Friday, February 03, 2006

ฤากงล้อประวัติศาสตร์ จะหมุนอีกครั้ง

เฮ้ย ๆ ๆ มันแปลก ๆ นะ
หลังจากที่ผมได้ติดตามเหตุการณ์ และได้คุยกับหลาย ๆ คน
ได้รับรู้ รับฟัง เรื่องราวอดีต และปัจจุบัน จากหลาย ๆ มุมมอง
จากที่ผมสังเกตเหตุการณ์ เล็ก ๆ และใหญ่ ๆ เริ่มเดินซ้ำ ๆ
ฤากงล้อประวัติศาสตร์ จะหมุนอีกครั้ง
ขอเล่าให้ฟังแบบเป็นหลักกิโลเมตร ของเหตุการณ์ ดังนี้แล้วกัน
(บางส่วนตัดมาจากเมลที่คุยกับ คนตุลา)

ถนนมันเริ่มจาก ทรราช และเผด็จการ
หลักกิโลเมตร ที่หนึ่ง ก่อนปี ๑๕ มีการชนกันระหว่าง นักหนังสือพิมพ์ กับ นักการเมืองใหญ่
หลาย ๆ ครั้งครั้งสำคัญคือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ประกาศลั่นใน หนังสือพิมพ์
ฝากไปถึงนักการเมืองใหญ่ของประเทศว่า“กูไม่กลัวมึง”
ซึ่งเป็นครั้งแรกของการแสดงความไม่เกรงกลัว หรือ หัวหด ต่อระบบเผด็จการ

หลักกิโลเมตรที่สองปี ๑๕ เกิดเหตุ “ทุ่งใหญ่นเรศวร”
ที่นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ใช้ เฮลิคอปเตอร์ราชการ
พาดาราสาว ๆ ไปสนุกสนานและล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร
ประชาชนโกรธแค้น เพราะรู้สึกว่า ประเทศชาติ และสมบัติชาติไม่ใช่ของคนไทยอีกต่อไป
แต่เป็นขอคนเพียงบางกลุ่ม

หลักกิโลเมตรที่สามจากเหตุการณ์ที่สอง
นักศึกษา รามฯ ออกในกรณีที่ออกหนังสือพิมพ์ประนามกรณี “ทุ่งใหญ่ฯ” อย่างรุนแรง
โดนอธิการบดี (ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์) ไล่ออก
นำมาสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ เต็มถนนราชดำเนิน
ในที่สุดรัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อต่อความกดดัน
ให้อธิการบดีรามฯ รับนักศึกษาเหล่านั้นกลับเข้าไปเรียน

หลักกิโลเมตรที่สี่ปี ๑๖ เกิดกรณี “๑๓ กบฎ รัฐธรรมนูญ”
ที่มีคนออกมาแจ้งจับนายรัฐมนตรี เรื่อง เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย
เอาผลประโยชน์ใส่กระเป๋าตัวเองและพวกพ้องปิดกั้นสื่อมวลชล
รัฐบาลเลยจับผู้ประท้วงทั้งสิบสามคนเข้าคุก
เกิดการเดินขบวนใหญ่ กลายเป็น “๑๔ ตุลา” หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน

หลักกิโลเมตรที่ห้าหลังจากการขับไล่ผู้นำเผด็จการออกไป
แต่ระบบระบอบ ยังคงเอื้อให้เกิดเผด็จการ เข้ามาครองประเทศอีก
ประกอบกับสมัยนั้น กระแสต่อต้านคอมมิวนิสรุนแรง
คำพูดที่ว่า “คอมมิวนิสที่ดี คือ คอมมิวนิสที่ตายแล้ว” ดังก้องอยู่ในใจประชาชนชาวไทย
นักศึกษาที่อึดอัดกับสภาพทางการเมือง ก็ออกมาชุมนุมเรียกร้องอีกครั้ง

หลักกิโลเมตรที่หกสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ แบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน
ซ้าย คือ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เข้าข้างนักศึกษา สุด ๆ
ขวา คือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ที่แสดงความเห็นบ่อยครั้งว่า นักศึกษา เป็น “คอมมิวนิส”
จุดแตกหักอยู่ที่ การแสดงละครของนักศึกษา มีฉากการแขวนคอ
ซึ่งหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา เอาไปลง แล้วให้ความเห็นว่า หน้าตาของคนที่โดนแขวนเหมือนพระบรมวงศานุวงค์
ทำให้ประชาชนบางกลุ่มลุกฮือ มาต่อต้านนักศึกษา

หลักกิโลเมตรที่เจ็ดปิดล้อมธรรมศาสตร์ โดยกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ
โดยคิดว่า ภายในธรรมศาสตร์ มีอาวุธซ่อนอยู่
และนักศึกษาเหล่านั้น ไม่ใช่คนไทย
ทหาร ตำรวจ ก็ยิง และบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ เหมือนการเข้าตี ป้อมค่าย ศัตรู
จับไอ้พวกที่คิดว่าเป็นคอมมิวนิส มาฆ่าอย่างโหดร้าย
(นักศึกษาหญิงโดนข่มขืน เผาทั้งเป็น มีการทุบตีศพ อย่างโกรธแค้น)

จุดจบถนนสายนี้คือ นองเลือด ครับ

เส้นทางทรราช ที่จุดจบคือการนองเลือด ถึงกิโลเมตรที่เท่าไหร่แล้วหล่ะ
หวังว่าคงมีทางแยก อะไรก็ได้ ออกจากถนนสายนี้ ก่อนถึงจุดหมายนะ
มองอย่างฝ่ายซ้าย คือ พวกมันเป็นทรราช ต้องเอามันลง ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม
มองอย่างฝ่ายขวา คือ พวกปลุกระดม มีการปลุกระดมในกระแส และเหตุการณ์แบบเดิม ๆ ซึ่งเป็นกบฏ ต่อราชอณาจักร

ข้อสังเกตของผม คือ คนไทยไม่มีบทเรียนจากอดีตเลยหรือ
นั่นสิ เขาว่าคนไทยลืมง่ายไงประชาชน
ขณะนี้ เริ่มแบ่งเป็นสองขั้วอีกครั้ง
รักในหลวงเหมือนกัน แต่รักคนละแบบ
เนื่องจากรับข้อมูล และเข้าใจข้อมูลที่ต่างกัน
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ในเวบนี้ คือผมคิดว่า ไปเล่าที่ไหน คงไม่มีใครฟังหน่ะ
เขาว่าเขารู้ดีกันแล้ว
ประเด็นคือ เป็นห่วงเพื่อน ๆ ที่อยู่เมืองไทยนะ
คิดดี ๆ ถอยออกมาอีกก้าวนึง ดูอดีต ดูปัจจุบันให้ดี ๆ

ไปสวนลุมกันเถอะ แต่ไปแบบมีสติ ใช้ปัญญาคิดนะ
สู้ ๆๆๆๆ เอาประเทศเราคืนมา


เขียนเมื่อ วันนี้ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นิวยอร์ค

No comments: