Saturday, July 22, 2006

"ผู้มากบารมี" ของผม

ในชีวิตคนเรานั้น
เราอาจมีคนที่เราคิดว่าเป็น "ผู้มากบารมี” สำหรับเรา

ผมมีอยู่ประมาณ หก ถึง เจ็ด คน
นอกจาก พ่อ แม่ พี่ และญาติสนิทบางคนแล้ว
ผมมีบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็น “อาจารย์”
ที่เป็นผู้ชี้แนะทางชีวิต และในระดับจิตวิญญาณผมได้
อยู่อีกสองสามคน

เป็นบุคคลที่อยู่ๆ เดินเข้ามา แล้วบอกให้ผมเอาหัวไปจิ้มขี้
ผมจะวิ่งไปทันทีเอาหัวไปจิ้มขี้ทันที
เพราะผมเชื่อว่า การที่เขาบอกให้ผมเอาหัวไปจิ้มขี้
คงเป็นผลดีกับผม อะไรซักอย่าง
อาจเป็นเพราะหัวผมมีเหา หรือ รังแครื้อรัง และกองขี้จะรักษาได้

ผมไม่ทราบว่าคุณมีคนแบบนี้ในชีวิตบ้างหรือไม่?

หากใครจะเถียงเรื่องหลัก กาลมสูตร
ผมก็ยอมแพ้ จนกระดาน

เพราะนี่เป็นความศรัทธาผมเอง
ผมเห็น การดำรงชีวิต การทำงาน ของพวกเขามานานพอสมควร
และพอพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งว่าสามารถยกเขาในกลุ่มบุคคล “ผู้มากบารมี” ของผมได้


จริงๆ แล้วผมไม่อยากเขียนเรื่อง “ผู้มากบารมี” เลย
ตอนแรก ผมเห็นด้วยกับเกือบทุกท่านที่แสดงความเห็นในข้อความข้างล่าง เรื่อง “โยนหินถามทาง”
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่นายสนธิจับประเด็นผิว
และพยายามตีขลุม เอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือ

ผมเห็นด้วยกับการนำประเด็นจริงๆ มาสู้กัน เช่นเรื่องนโยบายที่ผิดพลาด การทุจริตในวงกว้าง ผลประโยชน์ทับซ้อน ความไร้จริยธรรม การปิดหูปิดตาประชาชน หรือที่เรียกภาพรวมๆ ว่า “ระบอบทักษิณ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็ไม่ทิ้งในความสงสัยว่า ทักษิณพูดถึง “ใคร” และ “ทำไม”

สิ่งที่ผมทำได้คือ “ตรวจสอบ” จากแหล่งข่าวส่วนตัวเท่าที่ผมมี

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีพลังในการสร้างกระแส
พัดไป พัดมา จนทำให้เรายืนอยู่ลำบากนั้น
การมีแหล่งข่าวที่เหมาะสม และตรงประเด็น จึงมีความสำคัญมาก

บังเอิน แหล่งข่าวของผม มีรากลึกพอสมควร
ทั้งรับใช้ และใกล้ชิด
และเป็นหนึ่งในหลายคนที่ไม่ชอบนายสนธิ
แต่ข่าวที่ได้กลับมา เป็นสิ่งที่ผมสามารถเดินได้เต็มตัว
ในการเขียนบทความข้างล่าง ในเวลาสิบห้านาที

หากนำมาเล่าให้ฟัง ก็กลายเป็นนิทานอีกเรื่องหนึ่งสำหรับคนอ่านเท่านั้น

ลองตรวจสอบแหล่งข่าวของคุณดูนะครับ
อาจมีใครโดนพลักให้มายืนตรงจุดที่ผมยืนบ้าง

Friday, July 07, 2006

โยนหินถามทาง?

ใครติดตามข่าวเรื่อง “คนมากบารมี” บ้าง ขอความคิดหน่อย
(ถ้าไม่ติดตาม ขอให้ข้ามไปเลยไม่ต้องเสียเวลาอ่านต่อ)

คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร?

