Saturday, July 01, 2006

Revolutionary Wealth (1/5)

หนังสือเล่มใหม่ของ นายอัลวิน ทัฟเฟลอร์
นักอนาคตศาสตร์ผู้เขียนเรื่อง คลื่นลูกที่สาม เมื่อกว่าสิบปีก่อน
ในเล่มนั้นเป็นคนออกมาบอกว่า โลกกำลังจะเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม
คือ ยุคข้อมูลข่าวสาร

ในเล่มนี้ เขากลับมาบอกเป็นแนวๆ ว่า
ความมั่งคั่ง กำลังจะเปลี่ยนอีกที

กาละ เทศะ ปัญญา
เป็นสามพื้นฐานของความมั่งคั่ง
เมื่อ กาละ คือ Time
เทศะ คือ Space
ปัญญา คือ Knowledge

ในประเด็นเรื่อง Time
หมอนี่ พูดถึง ความเคลื่อนไหว ที่ไม่ประสานกัน
Unsynchronized Speed ของเจ็ดองคาพยพหลักในสังคม
โดยเขาเทียบออกมาเป็นความเร็วรถบนทางหลวง
รถคันแรก วิ่งอยู่ที่ ร้อยยี่สิบ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ “วงการธุรกิจ”
คันต่อมา ร้อย กม./ชม. คือ “องค์กรอิสระ”
เจ็ดสิบ กม./ชม. “องค์กรต่างประเทศ”
ห้าสิบห้า กม./ชม. “รัฐ”
ยี่สิบกม./ชม. “การเมือง”
สิบกม./ชม. “การศึกษา”
ห้ากม./ชม. ซึ่งเดินยังเร็วกว่า คือ“กฎหมาย”
ความเร็วพวกนี้คือ บริบทของ อเมริกา

แต่อ่านแล้ว ผมชอบในแนวคิดของเขา
มามองแบบประยุกต์กับไทยดูบ้าง
ลำดับความเร็วอาจ สลับๆ กับอเมริกาบ้าง และอาจไม่เร็วเท่า
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ
เมื่อความเร็วไม่เท่ากันแล้ว
ปัญหาก็ต้องเกิด

มองมาที่ประเทศไทย
ปัญหาที่ขัดแย้งนี้
อาจเนื่องจาก วงการธุรกิจ ดันไปเป็นเรื่องเดียวกับการเมือง
องค์กรอิสระ และราชการเราก็ต้องเร่งเครื่อง
เครื่องพังไปบ้าง เกิดอุบัติเหตุไปบ้าง

การศึกษาที่เหมือนตุ้มถ่วงอยู่ กลับถ่างปัญหาสังคม และชนชั้นมากขึ้น
กฏหมายที่ล้าหลังที่สุด ดูเหมือนจะถูกผูกเชือก ลากถูลู่ถูกัง กันแทบไม่เหลือ

ในประเด็นเรื่อง เทศะ หรือ Space
แม้ว่าทำเลทองในการขายของ จะมีความสำคัญน้อยลงไป
แนวคิดของหมอนี้ เขาหันกลับมามองทางเอเชียเรา
ฐานความมั่งคั่ง จะมาทาง อินเดีย จีน ซึ่งเป็นฐานผลิตใหม่
ทั้งเศรษฐกิจคลื่นลูกที่สอง และสาม คืออุตสาหกรรม และบริการ
เช่นโรงงานในหลายมลฑลของจีน
หรือแม้แต่ Call Center ที่ Outsource ออกไปอินเดีย
หรือ ฐานพัฒนาซอฟท์แวร์ ในซิลิกอนวัลเลย์ ใน บังกะลอ

แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ไม่ลืมที่จะถกถึงปํญหาที่จะถาโถมซัดเป็นผลกรรมในการโหมเศรษฐกิจ
ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ปัจจัยสุดท้ายคือปัญญา
นายนี่กล่าวเป็นการเกริ่นว่า
ยุคข้อมูลข่าวสาร กำลัง ก้าวเข้าสู่ ยุคการติดต่อสื่อสาร (Communication Age)

ความจำในหัวสมองมนุษย์ อาจมีความจำเป็นน้อยลงไป
หากเรามี “เครื่องมือ” ที่จะเข้าถึง “สมองของโลก”
หรือ อินเตอร์เนท นี่เอง

การเฉือนกัน ทางธุรกิจในยุคนี้คือ
สำคัญอยู่ที่เรา จะเปลี่ยน และกรอง ข่าวสารเหล่านี้
ให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และพัฒนาไปเป็นความรู้

ความรู้ เป็นทรัพยากรที่ต่างจาก ทรัพยากรใดๆ บนโลก
กล่าวคือ จับต้องไม่ได้
ยิ่งใช้ ยิ่งมีมาก
หากเอาไปวางข้างๆ กับความรู้อื่น จะขยายตัว อาจก่อเกิดเป็นอะไรใหม่ๆ
สำคัญคือ หาความรู้ใด แยกตัวไปอยู่เดี่ยวๆ อาจจะกลายเป็นล้าหลังในทันที

และเนื่องจากโลกที่ดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้เป็นไปได้ว่า
ความรู้ที่ได้มาวันนี้ กลับจะล้าหลังในวันพรุ่งนี้
Obsolete + Knowledge = Obsoledge
(นักวิชากรพวกนี้ ชอบสร้างคำเก๋อยู่เรื่อยไป อาจเป็นพวกเดียวกับนักวิชาการยุคเดือนตุลาฯ)

นี่คือการสรุปความตามที่ผมเข้าใจใน หนึ่งร้อยหน้าแรก จากห้าร้อยหน้าของหนังสือ
ยังอ่านไม่จบแหล่ะครับ แต่ทำสรุปไว้ก่อน กันลืม
คาดว่า ในช่วงหลังๆ ของเล่มนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ลงลึกมากขึ้น

