๕ มีการชนกันระหว่าง นักหนังสือพิมพ์ กับ นักการเมืองใหญ่
หลาย ๆ ครั้งครั้งสำคัญคือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ประกาศลั่นใน หนังสือพิมพ์
ฝากไปถึงนักการเมืองใหญ่ของประเทศว่า“กูไม่กลัวมึง”
ซึ่งเป็นครั้งแรกของการแสดงความไม่เกรงกลัว หรือ หัวหด ต่อระบบเผด็จการ

หลักกิโลเมตรที่สองปี ๑๕ เกิดเหตุ “ทุ่งใหญ่นเรศวร”
ที่นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ใช้ เฮลิคอปเตอร์ราชการ
พาดาราสาว ๆ ไปสนุกสนานและล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร
ประชาชนโกรธแค้น เพราะรู้สึกว่า ประเทศชาติ และสมบัติชาติไม่ใช่ของคนไทยอีกต่อไป
แต่เป็นขอคนเพียงบางกลุ่ม

หลักกิโลเมตรที่สามจากเหตุการณ์ที่สอง
นักศึกษา รามฯ ออกในกรณีที่ออกหนังสือพิมพ์ประนามกรณี “ทุ่งใหญ่ฯ” อย่างรุนแรง
โดนอธิการบดี (ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์) ไล่ออก
นำมาสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ เต็มถนนราชดำเนิน
ในที่สุดรัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อต่อความกดดัน
ให้อธิการบดีรามฯ รับนักศึกษาเหล่านั้นกลับเข้าไปเรียน

หลักกิโลเมตรที่สี่ปี ๑๖ เกิดกรณี “๑๓ กบฎ รัฐธรรมนูญ”
ที่มีคนออกมาแจ้งจับนายรัฐมนตรี เรื่อง เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย
เอาผลประโยชน์ใส่กระเป๋าตัวเองและพวกพ้องปิดกั้นสื่อมวลชล
รัฐบาลเลยจับผู้ประท้วงทั้งสิบสามคนเข้าคุก
เกิดการเดินขบวนใหญ่ กลายเป็น “๑๔ ตุลา” หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน

หลักกิโลเมตรที่ห้าหลังจากการขับไล่ผู้นำเผด็จการออกไป
แต่ระบบระบอบ ยังคงเอื้อให้เกิดเผด็จการ เข้ามาครองประเทศอีก
ประกอบกับสมัยนั้น กระแสต่อต้านคอมมิวนิสรุนแรง
คำพูดที่ว่า “คอมมิวนิสที่ดี คือ คอมมิวนิสที่ตายแล้ว” ดังก้องอยู่ในใจประชาชนชาวไทย
นักศึกษาที่อึดอัดกับสภาพทางการเมือง ก็ออกมาชุมนุมเรียกร้องอีกครั้ง

หลักกิโลเมตรที่หกสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน
ซ้าย คือ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เข้าข้างนักศึกษา สุด ๆ
ขวา คือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ที่แสดงความเห็นบ่อยครั้งว่า นักศึกษา เป็น “คอมมิวนิส”
จุดแตกหักอยู่ที่ การแสดงละครของนักศึกษา มีฉากการแขวนคอ
ซึ่งหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา เอาไปลง แล้วให้ความเห็นว่า หน้าตาของคนที่โดนแขวนเหมือนพระบรมวงศานุวงค์
ทำให้ประชาชนบางกลุ่มลุกฮือ มาต่อต้านนักศึกษา

หลักกิโลเมตรที่เจ็ดปิดล้อมธรรมศาสตร์ โดยกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ
โดยคิดว่า ภายในธรรมศาสตร์ มีอาวุธซ่อนอยู่
และนักศึกษาเหล่านั้น ไม่ใช่คนไทย
ทหาร ตำรวจ ก็ยิง และบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ เหมือนการเข้าตี ป้อมค่าย ศัตรู
จับไอ้พวกที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิส มาฆ่าอย่างโหดร้าย
(นักศึกษาหญิงโดนข่มขืน เผาทั้งเป็น มีการทุบตีศพ อย่างโกรธแค้น)

