Thursday, February 09, 2006

ภูเรือ episode 3 “พี่คำภู พาเดินป่า”

“บ่ายนี้เดี๋ยวพาไปเดินป่า”
พี่คำภู ผู้นำทางกิติมศักดิ์ ร่างเล็ก วัยประมาณห้าสิบ เอ่ยปากบอกยิ้ม ๆ ด้วยสำเนียงพื้นถิ่น

พวกเรา สถาปนิกหนุ่มสาว ชาวกรุง หลังจากจบมาหมาด ๆ ทำงานได้สามสี่เดือน
ทางที่ทำงานที่แสนดี ก็ส่งพวกเราเด็กเข้าใหม่อย่างพวกเรา มาพักผ่อนกัน

“ไร่ชัชนาถ” บ้านสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
ที่นี่มีสองร้อยกว่าไร่ หกเจ็ดปีก่อน ยังเป็นเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้เป็นป่า
ป่าที่นี่เป็นป่าปลูก ปลูกด้วย “แรงคนสองคน ขี้จากวัวหนึ่งฝูง กับน้ำหนึ่งบ่อ”
(แล้วจะบอกประวัติใน episode 1-2 เรื่องยาว แต่น่าจะสนุก)

หกปีผ่านไป ป่าปลูกตอนนี้ ดูครึ้มแล้ว
แดดลงตรงหัว แต่อยู่ใต้ผืนใบไม้แล้วรำไร อากาศไม่ร้อน ไม่หนาว เหมาะกับการเดินเล่นในป่ามาก

“พี่คำภู นี่ต้นอะไรครับ” พวกเราเปิดคำถาม เพียงเห็นต้นไม้ มีเกล็ดแดง ๆ แปลก ๆ ตรงปากทางเข้า
พี่คำภูหันกลับมา “อันนั้นไม้แดง”
เออ แฮะ เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นไม้แดงที่เป็นต้น ๆ
สีมันแดงจริง ๆ ด้วย แต่เนื้อไม้ข้างในไม่ยักกะแดงอย่างนี้นะ ผมคิดในใจ

“พี่ ๆ นี่ต้นอะไรครับ”
“นี่ต้นมะค่า เห็นไหม รอบ ๆ ต้นวัชพืชขึ้นไม่ได้ เพราะมันมียางหยด” พี่คำภูอธิบาย พลางชี้ไปใต้ต้นมะค่า
เห็นน่าจะจริงอย่างที่พี่เขาว่า เพราะรอบ ๆ ต้นไม่มีหญ้า ไม่มีอะไรเลย มีแต่ฝุ่นดิน
“...เออ มะค่านี่แพงนะเนี่ย...” “...มันมาจาก “มีค่า”ไง...”
กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวเถียงกันเอง ดูครึกครึ้น

พี่คำภูไม่ว่าอะไร ยิ้ม ๆ แล้วเดินต่อ
“พี่ ๆ นี่ต้นอะไรครับ”
พี่คำภูยังไม่ทันตอบ มีเสียงเถียงกันเองดังขึ้นเสียก่อน
“ต้นสัก ไงเล่าไอ้ฟาย แค่นี้ก็ไม่รู้”
“กว่าจะได้วงกบประตูสักอัน ก็น่าจะสิบปีขึ้นนะเนี่ย”
“สักนี่ดีนะ สีสวย ใช้แค่ชแล็กทา สีจะเนียนมาก คนถึงนิยมใช้ไง”
บทสนทนาระหว่างสถาปนิก อธิบายกันเอง
“สักนี่ใบใหญ่ หนอนแยะ กว่าจะโตได้ ลำบาก” พี่คำภูแทรกคำอธิบาย ระหว่างการเดินขึ้นเนินเล็ก ๆลูกหนึ่ง
“...มิน่าหล่ะ ถึงแพง...” เสียงเบา ๆ ดังจากกลุ่มสถาปนิก

พี่คำภูไม่ว่าอะไร ยิ้ม ๆ แล้วเดินต่อ พลางเอาพร้าตัดหญ้าสาบเสือ ถางทางให้เด็ก ๆ ที่ตามมา
แกคงเกรงพวกเราจะลำบาก