การที่ทักษิณพูดถึง “ผู้มากบารมี” ที่อยากเป็น “นายกมาตรา 7” อย่างมีสคริป และเตรียมการ
มีการเน้นหลายครั้งหลายหน ไม่ใช่ปากผล่อย เหมือนที่แล้วๆ มา

ผมมองว่า นี่คือการท้าทาย “พระราชอำนาจ” อย่างแยบคาย
ต่อจากนั้น ต้องถอยกรูด ต่อกระแสคำถาม ว่า “ใคร?”
คนรอบข้างต้องออกมาชี้โบ๊ชี้เบ๊
เป็นหลวงตาบัวบ้าง
เป็นสนธิบ้าง
เป็นพันธมิตรบ้าง
เป็นประชาธิปปัตย์บ้าง
ที่หากไม่กินหญ้า หรือแกลบเป็นอาหาร คงไม่เชื่อแน่ๆ

ส่วนเจ้าตัวคนพูด กลับเงียบ เบี่ยงประเด็นไป
การดึงเรื่อง หรือเบี่ยงประเด็นว่าจะไปดูบอลโลกของทักษิณ จะทำให้พ้นสามวันอันตราย และเมื่อครบสามวันผ่านไป คนไทยจะลืมนั้น กำลังจะสำเร็จ

ผลคือ เราชนะในสมรภูมินี้ ทำเอาทักษิณถอยกรูด ปิดทางตีตลบด้วยกลยุทธ พ่นน้ำลายมากมายคำเพ้อเจ้อ
แต่ใครจะสังเกต และตระหนักว่า “เรากำลังเพลี่ยงพล้ำ จะกำลังแพ้ในสงคราม”

คนที่ติดตามข่าวนี้ ก็รู้ว่า “คนมากบารมี” คือ องคมนตรี สักคน
แม้ฝ่ายต่อต้านหลายคนจะดึงไปถึงระดับ ราชวงค์ เพื่อให้ได้กระแส และผู้คน
หากมีสติคิดสักหน่อย ก็เห็นว่าไม่ใช่แน่ๆ

แต่คิดต่ออีกชั้นหนึ่งดู ว่า องคมนตรีคือใคร?
ผู้แทนพระองค์ ใช่หรือไม่?
คือกลุ่มคนที่ในหลวง ทรงเลือกมาทำงานใช่หรือไม่?

พระราชอำนาจได้ถูกท้าทายอย่างแยบยลแล้ว
และ “เรากำลังเพลี่ยงพล้ำ จะกำลังแพ้ในสงคราม”

ความพ่ายแพ้นี้คืออะไร?
สังเกตไหมว่า ทหาร ตำรวจ ที่เคยปกป้อง ราชบัลลังค์ และราชอาณาจักร มากว่า 700 ปี
วันนี้ มีแต่ความเงียบ และนิ่งเฉย
ประชาชน บุ้ยใบ้

ระบอบทักษิณได้โยนหินถามทางแล้ว
และทางนี้ ท่าทางจะไปได้เสียด้วยสิ

เหลือสิ่งที่ทักษิณควบคุมไม่ได้ในประเทศไทยนี้คือ
อำนาจศาล (บางศาล) และ พระราชอำนาจ เท่านั้น

การที่ศาลฏีกา และศาลปกครอง น้อมรับพระบรมราโชวาท ให้แก้วิกฤตชาติ
คือการใช้พระราชอำนาจทางหนึ่ง

การที่ในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย
ในพรฏ.เลือกตั้ง และคำสั่งแต่ตั้งโยกย้ายข้าราชการ
คือด่านสุดท้ายที่ท่านทรงใช้ พระราชอำนาจ ยับยั้งอะไรได้บางอย่าง

ผมไม่ได้สนับสนุนให้ต้องเลือกข้างไหน
ผมไม่เห็นด้วยกับนายสนธิไปทุกอย่าง

แต่ผมอยากให้เรามีสติ และทบทวนความเชื่อของเราอีกครั้ง
ถามอีกที ว่าเราเชื่อในอะไร?
เรารัก และอยากรักษาสถาบันหรือไม่?

