Wednesday, June 14, 2006

คุณรักในหลวงถูกทางหรือไม่?

ผมยอมรับว่า
ผมเป็นคนหนึ่งที่ดูหนังโฆษณา “In your heart” แล้วน้ำตาไหล ดูกี่ทีก็ไหล
ผมได้อ่านที่ท่านทรงงานในโครงการพัฒนาต่างๆ ผมน้ำตาซึมทุกที
ทุกครั้งที่ผมอ่านพระราชดำรัส ผมจะอ่านครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะมันช่างลึกซึ้งเสียเหลือเกิน
และทุกครั้งที่ผมพูดถึงในหลวง ให้คนอื่นได้รู้ถึงพระคุณท่าน ไม่ว่าภาษาไทย หรืออังกฤษ
ผมจะร้องไห้หรือน้ำตาคลอ ด้วยความภาคภูมิใจ

ผมเคยถามตัวเองว่า หากผมสามารถแลกชีวิตผม หนึ่งปี
เพื่อให้ในหลวงมีพระชนมายุ ยาวขึ้นอีกหนึ่งนาที
ผมยอมหรือไม่?
ผมตอบในใจ สิบปีของชีวิตไร้สาระผม แลกกับหนึ่งวินาทีที่ท่านทรงงานเพื่อคนไทยหกสิบล้าน
ผมยังยอมเลย

ผมติดตามข่าวที่ประเทศไทยทั้งดี และไม่ค่อยดี
ไฟสวย พลุสวย ประชาชนรวมตัวกันมากมาย และมีสุขด้วยใจเปี่ยมความจงรักภักดี
ผมเสียดายมาก ที่ไม่ได้อยู่เมืองไทย

รถติด พนันบอลโลก กกต.หนาด้าน เสื้อเหลืองขาดตลาด โก่งราคากัน
ข่าวพวกนี้ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ผมเป็นห่วงคนไทยมากๆ ในหลายๆ เรื่อง
เรื่องหนึ่งคือ “การรักในหลวง”
การที่ใส่เสื้อเหลือง ใส่สายรัดข้อมือ ทราบซึ้งในพระคุณท่าน
แค่นี้เป็นการรักที่ถูกทางหรือไม่?

ผมเอาข่าวเรื่องที่ประชาชนเสื้อเหลือง มารวมตัวกันมากมาย
ร้องไห้ ตะโกนทรงพระเจริญ ให้เพื่อนต่างชาติดู
เขาก็พูดตรง ๆ ออกมาว่า
พวกเราโดนล้างสมองกันเหรอ?
คงไม่ต่างจากการที่คนปกติอย่างเราๆ ท่านๆ ดูหนังสือชวนเชื่อวัดพระธรรมกาย เห็นสาวกมองจานบินต้องแสงสวยๆ แล้วน้ำตาไหล
ผมก็เข้าใจเขา

ก็ได้แต่อธิบาย ว่าทำไมเรารักพระเจ้าแผ่นดินเราขนาดนี้
เขาไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็เออๆ ออๆ ไป

ผมอาจมีนิสัย ชอบสังเกต และช่างติ ไปนิด
การที่ มีการโฆษณา เรื่อง น้องต้น ด.ญ.มาลัยรัตน์ ที่ได้บ้านพระราชทาน
เพราะเขียนจดหมายถึงพ่อหลวง
ผู้ว่าฯ ก็มอบเงิน โรงพยาบาลรับแม่เข้ารักษา สำนักพระราชวังมาทำบ้านให้
อันนี้ผมว่า “ประหลาด”

เช่นเดียวกับ หนังสั้น In your heart
ที่ตอนหนึ่ง เด็กหญิงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมารอรับเสด็จ
พร้อมมีภาพทำให้เหมือนจะเข้าใจว่า ได้ถนนลาดยาง เพราะในหลวง

ใครจะร้องไห้ ปลาบปลื้มด้วยเหตุอันนี้หรือไม่ ผมไม่เอาด้วยคนหนึ่ง
ผมเชื่อว่า ในหลวง ท่านทำมากกว่านั้นมาก

แม้ว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ของการตีโจทย์
ของการโฆษณา หรือ สำนักพระราชวังและผู้ว่าฯ หวังดี
แต่ผมเห็นว่า การกระทำเหล่านี้ เป็นการ
“ตีโจทย์ ไม่แตก”

ปรัชญาของท่าน คือ “การลดการพึ่งพา”
มิใช่ใครมีปัญหา เขียนจดหมาย แล้วจะได้
ในหลวงไปที่ไหนใช่ว่าจะมีถนนลาดยางไปให้

การตีโจทย์ออกมาตื้นๆ แบบนี้
หรือจะทำให้เหมือนเป็นแค่การกระทำของนักการเมืองสามาญทั่วไป
คือการแก้ปัญหาด้วยวัตถุ แก้ปัญหาด้วยเงิน เพิ่มการพึ่งพา
ซึ่งผมว่า เป็นการสวนทางกับพระราชดำริอย่างตรงกันข้าม

พระราชนิพนธ์เรื่อง “เล็กดีรสโต”
ที่ในหลวงทรงแปลจากบทที่สี่ ชื่อ Buddhism Economy
ในหนังสือเรื่อง Small Is Beautiful
ของ E.F. Schumacher นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง

ผมไม่ได้อ่านภาษาไทย ที่ท่านทรงแปล
ผมพยายามหาอ่านมานานทางอินเตอร์เนทหลายครั้ง
แต่ก็หาไม่เจอ
ผมเลยหาหนังสือเล่มจริงมาอ่าน
(ราคา สองเหรียญ ทางอเมซอน)

แต่เนื้อหาจากหนังสือเล่มจิ๋ว กระดาษเหลืองอ๋อย ราคาแปดสิบบาท
พิมพ์มาแล้วกว่าสามสิบปีนี้
คือแนวคิดทฤษฏีพอเพียง พร้อมหลายตัวอย่างที่อินเดีย

แต่ในหลวงท่านแน่กว่านายชูมักเกอร์ผู้เขียนหนังสือ ตรงที่นำมาทดลอง และปฏิบัติจริงได้ในผืนแผ่นดินไทย

ท่านทรงเป็นนักพัฒนาอย่างแท้จริง
ท่านไม่ใช่ได้อ่านทฤษฏีอะไร แล้วนำใช้ทันที
ท่านทรงทดลอง เห็นจากในพระราชวังจิตรดาฯ มีทั้งโรงสี โรงรีดนมวัว โรงแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร
ท่านทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนตัว
ใช้อย่างประหยัด และคุ้มค่า

ตัวอย่างหนึ่ง เรื่องการพัฒนาดิน
ท่านทรงทดลองจากแปลงที่ดิน
ท่านไม่ได้เลือกที่ดินที่ธรรมดา เพื่อให้สำเร็จง่ายๆ ทันใจ และสร้างภาพ
ท่านทรงเลือกที่ดิน ที่เสื่อมที่สุด เค็มที่สุด เปรี้ยวที่สุด ดานที่สุด
ท่านแก้ดิน จนกลับมาปลูกข้าวได้สำเร็จ

พระองค์ทรงทดลอง จนสามารถลดข้อเสีย ลดผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด
แล้วจึงค่อยนำออกใช้ นำออกสอน

ท่านสอนให้ “พอเพียง”
ถามว่าเรารู้จักคำนี้กันหรือไม่?

คำว่า “พอเพียง” นี้ ลึกซึ้งนัก
อย่างน้อยๆ ตามที่ผมเข้าใจ
คือเป็นการรวมจากสามหลักปรัชญาทางพุทธ นั่นคือ
ทางสายกลาง
ตนเป็นที่พึงแห่งตน
และ สันโดษ

หลายคนอาจเข้าใจว่า สันโดษ คือการไปอยู่กระท่อม
นุ่งใบตอง เก็บแมลงกิน
อันนั้นไม่ใช่สันโดษ นั่นเรียก ปลีกวิเวก ปนวิตถาร

คำว่า สันโดษ ความหมายง่าย ๆ คือการที่เรามีน้อยใช้น้อย ใช้เท่าที่จำเป็น
รู้จักพอ ถ้ามีมาก มีเหลือก็แบ่งบันให้คนอื่นที่เขายังลำบากด้วย

หลายคนบอกว่าเมื่อไหร่จะ"รวย" ถ้า"พอเพียง"
ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ให้รวย
แต่ท่านบอกให้รู้จัก "พอ"
และคำว่า "พอ" คือ "ไม่โกง"
"รวย"ได้ แต่ต้อง "ไม่โกง"