“ต้นนั้น ยางนา ...ต้นนี้ ตะแบก... อันนี้คล้าย ๆ กัน สเลา...”
พี่คำภูรู้แกว ตอบเสียก่อน ไม่รอให้พวกเรา กลุ่มสถาปนิกจำไม ต้องถาม
“...สเลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกร่อน...” ผมเอ่ยออกมาโดยไม่ตั้งใจ เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรจากกลุ่มเพื่อน ๆ
ต่อมานึกออกว่า จำประโยคนี้มาจากพวกเพื่อนภูมิสถาปนิก มันเคยท่องกันตอนสอบวิชาพันธุ์ไม้ ตอนปีสาม
พอเดินไปใกล้ ๆ เออ ใบกับทรงพุ่มมันเหมือนกันเลย แต่ต่างกันตรงเปลือกไม้จริง ๆ

“...อันนี้ประดู่ ต้นเล็ก ๆ นั่นชิงชัน...” พี่คำภูยังทำหน้าที่ของแกต่อ เพราะแกรู้จักทุกต้น เพราะปลูกมากับมือ
เสียงความเห็นดังจากกลุ่มสถาปนิกอีกครั้ง “เออ ชิงชันนี่เขาว่าลายสวย เดี๋ยวไปดูที่พื้นบ้านหลังแรกสิ สงสัยจะชิงชัน”

จากข้อมูลของพี่คำภู ต้นไม้พวกนี้ เริ่มปลูกพอ ๆ กัน หกปีก่อน
ทำให้เรารู้ได้เลยว่าต้นไม้ชนิดไหนโตเร็วโตช้า
ต้นสัก กับมะค่า ลำต้นนี่โตซักสองฝ่ามือกำได้ แต่ทรงพุ่มต่างกัน สักจะสูงชะลูด แต่มะค่าจะเป็นพุ่ม ๆ
รอบวงของไม้แดง ยังเพิ่งประมาณ มือครึ่งกำได้
ชิงชันยังแทบจะกำรอบได้ด้วยมือเดียว
ขณะที่พวกต้นสน จะใหญ่ที่สุด ประมาณว่าซักสามมือกำเห็นจะได้

พวกเราพอมีข้อสรุปในใจได้เล็กน้อยว่า
ไม้ที่โตช้า จะเป็นไม้เนื้อแข็ง
ส่วนไม้โตเร็วเป็นไม้เนื้ออ่อน
ส่วนเนื้อไม้ กับสี ก็จะต่างกันไปตามชนิด

พวกเรา ฝ่าดงใบสักแห้ง ๆ เดินกันเสียงกรอบแกร๊บมาสักพัก
พี่คำภูมาหยุดที่ไผ่กอนึง
พี่เขาอธิบายว่า นี่เรียกว่า “ไผ่บง ...บง ภาษากลาง แปลว่าป่านั่นแหล่ะ”
“อ๋อ นี่ไผ่ป่าธรรมดานี่เอง” เสียงพวกเราตอบเป็นลูกคู่
“กิ่งขนาดนี้ เอาไปตีไล่วัวได้”พี่คำภู อธิบายพลางหักกิ่งไผ่เล็ก ๆ ออกมา กิ่งหนึ่ง
พี่คำภูมองไปที่หน่อไผ่ที่มีร่อยรอยตัดใหม่ ๆ และบอกพวกเราว่า
“แล้วเย็นนี้คงได้กิน แกงจืดหน่อไม้ดองของแม่คำภานะ”
(พี่คำภา เป็นภรรเมียของพี่คำภู ทำอาหารอร่อยสุดในจังหวัดแถบนี้ ตามความเห็นผม)

“ไป เดี๋ยวไปนั่งพักที่เพิงนั้น” พี่คำภูชี้ไปเพิงพักเล็ก ๆ อยู่ที่ยอดเนินไม่ไกล

พวกเราพักเหนื่อยที่เพิงไม้ไผ่นั้น ลมเย็นเอื่อย ๆ พัดมา ทำเอาเหงื่อที่ชุ่มหลังอยู่นิด ๆ ให้ได้เย็นสบายกันทุกคน

เพิงนี้ ก็ทำจากไผ่บงกอนั้นแหล่ะ ตัดแป๊บเดียว มันก็โตกลับมาเหมือนเดิม พี่คำภูบอก พร้อมออกความเห็นต่อว่า ไผ่นี่มีประโยชน์หลาย
กินหน่อก็ได้ เอามาสร้างบ้านก็ได้ กิ่งยังเอาไปตีวัวได้อีก

