Friday, June 02, 2006

ชวนชม เรือพระราชพิธี

ภาพจาก www.kalamung.com/index24.html
"...นาวาสถาปัตย์ ช่างเชี่ยวชัดชาญเชิงเช่น
ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย..."
---------------------------------------------

ปี ๓๐ สมัยผมเรียนชั้นประถม
ช่วงปิดเทอม คุณครูให้ทำรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย

ตอนนั้นได้ดูโทรทัศน์ ได้ยินว่าจะมีการเห่เรือ
ผมเห็นว่า เจ๋งดีนะ
ตอนนั้นคิดแบบเด็ก ๆ ว่าเหมือนขบวนการโกกุนไฟว์
เรือหลาย ๆ ลำ ประกอบร่าง ยิงปืนใหญ่
เลยคิดว่าจะทำรายงานเรื่อง “ขบวนพระยุหยาตราทางชลมารค”

พี่สาวก็สนับสนุนส่งเสริมด้วยการพาไปหาข้อมูลที่ “หอสมุดแห่งชาติ”
หาข้อมูลกันอยู่สองวัน เล่นเอาผมอ่าน ชุดการ์ตูน ของซีเอ็ด เล่ม “มีจริงหรือไม่” จบลงไปได้
ส่วนพี่สาวก็ได้ข้อมูลเพียงพอ พร้อมวางรูปแบบรายงานเสร็จ

จำได้ติดตา ว่าภาพที่ได้มา เป็นรูปเรือสุพรรณหงส์รูปด้านข้าง มีพู่ห้อย สวยมาก
ภาพนั้นแปะอยู่กลางหน้ากระดาษฟุลแก๊บ ด้วยกาวน้ำ ฝาสีฟ้า

เริ่มต้นด้วยโคลงสี่ และบทเห่ เขียนด้วยปากกา ตัวโต เต็มบรรทัดว่า
“สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์”

ส่วนเนื้อหา เป็นการคัดลอกตัวครึ่งบรรทัด จากกระดาษที่ถ่ายเอกสารมาจากหอสมุดฯ
มีลายมือพี่สาวโยงไปมา สรุปความได้สี่กระดาษฟูลแก๊บ

ผมจำเนื้อหาในนั้นไม่ได้เลย คงเป็นผลกรรมของการให้พี่สาวทำการบ้าน

---------------------------------------------

จากนั้นไม่กี่ปี ด้วยความซนของผม ก็ได้พาก๊วนจักรยาน แหกกฏแม่ ขี่ออกจากซอยหมู่บ้าน ออกถนน เที่ยวเล่นไปเรื่อยเปื่อย
จนข้ามสะพานอรุณอัมรินทร์ ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านผมมาก
(ความคิดวันนี้ คงเหมือนการขับรถไปสระบุรี)
ผมจอดจักรยานกลางสะพาน และมองเห็นอู่เรือพระราชพิธี อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟบางกอกน้อยอยู่ไม่ไกล
สีทองจากหัวเรือสุพรรณหงส์ และอนันตนาคราช ช่างสะดุดตายิ่งนัก

ผมอยากเข้าไปดูเรือ ตั้งแต่วันนั้นมา
ทุกครั้งที่ได้นั่งรถ หรือนั่งรถเมล์ข้ามสะพาน ก็ต้องมองไปที่อู่เรือนั้นทุกทีไป
แต่จนแล้วจนเล่า ก็ไม่ได้มีโอกาสสักที

---------------------------------------------

ขณะเรียนปีสาม โรงเรียนสถาปัตย์
มีการเรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทย
ได้รับมอบหมายให้ทำรายงานเรื่อง “ลายไทย”
ผมก็ได้โอกาส ขุดความฝันที่หวังมานาน เอามาทำให้เป็นจริง
กลุ่มผม ด้วยการชักนำของผมเอง ได้เลือกหัวข้อ “เรือพระราชพิธี”