จุดจบถนนสายนี้คือ นองเลือด ครับ

เส้นทางทรราช ที่จุดจบคือการนองเลือด ถึงกิโลเมตรที่เท่าไหร่แล้วหล่ะ
หวังว่าคงมีทางแยก อะไรก็ได้ ออกจากถนนสายนี้ ก่อนถึงจุดหมายนะ
มองอย่างฝ่ายซ้าย คือ พวกมันเป็นทรราช ต้องเอามันลง ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม
มองอย่างฝ่ายขวา คือ พวกปลุกระดม มีการปลุกระดมในกระแส และเหตุการณ์แบบเดิม ๆ ซึ่งเป็นกบฏ ต่อราชอณาจักร

ข้อสังเกตของผม คือ คนไทยไม่มีบทเรียนจากอดีตเลยหรือ
นั่นสิ เขาว่าคนไทยลืมง่ายไงประชาชน
ขณะนี้ เริ่มแบ่งเป็นสองขั้วอีกครั้ง
รักในหลวงเหมือนกัน แต่รักคนละแบบ
เนื่องจากรับข้อมูล และเข้าใจข้อมูลที่ต่างกัน
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ในเวบนี้ คือผมคิดว่า ไปเล่าที่ไหน คงไม่มีใครฟังหน่ะ
เขาว่าเขารู้ดีกันแล้ว
ประเด็นคือ เป็นห่วงเพื่อน ๆ ที่อยู่เมืองไทยนะ
คิดดี ๆ ถอยออกมาอีกก้าวนึง ดูอดีต ดูปัจจุบันให้ดี ๆ

ไปสวนลุมกันเถอะ แต่ไปแบบมีสติ ใช้ปัญญาคิดนะ
สู้ ๆๆๆๆ เอาประเทศเราคืนมา


เขียนเมื่อ วันนี้ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นิวยอร์ค

Thursday, February 02, 2006

เด็ก ๆ เอาเวลาไปทำอะไรหมดนะ?

ทุก ๆ วันนี้ งานหนัก อยากทำโน่น ทำนี่เต็มไปหมด
“ไม่มีเวลา” “เวลาไม่พอ” “เหนื่อย” เป็นความคิดแก้ตัวเดิม ๆ ที่ผุดขึ้นในหัว
และก่อนหลับตาทุกครั้งเคยคิดกันไหม ว่า ตอนเด็ก ๆ เราไม่เคยมีความคิดนี้เลย

เคยคิดกันไหม ว่า เวลาตอนเด็ก ๆ เราเอาไปทำอะไร
ทำไมเราไม่เอาไปเรียนภาษาจีนวะ
ทำไมเราไม่เอาไปเรียนเปียโนวะ
ทำไมเราไม่หัดวาดรูปวะ
ทำไมเราไม่อ่านหนังสือวะ
หรือหัดใส่ใจ และตั้งใจ ในสิ่งที่พ่อแม่พยายามจะสอน และยัดเยียดเรา
ถ้าเราตั้งใจในวันนั้น ชิวิตวันนี้คง “เจ๋ง” และ “สนุก” กว่านี้
ตอนเด็ก ๆ เวลาตั้งเยอะ มันหายไปไหนหมดวะ

ผมนั่งคิด คิดแล้วคิดอีก เวลาตอนเด็ก ๆ ผม มันหายไปไหนวะ
เช้าวันหนึ่ง ผมตื่นมา ก็ได้คำตอบบางอย่าง
เด็ก ๆ เป็นไหมรวมตัวกับเพื่อน ๆ แถวบ้าน
สามคนเป็น ซัลวันคัล ห้าคนเป็น โกกุนไฟว์
หากรวมกลุ่มไม่ได้ พวกเราจะเป็นนินจา ปีนป่าย หรือหาทางลอดตามรูต่าง ๆ ไปทั่วบ้าน