ผมไม่เคยอ่านหนังสือของนายคนนี้มาก่อน
แต่พอสัมผัสได้ว่า หมอนี่มองโลกเป็นตะวันตกมากๆ
มีการมองเฉี่ยวๆ ไปทางตะวันออก เรื่องนิพพาน เรื่องศาสนาบ้าง
แต่เหมือนถอยออกมา ในย่อหน้าถัดไปทันที

ในร้อยหน้าแรกที่ผมอ่าน
มีการกล่าวถึงชื่อหลายประเทศในโลก
และหลายประเทศในทวีปเอเชีย ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร มาเลย์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์
ความน่าสนใจคือ
ไม่มี Thailand สักคำเดียว

ประเทศตะวันตกตอนนี้ มันไปวิ่งเป็นมดตื่น ไปทางจีน กับ อินเดียแล้ว
จะให้เขาหันมามองประเทศเราด้วยการแข่งทาง “อุตสาหกรรม” หรือ “ไอที” นั้น
อาจเป็นการ “จุดไม้ขีดให้สว่างสู้กับดวงตะวัน”

ผู้นำเราที่เคยได้ชื่อว่าจะเป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม”
ท่านจะรู้หรือไม่ว่า คลื่นทั้งสามลูกนั้น มันอยู่ในประเทศเดียวได้

ยิ่งเห็นนโยบายท่านหลายๆ อันแล้วผมก็เหนื่อยใจ

หากประเทศเรารู้จักประเมินตนเอง
เกษตรคือสิ่งที่เราถนัด
ไม่ต้องเป็น นิกส์ ไม่ต้องเป็น ฮับ บ้าบออะไรเลย

ทางรอดของเรา อาจอยู่ที่แนวคิดอันประเสริฐยิ่งอันเดียวว่า “พอเพียง”
รู้จักคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง หรือไม่ครับท่านผู้นำ?

3 comments:

Anonymous said...

ขอว่าเป็นประเด็นๆ นะ


.....ธุรกิจ (ในความหมายของผมคืออุตสาหกรรมและการลงทุนข้ามชาติ) นั้น โดยตัวมันมันก็ทะลวงขอบเขตของรัฐหรือพรมแดนประเทศอยู่แล้ว ในยุคแห่งการ globalization ในเชิงเศรษฐกิจ ระบบการปกครองแบบอำนาจรัฐ เช่นการสั่งการแบบ top-down ขั้นตอนต่างๆ ในการบัญญัติกฎหมาย ฯลฯ ย่อมตามไม่ทันอยู่แล้ว


.....ความรู้ที่แยกเดี่ยวๆ โดยเฉพาะการพยายามสร้างทฤษฎีที่เข้าใจยากๆ และตายตัวกำลังจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในยุคที่ข้อเท็จจริงและสภาพการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่วงการการศึกษายังมีแต่พวกบูชาทฤษฎีเนี่ย ถามว่ามันจะตามทันไหม?



.....เดี๋ยวนี้การเป็นผู้รู้นั้นไม่มีความหมายพิเศษอันใด เนื่องจากใครๆ ก็เข้าถึงความรู้ได้ ความรู้ไม่ใช่ของตายตัวที่สงวนไว้ให้แก่คนกลุ่มหนึ่งอีกแล้ว ก็เลยไม่ใช่ของที่ใครจะกราบไหว้หรือพิทักษ์รักษาว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์อีก ในขณะเดียวกันโลกที่เต็มไปด้วย information นั้น มันมีสิ่งมีค่าได้พอๆ กับขยะ ปัญหาก็คือเราจะแยกได้อย่างไรว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีค่าที่ต้องการ และอะไรเป็นขยะ ฉะนั้นก็ นะ การเรียนโดยเน้นแต่ความรู้นั้นเป็นสิ่งไร้ความหมาย การศึกษาควรเน้นเพาะความสามารถในการคิดและแสดงออกทางความคิดต่างหาก รวมถึงการนำไปใช้ด้วย แต่พูดไปก็เท่านั้น บุคลากรในวงการนี้โดยมากมักเป็นคนรุ่นบูชาความรู้เป็นหลักเสียด้วยสิ คาดว่าคนต้องรอให้คนรุ่นที่ว่าตายหมดเสียก่อน



......คลื่นสามลูกอยู่ในประเทศเดียวกันได้จริงๆ ครับ ไม่ต้องอื่นไกลไปดูที่พันทิพสิ มีทั้งแผงขายพระเครื่อง (คลื่นลูกที่หนึ่ง) ร้านขายของทั่วไป ร้านอาหาร (คลื่นลูกที่สอง) ยันอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ (คลื่นลูกที่สาม)เห็นมะ
//ผมล้อเล่นน่ะ

natsima said...

เห็นมีขายที่ Asia Book (in BKK) แล้วครับ


อยากหยิบมาอ่านเหมือนกันแต่ "ผู้มีบารมี" ของผมบอกว่าให้อ่าน The World is Flat กะ The Next Global Stage ให้จบซะก่อน

นัยหนึ่งคือเธอคงจะรอให้แบบ paperback ออกมาอ่ะนะ (ราคาถูกลงกว่าครึ่ง!)

ช่วงนี้ก็ขออนุญาตอ่านบรีฟของคุณปริญญาไปพลางๆ

LekParinya said...

คุณ natsima

the world is flat ก็น่าสนใจครับ
ได้อ่านคร่าวๆ แล้ว ดูเหมือนเป็นข้อคิดในการต้านกระแสได้ดีทีเดียว

เสียดายแต่ ราคาบน อเมซอน ยังแพงกว่ายี่สิบเหรียญ
ไว้อ่านจบแล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