Monday, April 09, 2007

จะยิ้มทำไมทั้งวัน(วะ)?

สมัยผมทำงานที่นิวยอร์ค เมื่อปีก่อน
นิวยอร์ค ก็ยังคงเป็นมหานครของโลกเหมือนอย่างที่มันเคยเป็นเสมอมา

ในที่ทำงานเก่าของผม นอกเหนือจากอเมริกันแล้ว
เพื่อนร่วมงาน จริงๆ แล้วมีประมาณยี่สิบคน
แต่กลับมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างคาดไม่ถึง เมื่อมานั่งคิด

โปแลนด์ เชค เกาหลีใต้ ญึ่ปุ่น จาไมก้า ไนจีเรีย แทนซาเนีัย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ลาว เอกัวดอร์ สาธารณะรัฐโดมินิกัน และ ไทย


ผมสังเกตว่า เพื่อนชาวจาไมก้าของผม มันยิ้มอยู่ได้ทั้งวัน
ฟันขาวๆ ของมัน ตัดกับสีผิวน้ำตาลดำ และหัวเหน่งได้อย่างสะดุดตามาก

วันหนึ่ง ผมได้มีโอกาสยืนฉี่ข้างๆ มัน
หันไปมองหน้ามัน มันก็ยิ้มให้

ผมเลยถามมันตรงๆ แบบกวนๆ ยิ้มๆ ว่า
"นี่เอ็งเคยหยุดยิ้มไหมวะ?"

มันยิ้มกว้างกว่าเดิม
เขย่าตัว เสร็จภาระกิจ
แล้วตอบคำถามกวนๆ ของผมว่า

"The day is too short to be upset, man"

เสียงเพื่อน แทนซาเนีย ในส้วมที่ปิดอยู่
เฮดังลั่น แสดงความชอบใจในคำตอบ

ส่วนผม

ผมยังยิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึงคำตอบมัน

Saturday, April 07, 2007

เราต้องเลิกหาทางลัด คือหนทางพัฒนาชาติไทย

ทางลัดในที่นี้ มีตั้งแต่
เดินลัดสนาม ข้ามถนนใต้สะพานลอย
แทรงคิวซื้อตั๋วหนัง หรือเข้าห้องน้ำตามห้าง
จนถึง ทางลัดสู่ความรวย และความสำเร็จ

คำว่า “เลิกหาทางลัด” มาจากหลายเหตุการณ์
มันมาจาก
รู้จักรอ
รู้จักเข้าคิว
รู้จักที่จะอยู่ในระเบียบ
รู้จักที่จะเคารพสิทธิคนอื่น
รู้จักพอในสิทธิและความสามารถของตัวเอง

ใครขับรถต่างจังหวัดบ่อยๆ หากมีการซ่อมทางที่ปิดไปช่องทางวิ่งหนึ่ง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะมีรถประมาณ สิบเปอร์เซนต์ ลงไปวิ่งที่ไหล่ทาง
แล้วไปแทรกเอาข้างหน้า
นั่นคือต้นเหตุที่จะทำให้รถติดขึ้น
และจะทำให้รถลงไปวิ่งบนไหล่ทางมากขึ้น จนกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่ง

หากใครเคยขับรถในต่างประเทศ
ถ้ามีถนนปิดซ่อม หรือมีเหตุต้องรวบช่องทางวิ่ง
มันเป็นที่รู้กันว่า เขาจะสลับกันไป
คือ ซ้ายไปหนึ่งคัน ขวาไปหนึ่งคัน
หากถึงคิวทางขวา แต่รถคันทางขวาชักช้ายืดยาด
รถทางซ้าย ก็จะรอ หากรอไม่ไหว เขาก็บีบแตรด่า เร่งให้ไปเร็วๆ

นี่ไม่ใช่มารยาท
แต่มันคือบรรทัดฐาน
บรรทัดฐานแห่งการเคารพสิทธิคนอื่น
บรรทัดฐานแห่งการไม่ลัด

แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การเข้าคิวในห้องน้ำ
หากห้องน้ำมีหลายห้องให้เลือก
เขาจะยืนเป็นแถวเดียว
และห้องไหนว่างก่อน คนที่ยืนอยู่หัวแถว จะเป็นคนได้เข้าในห้องที่ว่างก่อน
ไม่ใช่ไปยืนเข้าคิว ที่หน้าห้องแต่ละห้อง แบบที่คนไทยทำกันบ่อยๆ
ใครซวยไปเจอห้องน้ำที่ปิดเสียไว้ ก็โชคร้าย ยืนรอไปเถอะ


เคยมีคำกล่าวว่า
ข้าราชการใหญ่ๆ โตๆ ใช้แค่สองอวัยวะ
คือ "ลิ้น" กะ "ตีน"
ลิ้นเลีย กะ ตีน ใช้วิ่ง
ไม่ได้ใช้ “หัว” คิด หรือ “มือ” สร้างผลงาน

"เลีย" และ"วิ่ง" คือ การหาทางลัดที่ชัดเจนแบบหนึ่ง
ลัดสู่ความใหญ่โต และลัดสู่ความบาดหมาง
ขึ้นไปนั่งอยู่บนหัวคนอื่น ด้วยความไม่ชอบธรรม
มีเสียงสาปแช่ง และคำก่นด่า
แม้ว่าเสียงเหล่านั้นจะมีแทรกๆว่า
“เส้นกูไม่ใหญ่บ้าง ก็แล้วไป”

หนังสือที่ขายดีมากเมื่อเร็วๆ นี้คือ
หนังสือจำพวก เส้นทางรวยลัด รวยเร็ว อยากรวยต้องรู้

การที่อยากเป็นเศรษฐีแบบ เร็ว และทางลัด
ทางปฏิบัติส่วนหนึ่ง คือ การเล่นหวย เล่นหุ้น
หวังลมๆ แล้งๆ ในความหวังเชิงสถิติที่แทบเป็นไปไม่ได้
ไม่ได้มี Productivity ให้ชาติมันพัฒนาขึ้น

ทางลัดสู่ความสนุกในการดูฟุตบอล
คือการนำเข้าการถ่ายทอดสด ฟุตบอลต่างประเทศ
ลัดข้ามกระบวนการพัฒนาฟุตบอลในประเทศไทย
อาจเป็นสาเหตุหลัก ที่บอลไทย จะไม่ได้ไปบอลโลกตลอดกาล
เพราะ เราหาแต่ทางลัด

อุตสาหกรรมหลายอย่าง เราอยากจะมี อยากจะเป็น แบบลัดๆ
เราจึงนำเข้าเทคโนโลยีอย่างเดียว
เป็น Technology Transplant
เหมือนนำต้นไม้ที่โตแล้ว มาปลูกในบ้านเรา
วันหนึ่ง เมื่อสายการพัฒนาทั้ง คน และเครื่องของเราขาดไป
จากนั้น เราก็ต้องนำเข้า (ทั้งคน ทั้งเครื่อง) ตลอดไป
เหมือนต้นไม้ใหญ่ บังแสง และแย่งอาหารต้นกล้าน้อยๆ ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกิดในบ้านเราเอง
ต้นกล้าน้อยๆ เหล่านั้น ก็เหี่ยว และตายไป

เศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวคิดแบบพอเพียง
คือการบอกให้เรา เลิกหาทางลัดได้แล้ว

มาดูตัวเองซะ
มีความสามารถแค่ไหน จงรู้ตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหน
จงรู้สิทธิเรา หน้าที่เรา เคารพสิทธิคนอื่น
ค่อยๆ เดินบนพื้นฐานที่มั่นคง
ค่อยๆ พัฒนา บนพื้นฐานความรู้ของเรา
สร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นใช้ในการพัฒนาได้

แนวคิดนี้ ไม่ได้บอกให้ ห้ามนำเข้า
แต่สอนให้ นำเข้าได้ แต่ต้องเรียนรู้ด้วย
การนำเข้าความรู้ หรือ คน ต้องไม่ใช่ “ทางออก”
แต่มองให้มันเป็น “กระบวนการ” เรียนรู้
เรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยการไม่นำเข้า ให้ "เร็วที่สุด"

"เร็วที่สุด" แบบไม่ลัดด้วยนะครับ อย่าลืม