เสียงกระเดื่องวัว ดังก๊อง ๆ จากชายป่า เหมือนพวกมันรู้ว่า จวนได้เวลากลับคอกที่ตีนเขาแล้ว หลังจากพี่คำภูต้อนพวกมันออกมาหาหญ้ากินตั้งแต่เช้า

ความเงียบปกคลุม เสียงลมจากปลายยอดไม้ สานรับกันดีกับจังหวะของลม
“ไม้อะไรสวยสุดวะ ถ้าจะสเปคเอาไปทำปาร์เก้หน่ะ” สถาปนิกหนุ่มชาวเมืองเริ่มเปิดคำถามทำลายความเงียบนั้น
“ไม้แดงไหม จะได้แดงทั้งพื้น เท่ห์ดี”
“ไม้แดงไม่ค่อยใช้กัน มันแข็งไป ยืดหดตัวเยอะด้วย เดี๋ยวพื้นจะโก่งเป็นเนิน ๆ หมดบ้าน” สถาปนิกสาวให้ข้อมูล
“ไม้สักก็ดีนะ ปลวกไม่กิน สีสวยดีด้วย”
“กินเว้ย ถ้ามันหิว ๆ ก็กิน บ้านกรูนี่ โดนไปแล้ว”
“ชิงชันไง แข็งสุด แต่กว่าจะได้แต่ละชิ้น สามสิบปีหล่ะมั้ง”
“ไม้มะค่าไง แพงสุด แต่ต้องคัดสีให้เสมอกันด้วยนะ ไม่งั้นบ้านลายตาแย่”
ฯลฯ
เถียงกันทั้งวันคงไม่จบ พวกเราคงตัดสินกันไม่ได้ เลยหันไปถามพี่คำภู

พี่คำภูมองพวกเราเถียงกันอยู่นาน ตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ยิ้ม ๆ ตามสำเนียงคนพื้นถิ่นเหมือนเคยว่า

“คนเมืองนี่หล่ะหนา ชอบตัดสินความงามจากสิ่งที่ตายแล้ว”


เย็นวันนั้น ขากลับจากเนินเขา ต้องผ่านป่าผืนเดิม
ฝูงสถาปนิกชาวเมือง ถูกต้อนด้วย “กิ่งไผ่บง” ในมือพี่คำภู
พวกมันเหล่านั้น ยอมกลับไปกินข้าวเย็นแต่โดยดี


ขอบคุณอัจฉรา และพี่ณี ที่ช่วยย้ำข้อมูลต่าง ๆ

6 comments:

Gelgloog said...

อืม......

อ่านแล้วได้คิดเลยนะเนี่ย

ว่าแต่

สรุปว่าไม้สักนี่เป็นไม้เนื้อแข็งหรืออ่อนกันแน่ครับ อยากรู้เหมือนกัน เพราะเคยได้ยินมาว่าไม้สักเป็นไม้เนื้ออ่อน

แล้วเนื้ออ่อนกะแข็งมันต่างกันยังไงหละเนี่ย อ่านๆไปแล้วก็ชักอยากรู้แฮะ

แต่พี่ภูนี่เท่จริงๆนะ คำพูดคำจาเหมาะจะเป็นยอดคนมาก อิอิ ประโยคเดียว เรียบๆ นิ่มๆ แต่ทิ่มแยงเข้าไปเต็มๆ

a portrait of the engineer as a young man said...

ไม้เนื้ออ่อนครับแต่ยางไม้สักมีคุณสมบัติต้านการชอนไชจากแมลง(แต่แพ้นักการเมือง)จึงเป็นที่นิยมใช้(จนหมดบ้านหมดเมืองไปแล้ว)

ด้วยความจริงใจ
อนารยชนโรแมนติก

LekParinya said...

สักเป็น เป็นไม้เนื้ออ่อนถูกแล้ว อย่างที่คุณทั้งสองเข้าใจเลยครับ

เนื้อแข็ง เนื้ออ่อน ตัดสินด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ครับ
โดยเอาชิ้นไม้ ไปทดสอบใน ห้องทดลองทางวัสดุศาสตร์
จะมีเกณฑ์หน่ะครับ ถ้าค่าความแข็งเกิน ...หน่วย (จำไม่ได้แล้ว)
ก็ถือว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง

ทดสอบด้วยตัวเองง่าย ๆ คือ ใช้เล็บกดดูก็ได้ครับ
ถ้าเป็นรอย ก็เป็นไม้เนื้ออ่อนแน่นอน