หากเรามีสันโดษ ปัญหาฉ้อราษฏบังหลวงก็ไม่มี
เพราะข้าราชการ หรือนักการเมือง รู้จักพอ
เมื่อรู้ตัวว่า เงินเดือนน้อย ก็ใช้น้อย หากใช้จ่ายเกินตัว ก็ต้องหารายได้เพิ่ม
หากหารายได้ไม่ทัน ก็ต้องโกงกิน
อันนี้เรียก ไม่รู้จักพอ ผลเสียคือ ประเทศจะล่มจม

มองภาพกว้างกว่านั้นที่ ในหลวง เคยตรัสว่า
หากประเทศต่างๆ รู้จักพอเพียง
สงครามชิงทรัพยากร ก็ไม่มี
โลกจะสงบสุขเพียงไรหนอ

ผมเป็นห่วงคนไทยเรื่อง “การรักในหลวง”
คล้ายกับการที่ผมเป็นห่วงคนไทย “นับถือศาสนาพุทธ”
การนับถือด้วยสัมโนครัว นับถือด้วยเครื่องลางพระเครื่อง
ท่องนโมฯเพราะกลัวผี สวดมนต์หรือบวชเพราะอยากขึ้นสวรรค์ ไหว้พระเพราะขอหวย บนบานหน้าพระพุทธรูป เชื่อถือฤกษ์ยาม

แก่นธรรม อยู่ที่ใด? คนไทยซักร้อยละเท่าไหร่ จะเข้าใจกันนะ?
เช่นเดียวกับ “การรักในหลวง”

จงตระหนักความจริงที่ว่า
อีกสี่สิบปี เราจะไม่มีในหลวงที่สุดยอด พระองค์นี้แล้ว
การรัก การบูชาในหลวงพระองค์นี้ที่ดีที่สุดคือ
“การปฏิบัติบูชา”

หากท่านรัก และเชื่อในคำสอน และการปฏิบัติในพระจริยวัติของท่าน ว่าเป็นหนทางที่ถูกในการพอประเทศเรารอดได้
เมื่อท่านเห็นใครจะนำพาประเทศเราไปผิดทาง หรือใครไม่รู้จักพอเพียง หรือ "โกง" เพื่อจะ "รวย"
หรือแย่กว่านั้นคือ "รวย" แล้วยัง "โกง" อีก ไม่รู้จักพอ
การปฏิบัติบูชาอย่างง่ายที่สุดก็คือการแสดงความไม่เห็นด้วย ตักเตือนเขาซะ

สำหรับวิถีชีวิตนั้น จงเอาแบบอย่างการดำเนินชีวิต การที่ท่านทรงงานหนัก
ธรรมะที่ท่านครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุข ของมหาชนชาวสยาม
ความจริงใจที่ท่านมอบให้แผ่นดินไทย
และสิ่งที่ท่านทรงสอน มาปฏิบัติ อย่างเข้าใจ

เพียงเท่านี้ ในหลวงของเรา
จะ “In Your Heart” จริงๆ ครับ

5 comments:

Gelgloog said...

เขียนได้โคตรโดนเลยพี่

เป็นอะไรที่ผมคิดๆไว้เหมือนกัน แต่คิดไม่ได้ลึกซึ้งเท่าพี่นะ ได้อ่านของพี่แล้วช่วยกระตุกต่อมอะไรหลายๆอย่างได้เยอะเลยทีเดียว

ไอ้หนวดยีน said...

เขียนดีครับ
มีทั้งเกริ่นนำ
ตั้งคำถาม
ตีความ
และเสนอทางออก

ใครไม่รู้สักคนบอกว่า
ตั้งคำถามสำคัญกว่าคำตอบ

ดีครับ แวะมาทักทายครับ

Udomdog said...

ตามมาอ่านจาก blog ของ mr.gelgloog

ลึกซึ้งและจุดประกายความคิดของผมในประเด็นนี้

ขอบคุณมากครับ

Unknown said...

มีข้อความเป็นภาษาอักฤษมั้ยคะ อยู่เมืองนอกเพื่อนต่างชาติอยากทราบมาก ว่าทำไมเราถึงรักในหลวงกัน

Pang said...

สุดยอดคะ