ผมได้ไปที่อู่เรือพระราชพิธีเป็นครั้งแรก
และได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นนักเรียน
ได้ตักตวงความรู้จากที่นั่นมากมาย

รายงานเล่มนั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์ การผูกลายของโขนเรือ
ใครไม่เคยเข้าไปดูใกล้ ๆ จะไม่รู้ว่า ลายสีทองข้าง เรืออนันตนาคราช
เป็นการผูกลายของหัวนาคเล็ก ๆ เต็มไปหมด สมชิ่อ อนันตนาคราชนัก

เรืออเนกชาติภุชงค์ หัวเรือ เป็นลายหัวนาคตัวใหญ่ใหญ่ ส่วนลายก็เป็นลายนาคขดไปมาเช่นกัน

ลายสีทองข้างโขนเรือสุพรรณหงษ์ เป็นลายกนก ผูกไปมา ลักษณะเหมือนขนหงษ์

"สวยงาม และลงตัวยิ่งนัก"

ตอนนั้น ต้องหัดคัดลอกลายไทยกันมือหงิก
เขียนลายด้วยดินสอกันบนกระดาษ เอศูนย์ต่อกันสี่แผ่น (ประมาณสองมือกาง)
ถอดลายออกมาอัตราส่วนประมาณ ๑ ต่อ ๒๕

ด้วยความที่มือห่วยกันมาก ผลงานจึงออกมาดูไม่จืด

แต่ของจริงนั้น สวยจริง ๆ ครับ
ใครไม่เคยไป หาโอกาสไปดูกันนะครับ

---------------------------------------------

ปี ๔๒
ผมได้มีโอกาสชมขบวนเห่เรือพระราชพิธีด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก
มีเพื่อนมันเป็นญาติกับคนมีบ้านอยู่ริมน้ำใกล้ ๆ ธรรมศาสตร์

เมื่อเรือผ่านเข้ามาใกล้กับจุดที่ดูอยู่
เสียงเห่ และเสียงรับ ดังก้องกังวานทั่วท้องน้ำเจ้าพระยา
ขนลุกจริง ๆ ครับ (นี่ขณะพิมพ์ ขนยังลุกเพราะจำบรรยากาศนั้นได้)

ในหลวง ประทับบนเรือสุพรรณหงส์ เคลื่อนช้าๆ อยู่กลางลำน้ำ และไม่ไกล
ฝีพายจ้วงน้ำท่านกบินพร้อมเพรียง สีทองจากตัวเรือระยิบระยับ

ผมลดกล้องติดเลนส์เทเลลง
ยกมือท่วมหัว “ขอพระองค์ จงทรงพระเจริญ”

---------------------------------------------

ใครอยู่เมืองไทย พลาดไม่ได้นะครับ
แม้บัตรแพง หรือขายหมด
ลองไปดูช่วงที่แม่น้ำเปิด หรือติดถนน
ต่อให้ไม่เห็นอะไรก็ตาม แต่เสียงจากการเห่เรือ
และกลิ่นไอของประชาชนที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดี ณ ที่นั้น

หาไม่ได้ที่ไหนในโลกแล้วหล่ะครับ


---------------------------------------------
บทเห่เรือปีนี้ งดงามเช่นกันครับ

2 comments:

LekParinya said...

เพิ่งรู้ว่า คราวนี้ไม่ใช่
"ขบวนพระยุหยาตราทางชลมารค"
เพราะ พระองค์ท่าน ไม่ได้เสด็จประทับมากับขบวนเรือ

คราวนี้ จึงเป็นแค่ "ขบวนเรือราชพิธี" เท่านั้น
และในหลวง จะประทับเพื่อทอดพระเนตรชมขบวนเรือ พร้อมกับพระราชอคันตุกะ

Unknown said...

ว่าจะไม่สนใจ
คงต้องสนใจขึ้นมาแล้ว
กินเหล้าชมเรือได้ไหม
ชมเรือเฉยๆก็ได้
แต่ไม่รู้ที่ไหนว่ะ บ้านอยู่ลาดพร้าว