แต่หลายคนสงสัยว่า เมื่อ สัก เป็นไม้เนื้ออ่อนทำไมปลวกไม่กิน
อันที่จริงไม่เกี่ยวครับ อ่อนแข็ง มันกินหมด แต่สักจะมีโอกาสถูกกินน้อยกว่า
รุ่นพี่สถาปนิก เขาบอกมาว่า ไม้สักมีสารอะไรสักอย่าง ที่ทำให้ปลวกมันไม่ชอบกิน
(พี่เขาใช้คำว่า ปลวกมันเผ็ด-ไม่รู้พี่เขาคงเคยคุยกับปลวกกระมัง)
คำอธิบายที่ดีกว่า คือคำตอบของคุณ "a portrait of the engineer as a young man"

อย่างไรก็ตาม หากปลวกหิว ไม่มีอะไรกินแล้วเนี่ย ของเผ็ด ๆ ก็พอแหลกได้ครับ
อีกอย่างคือ ไม้สักชื้น ๆ ครับ มันคงเผ็ดน้อยลง เลยกินอร่อยเหมือนวงกบหน้าต่างบ้านผมครับ
อ้ายปลวก ฮาร์ดฉิบ!!!! 55555
(ตกลงคำนี้ มันแปลว่าอะไรครับ Mr.GELGLOOG ผมยังไม่รู้เลย แล้วเป็นศัพท์แพร่หลายหรือยังครับ เพื่อกลับไปจะได้ไม่ตกยุค)

a portrait of the engineer as a young man said...

แล้วจะมาเยี่ยมอีกตามโอกาสอำนวยครับ
ด้วยความจริงใจ
อนารยชนโรแมนติก

Gelgloog said...

ขอขอบคุณคำตอบของทุกท่านเลยนะครับ ไขข้อข้องใจได้กระจ่างเลยทีเดียว

ละก็ขอถือโอกาสนี้ตอบคำถามที่ทุกท่านฝากถามมาด้วย

"ฮาร์ดชิบ" คืออะไร??

มันเป็นคำอุทานในกลุ่มเพื่อนพวกผมเองครับ หาได้มีความหมายสลักสำคัญอันใด เป็นคำที่เอาไว้ใช้แสดงอารมณ์ เช่นว่า

"อาเชียย ไอ้...ไม่อาบน้ำมาสามวัน แม่งฮาร์ดชิบ"

"ไอ้สึด แพล่มเหี้ยอะไรวะเนี่ย น้ำลายกระเด็นใส่เต็มหน้ากูหมดแล้ว แม่งฮาร์ดจิง"

ประมาณเนี้ยอะครับ จริงๆยังมีตัวอย่างอีกเยอะนะ แต่มันจะมาแนวไม่ค่อยมีสกุลรุนชาติเท่าไหร่น่ะครับ หวังว่าทุกท่านคงไม่ถือสา

แล้วไว้คุยกันใหม่ครับ

LekParinya said...

ฮ่า ๆ ขอบคุณมากคุณ Mr.GELGLOOG แล้วจะลองไปใช้ดูครับ

ขอบคุณ aksorn
ตอนแรกก็เขียน เสลา นั่นแหล่ะ
แต่กลัวคนอ่านเป็น เส-ลา
ซึ่งจริง ๆ อ่านว่า สะ-เหลา

อัน "เสลา" นี้เป็นคำไทยแท้ แต่ราชบัณฑิตฝ่ายอักษรศาสตร์ สัญนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่ามาจากสันสกฤต เนื่องจากที่แคว้น สิขิม ทางตอนเหนือชมพูทวีป มีต้นนี้มากมาย เรียกว่า สฺลา



ถ้าเลิกปวดหัว และเลิกมีอารมณ์กับการเมืองบ้านเราได้แล้ว จะเอาเรื่อง ภูเรือ มาเล่าให้ฟังอีก
หรือ คุณ aksorn จะรับไปเล่าสักตอนไหม
เหมือน สตาร์วอร์ กำกับกันหลาย ๆ คน ได้รส อีกแบบ

(นี่อ้างเรื่อง "เสลา" มานั้น เป็นเรื่องแต่งทั้งสิ้น อย่าเชื่อ แต่งขึ้นเพื่อให้ตกใจเล่น ๆ ว่าภาษาไทยยังไม่อ่อนแอแต่ประการใด:)