Friday, May 19, 2006

Specialist vs Generalist

ประมาณปี 38 สมัยที่ผมเพิ่งเข้าโรงเรียนสถาปัตยกรรม ช่วงนั้นวงการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ตื่นตัวอย่างมาก
กระแสงานด้านอาคารประหยัดพลังงาน ด้านงานอนุรักษ์อาคาร กระเพื่อมขึ้นมา
ตอนนั้นมีผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาต่าง ๆ โดดเด่นขึ้นอย่างมาก
ได้ยินว่ามีการว่าจ้าง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นในโครงการใหญ่ๆ ด้วยจำนวนเงินที่นึกไม่ถึง

ขณะนั้น ในสายตาของนักเรียนสถาปัตย์ เหมือนมีความเชื่อว่า ควรแสวงหาความเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งสักอัน
เช่น สาขาเทคโนโลยีอาคาร หรือ สาขาอนุรักษ์อาคาร หรือ ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ด้านพลังงาน ฯลฯ
หรือเรียกว่า “Specialist”

สองสามปีผ่านไป
สภาวะเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากความไร้วินัย ความกระหายโลภในกระแสฟองสบู่ที่เมาเป่ากันมาหลายปี
ในที่สุดวงการก่อสร้าง และอสังหาฯ ต้องเผชิญ “ความจริง” ที่จำเป็นต้องล่มสลายอย่างรุนแรง
อาคารมากมายต้องหยุดก่อสร้าง การจ้างงานของวิชาชีพในการก่อสร้างหดหายอย่างไม่เคยเกิดขึ้น
ความซึมเซาในโรงเรียนสถาปัตย์เกิดขึ้นทั่วทุกชั้นปี เมื่อพบความจริงที่ว่า พี่บัณฑิตจบใหม่ร้อยกว่าคน ได้งานแค่ไม่ถึงสิบคน อาจารย์หลายท่านหน้าตาหมองหม่น นำเอาเรื่องเศร้า และเรื่องหายนะในวงการมาเล่าให้นักเรียนฟังอยู่เนืองๆ

อาจารย์หลายท่านเคยได้ชื่อว่า “Specialist” กลับประสบปัญหาเช่นเดียวกับบัณฑิต คือ “ไม่มีใครจ้าง”

ช่วงนั้น สถาปนิกที่ยังคงมีงานอยู่เรื่อย ๆ กลับเป็นพวกที่ถูกเรียกว่า “Generalist”
เขาเหล่านั้น รับงานได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ
ให้คำปรึกษาด้านการต่อเติม ซ่อมแซม
ใช้ความรู้ และวิชาชีพ อย่างเขาถึงประชาชนทั่วไป
ประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าในพวกเขา และพึ่งพาเขาได้
เขาไม่ได้ทำงานออกแบบเพื่อมุ่งแต่รับใช้นายทุน

อย่างที่รู้กันว่า สถาปัตยกรรม เป็นได้ตั้งแต่ หนึ่งในปัจจัยสี่ จนถึง สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

สัจจธรรมอีกอันหนึ่ง ของมนุษยชาติคือ
“ยามบ้านเมืองสมบูรณ์พูนสุข ศิลปินจะก่อเกิด”
ตัวอย่างที่เห็นคือ ยุโรปสมัยยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ “Renaissance” มี ดาวินชี่ ไมเคิล แอนเจโล่ เบอร์นีนี่ ฯลฯ คอยสร้างผลงานระดับพระกาฬ ที่ทุกวันนี้เราเห็นยังอ้าปากค้าง
หรือ สมัยสุโขทัย ที่สุขโข ภายใต้อโณทัยนั้น จะเกิดพุทธศิลป์ พระปางลีลา หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่สวยงาม ล้ำลึกยิ่ง

“แต่ยามบ้านเมืองวิกฤต ปราชญ์จะก่อเกิด”
คานธี ดาไลลามะ มาติน ลูเธอร์คิง คงพออธิบายได้

หากเราเห็นถึงสัจธรรมบนโลก เราจะเห็นได้ ว่าเราควรเป็นอะไร ในเวลาไหน
หรือสองคำว่า “กาละ เทศะ” จะอธิบายได้ทั้งหมด

แต่มากกว่านั้น หากมองให้เป็นมุมมองของการปฏิบัติขึ้น
การควบรวมทั้ง Specialist และ Generalist จะเป็นภาพอุดมคติเกินไปหรือไม่?

พี่คนหนึ่งที่เคารพเปรียบเทียบง่ายๆ ว่ามันคือ “หาง”
“คุณมีกี่หาง?”
หางอันนี้ มีไว้หลายหาง ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มี

ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือ สถาปนิก

หากสถาปนิกคนหนึ่ง รู้เรื่องกฏหมาย รู้เรื่องออกแบบ เชี่ยวชาญเรื่องก่อสร้าง และเชี่ยวชาญด้านประหยัดพลังงาน
บ้านหรืออาคารที่ออกมา จะออกมาเป็นอาคารที่ไม่น่าเกลียด ไม่ผิดกฏหมาย งบประมาณลงตัว และประหยัดพลังงานมาก

หากสถาปนิกอีกคนหนึ่ง สนใจเรื่องสุขภาพ และรู้เรื่องงานระบบอาคาร
สถาปัตยกรรมคงออกมาเป็น งานที่ดูแลง่าย และเป็นอาคารที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หากสถาปนิกอีกคนหนึ่ง สนใจจะเป็นนักเขียน และเชี่ยวชาญการตลาด
เขาคงบรรยายให้เห็นภาพหลายๆ อย่างได้ง่ายดุจงานสถาปัตยกรรม สร้างสรรค์ ได้ประโยชน์ใช้สอย และขายออก

พวกนี้ ไม่มีวันอดตาย

หรือจะยกตัวอย่างห่างออกไป

หากนักวัสดุศาสตร์ มาสนใจเรื่องพระเครื่อง อะไรจะเกิดขึ้น?
การวิเคราะห์พระเนื้อผง เนื้อชิน พระกริ่ง คงออกมาอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจเป็นแน่

หากนักคณิตศาสตร์ มาสนใจเรื่องจิตวิทยา อะไรจะเกิดขึ้น?
คงเห็นหนังสือเรื่อง “พีชคณิตการหย่าร้าง” อยู่บนแผง

หากโปรแกรมเมอร์ มาสนใจด้านศิลปะ อะไรจะเกิดขึ้น?
การเขียนโปรแกรม หรือระบบดิจิตอล ให้ออกมาเป็นงานศิลป์ คงน่าดูไม่หยอก

คนเหล่านี้ รอการ “ก่อเกิด” และเกิดขึ้นแล้วบนโลกนี้
พวกเขามีอย่างน้อย “สองหาง”
และเอามาผสมรวมกันอย่างลงตัว

ในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในสภาที่อึมครึมแบบนี้
ปราชญ์ และ ศิลปิน อาจเป็นคนเดียวกันได้
ว่าไหมครับ?

8 comments:

Anonymous said...

อืม ในความคิดกรูนะ ตอนนี้ โลกมันเปลี่ยนแปลงไปด้วยอัตราเร่งสูงขึ้นๆๆๆๆๆๆ ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือการปรับตัวโดยการสังเคราะห์สิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน มันอาจจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาวะใหม่ๆ ก็ได้

แต่ยังไงก็ตามทุกอย่างในที่นึงสมัยนึงมันก็มี constraints เสมอนะ แต่ใครจะพลิกใช้ให้เป็นประโยชน์ก็อีกเรื่องนึง เพราะในทุกที่ทุกอย่างมักมีช่องว่างและความไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว บางทีผมยังสงสัยเลยว่าสังคมหรือระบบที่พยายามทำให้มัน perfect ในอีกด้านนึงก็คือระบบที่มันตายตัวอยู่กับที่และพัฒนาเปลี่ยนแปลงขยับไปไหนไม่ได้เลยนั่นเอง

งงๆ ไม่รู้จะพูดไรต่ออ่า

Unknown said...

เหมียว
เหนียว
เสียว
เขียว
เดียว
เกี่ยว
อาจารย์บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์คือการเอาสอง หรือหลายสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันมาเป็นอันเดียวเกี่ยวกันได้
เขายกตัวอย่าง การท่องเที่ยว กับความสะอาด
นึกยังไงก็ไม่น่าจะมาเป็นของสิ่งเดียวได้
เฉลย
แปรงสีฟัน

เหมือนสายสัมพันธ์มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าเราจะพบหรือเปล่า


ตอนนี้ก็คิดอยู่
ขี้เกียจกับรวย
นี่มันสัมพันธ์กันยังไง

LekParinya said...