เล่นซ่อนแอบ ขี่จักรยาน
เตะบอลพลาสติกในซอยแถวบ้าน เสาประตูเป็นรองเท้าแตะหนึ่งคู่
กรรมการเป่าหยุดเกมทุกครั้งที่มีรถจะขับผ่าน หรือใครสักคนเตะบอลเข้ารั้วชาวบ้านเขา
หาไม้ไผ่มาทำเป็นกระบองสองท่อน เพื่อจะเป็นแพนเทอร์ ใน ทันเดอร์แคท
เก็บต้อยติ่งในซอยแถวบ้านเป็นกำ ๆ แล้วใส่ไว้ในกล่องเทป
แล้วดูมันทุกวันหากเก็บมาตอนมันเขียว
มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนสี ไล่มาจะปลาย จนเป็นสีดำ
หลาย ๆ วันต่อมา มันก็แตกของมันเอง ทิ้งเปลือกงอ ๆ กับเมล็ด เต็มกล่อง

มีความสุข และตื่นเต้นทุกครั้งที่นั่งรถเมล์ ไปจตุจักร (ซึ่งตอนนั้น คิดว่ามันไกลพอ ๆ กับสระบุรีตามความคิดวันนี้)
ไปซื้องู ซื้อหนู ซื้อปลา ซื้อเต่า ซื้อกระต่าย ซื้อไก่ มาเลี้ยง
ไม่กี่วัน แมวแถวบ้านก็ได้อิ่มทุกที ให้ตายเหอะ

เลี้ยงปลากัด เอามากัดกับเพื่อน ๆ
เก็บใบหูกวางมาหมัก ให้มันหายป่วยหลังการต่อสู้เร็ว ๆ
พยายามเพาะพันธุ์ ตามหนังสือ ซึ่งยากจริง ๆ
ตอนเลี้ยงปลา จะสนุกกับการได้เก็บตังค์ ซื้อปลาใหม่ ๆ มา
ทำให้รู้ว่า ปลาบางประเภทจะกัดตัวอื่น
หรือหากปลาตัวไหน ป่วย ว่ายเอียง ๆ สูตรคือ เอาไปแช่น้ำเกลือ และใส่ออกซิเจนให้สายนึง
มันจะมีโอกาสฟื้นได้แปดสิบเปอร์เซนต์

พยายามหาเงินกินขนมเอง ด้วยวิธีต่าง ๆ
การพับถุงกระดาษ พับทั้งวันเลย ได้บาทเดียว
ร้านขายปลาบอก ช้อนลูกน้ำมาขาย ได้กระป๋องละยี่สิบ ดีใจใหญ่
ตักได้สวิงนึงกะเอาผสมน้ำใส่กระป๋องไปขาย
ร้านมันก็บอกว่า กระป๋องนึงที่ว่า คือ เป็นกระป๋องที่มีแต่ลูกน้ำล้วน ๆ ไม่มีน้ำ
นึกออกไหมที่ลูกน้ำเป็นก้อน ๆ ดำ ๆ ทั้งกระป๋องเลยหน่ะ

มีปูเสฉวนขายอยู่หน้าโรงเรียน ขายตัวละสามบาท
เอากลับบ้านมา เอาไปใสไว้ในตู้ปลา
ทำให้รู้ว่า มันเป็นสัตว์น้ำเค็ม และจะตายในวันรุ่งขึ้น
และเสียอีกสามบาท กะปูอีกตัว เพื่อได้รู้ว่า น้ำเค็มไม่ใช่ น้ำผสมกับเกลือในครัว
ฯลฯ

คิดออกแค่ในสิบห้านาที ว่าตอนเด็ก ๆ เวลามันหายไปไหน
ก็ไม่คิดบ่นต่อแล้ว ว่าทำไมไม่ทำโน่น ทำนี่ตอนเด็ก ๆ วะ
จะให้เด็กมันมาหัดเขียนโปรแกรมทำดาต้าเบส
คงเป็นไปไม่ได้
มีอะไรในวัยเด็กมาเล่าไหม?
ถ้าไม่มี ลองนึก ๆ ดูสิ
นึกออกแล้ว

เผื่อได้ยิ้มได้นาน ๆ ในเช้าวันเครียด ๆ
เหมือนผมบ้าง

เขียนเมื่อ วันนี้ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ นิวยอร์ค