ถามว่า ตอนนี้ เราปล่อยให้ ในหลวง สู้กับระบอบทักษิณ อย่างเดียวดายหรือไม่ครับ?

Saturday, July 01, 2006

Revolutionary Wealth (1/5)

หนังสือเล่มใหม่ของ นายอัลวิน ทัฟเฟลอร์
นักอนาคตศาสตร์ผู้เขียนเรื่อง คลื่นลูกที่สาม เมื่อกว่าสิบปีก่อน
ในเล่มนั้นเป็นคนออกมาบอกว่า โลกกำลังจะเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม
คือ ยุคข้อมูลข่าวสาร

ในเล่มนี้ เขากลับมาบอกเป็นแนวๆ ว่า
ความมั่งคั่ง กำลังจะเปลี่ยนอีกที

กาละ เทศะ ปัญญา
เป็นสามพื้นฐานของความมั่งคั่ง
เมื่อ กาละ คือ Time
เทศะ คือ Space
ปัญญา คือ Knowledge

ในประเด็นเรื่อง Time
หมอนี่ พูดถึง ความเคลื่อนไหว ที่ไม่ประสานกัน
Unsynchronized Speed ของเจ็ดองคาพยพหลักในสังคม
โดยเขาเทียบออกมาเป็นความเร็วรถบนทางหลวง
รถคันแรก วิ่งอยู่ที่ ร้อยยี่สิบ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ “วงการธุรกิจ”
คันต่อมา ร้อย กม./ชม. คือ “องค์กรอิสระ”
เจ็ดสิบ กม./ชม. “องค์กรต่างประเทศ”
ห้าสิบห้า กม./ชม. “รัฐ”
ยี่สิบกม./ชม. “การเมือง”
สิบกม./ชม. “การศึกษา”
ห้ากม./ชม. ซึ่งเดินยังเร็วกว่า คือ“กฎหมาย”
ความเร็วพวกนี้คือ บริบทของ อเมริกา

แต่อ่านแล้ว ผมชอบในแนวคิดของเขา
มามองแบบประยุกต์กับไทยดูบ้าง
ลำดับความเร็วอาจ สลับๆ กับอเมริกาบ้าง และอาจไม่เร็วเท่า
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ
เมื่อความเร็วไม่เท่ากันแล้ว
ปัญหาก็ต้องเกิด

มองมาที่ประเทศไทย
ปัญหาที่ขัดแย้งนี้
อาจเนื่องจาก วงการธุรกิจ ดันไปเป็นเรื่องเดียวกับการเมือง
องค์กรอิสระ และราชการเราก็ต้องเร่งเครื่อง
เครื่องพังไปบ้าง เกิดอุบัติเหตุไปบ้าง

การศึกษาที่เหมือนตุ้มถ่วงอยู่ กลับถ่างปัญหาสังคม และชนชั้นมากขึ้น
กฏหมายที่ล้าหลังที่สุด ดูเหมือนจะถูกผูกเชือก ลากถูลู่ถูกัง กันแทบไม่เหลือ

ในประเด็นเรื่อง เทศะ หรือ Space
แม้ว่าทำเลทองในการขายของ จะมีความสำคัญน้อยลงไป
แนวคิดของหมอนี้ เขาหันกลับมามองทางเอเชียเรา
ฐานความมั่งคั่ง จะมาทาง อินเดีย จีน ซึ่งเป็นฐานผลิตใหม่
ทั้งเศรษฐกิจคลื่นลูกที่สอง และสาม คืออุตสาหกรรม และบริการ
เช่นโรงงานในหลายมลฑลของจีน
หรือแม้แต่ Call Center ที่ Outsource ออกไปอินเดีย
หรือ ฐานพัฒนาซอฟท์แวร์ ในซิลิกอนวัลเลย์ ใน บังกะลอ

แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ไม่ลืมที่จะถกถึงปํญหาที่จะถาโถมซัดเป็นผลกรรมในการโหมเศรษฐกิจ
ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ปัจจัยสุดท้ายคือปัญญา
นายนี่กล่าวเป็นการเกริ่นว่า
ยุคข้อมูลข่าวสาร กำลัง ก้าวเข้าสู่ ยุคการติดต่อสื่อสาร (Communication Age)

ความจำในหัวสมองมนุษย์ อาจมีความจำเป็นน้อยลงไป
หากเรามี “เครื่องมือ” ที่จะเข้าถึง “สมองของโลก”
หรือ อินเตอร์เนท นี่เอง

การเฉือนกัน ทางธุรกิจในยุคนี้คือ
สำคัญอยู่ที่เรา จะเปลี่ยน และกรอง ข่าวสารเหล่านี้
ให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และพัฒนาไปเป็นความรู้

ความรู้ เป็นทรัพยากรที่ต่างจาก ทรัพยากรใดๆ บนโลก
กล่าวคือ จับต้องไม่ได้
ยิ่งใช้ ยิ่งมีมาก
หากเอาไปวางข้างๆ กับความรู้อื่น จะขยายตัว อาจก่อเกิดเป็นอะไรใหม่ๆ
สำคัญคือ หาความรู้ใด แยกตัวไปอยู่เดี่ยวๆ อาจจะกลายเป็นล้าหลังในทันที

และเนื่องจากโลกที่ดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้เป็นไปได้ว่า
ความรู้ที่ได้มาวันนี้ กลับจะล้าหลังในวันพรุ่งนี้
Obsolete + Knowledge = Obsoledge
(นักวิชากรพวกนี้ ชอบสร้างคำเก๋อยู่เรื่อยไป อาจเป็นพวกเดียวกับนักวิชาการยุคเดือนตุลาฯ)

นี่คือการสรุปความตามที่ผมเข้าใจใน หนึ่งร้อยหน้าแรก จากห้าร้อยหน้าของหนังสือ
ยังอ่านไม่จบแหล่ะครับ แต่ทำสรุปไว้ก่อน กันลืม
คาดว่า ในช่วงหลังๆ ของเล่มนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ลงลึกมากขึ้น

ผมไม่เคยอ่านหนังสือของนายคนนี้มาก่อน
แต่พอสัมผัสได้ว่า หมอนี่มองโลกเป็นตะวันตกมากๆ
มีการมองเฉี่ยวๆ ไปทางตะวันออก เรื่องนิพพาน เรื่องศาสนาบ้าง
แต่เหมือนถอยออกมา ในย่อหน้าถัดไปทันที

ในร้อยหน้าแรกที่ผมอ่าน
มีการกล่าวถึงชื่อหลายประเทศในโลก
และหลายประเทศในทวีปเอเชีย ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร มาเลย์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์
ความน่าสนใจคือ
ไม่มี Thailand สักคำเดียว

ประเทศตะวันตกตอนนี้ มันไปวิ่งเป็นมดตื่น ไปทางจีน กับ อินเดียแล้ว
จะให้เขาหันมามองประเทศเราด้วยการแข่งทาง “อุตสาหกรรม” หรือ “ไอที” นั้น
อาจเป็นการ “จุดไม้ขีดให้สว่างสู้กับดวงตะวัน”

ผู้นำเราที่เคยได้ชื่อว่าจะเป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม”
ท่านจะรู้หรือไม่ว่า คลื่นทั้งสามลูกนั้น มันอยู่ในประเทศเดียวได้

ยิ่งเห็นนโยบายท่านหลายๆ อันแล้วผมก็เหนื่อยใจ

หากประเทศเรารู้จักประเมินตนเอง
เกษตรคือสิ่งที่เราถนัด
ไม่ต้องเป็น นิกส์ ไม่ต้องเป็น ฮับ บ้าบออะไรเลย

ทางรอดของเรา อาจอยู่ที่แนวคิดอันประเสริฐยิ่งอันเดียวว่า “พอเพียง”
รู้จักคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง หรือไม่ครับท่านผู้นำ?