คุณฉุย
ผมรู้ว่าคุณเข้าใจแหล่ะ
"หาง"คุณมีตั้งหลายอัน
ผมรอติดตามอยู่
-----------------
ไอ้นอร์ท
ความเห็นกูนะ

ขี้เกียจกับรวย
มันเป็นสิ่งที่เกือบจะตรงข้าม
รวมกันออกมา มันมักจะมีปัญหาหว่ะ

ที่กูนึกออกคือ
ขี้เกียจแล้วอยากรวย คือ "โกงชาติ"
กับ
รวยแล้วขี้เกียจ คือ "รอวันฉิบหาย"

Anonymous said...

สำหรับบางเรื่อง มันไม่มีคำตอบตายตัวล่วงหน้าหรอก เวลาที่เราคิด หรือตั้งคำถาม มันก็จะได้แค่แนวคำตอบ หรือความน่าจะเป็นต่างๆ นานา พูดง่ายๆ ว่าแค่สมมติฐานเท่านั้นเอง


คำตอบสุดท้าย คืออะไร เราจะรู้ เมื่อเจอกับมันเอง

โลกนี้ ไม่มีอะไรตายตัว แต่ที่แน่ๆ ก็คือ only the strongest will survive ฮะ

natsima said...

แวะมาทักนะครับ

คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังคง Fixed-Mind กับความเป็นผู้เชียวชาญอยู่ครับ

ญี่ปุ่นก็ยังเป็นนะ เพราะเวลาแนะนำตัวมักจะต้องบอกว่า semmon wa ....... desu ที่แปลว่า "ผมเชี่ยวชาญในเรื่อง....ครับ"

แต่ผมว่า ปราญช์ที่แท้ ย่อมไม่มีพรมแดนแห่งความรู้ครับ

อย่างไรก็ตาม เราคงจำเป็นต้องมี tool บางอย่างที่ใช้ได้อย่างคล่องมือ

tool ของคุณ Parinya ก็คงเป็นด้านสถาปัตยกรรม หรือถ้าพูดให้ครอบคลุมก็น่าจะเป็น Creativity

ความสนุกก็อยู่ที่ว่าจะใช้ tool ที่มีอยู่ในการตอบคำถามต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างไร?

และสุดท้ายคงต้องพัฒนาให้การมี tool นั้นเป็นการไม่มี tool ให้ได้

เหมือนที่เค้าบอกว่า กระบี่ที่ดีที่สุดอยู่ที่ใจ!

LekParinya said...
This comment has been removed by a blog administrator.
LekParinya said...

คุณแฟนฉุย
"only the strongest will survive"
ผมได้ยินหลายคนตะโกนบอกว่า
"I will survive, yeah~ yeah~"
บรึ๋ย~~~

--------------------

คุณ natsima ประเด็นดีครับ
ผมกำลังอ่านเรื่อง Blink
ของ Malcolm Gladwell

แปลเป็นไทยว่า การคิดเชิงญาณทัศนะ
หรือ การคิดแบบไม่คิด
หรือ กระบี่อยู่ที่ใจ นี่เอง

มีตัวอย่างหลายอันน่าสนใจมาก ๆ
แล้วจะเอามาสรุปเล่าให้ฟังวันหลัง
(ถ้าอ่านจบนะครับ)

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน

Tig said...

ขอบคุณสำหรับความคิดดีดีครับ

ไม่ทราบว่าผมจำถูกหรือผิด ว่าตามตำนานองค์ท้าวมหาพรหมณ์เป็นผู้สร้างโลก ท่านถึงมี 4หน้า 8กร ถ้าการสร้างอะไรใหม่ๆ เกิดจากจินตนาการ + ความรู้ หรืออย่างที่คุณนอร์ทบอกที่ว่า การโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันโดยหาเส้นความสัมพันธ์ของมันให้เจอ

4 ด้านของท่านที่ใช้สำหรับสร้างโลกก็น่าจะเป็น 1.จินตนาการ 2.ความรู้ 3.ความเป็นปราชญ์(ไว้เพื่อตรึกตรองว่าจะสร้างสิ่งๆ นั้นออกมาดีมั้ย) 4.(นึกไม่ออกแล้วครับ)

ปล.อยากลองเปลี่ยนหางเป็นอย่างอื่นดูบ้างไหม แบบ 4มือ 2กระบี่ 2ใจ 2สมอง