Saturday, May 22, 2010

ประชาธิปไตย ประชาฉิบผไท

หลายคนบอกว่า ประชาธิปไตยแบบไทยทุกวันนี้ ไปลอกพิธีการ และพิธีกรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาแบบทั้งดุ้นตั้งแต่แรก แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็แค่นำมาแต่งหน้าทาปาก ทำให้มันพอจะใช้ได้ แต่ก็มีปัญหาตลอดมา หลายปัญหาก็หมักหมมไว้ จนเน่า และบวมแตกส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งอย่างที่เห็นทุกวันนี้

บ้างชอบเปรียบกับการติดกระดุมเสื้อ ที่เมื่อติดผิดมาตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดต่อๆ ไปติดยังไงก็ผิด เสื้อก็ออกมาเบี้ยวๆ แต่เราก็ติดกันจนครบ ต่อมาเห็นปกเสื้อไม่เท่ากัน ก็ตัดแต่งต่อให้มันเท่ากัน ชายเสื้อก็ต่อด้านที่สั้นให้มันยาว แขนเสื้อที่เบี้ยวอยู่ก็เริ่มเลาะตะเข็บตัดต่อใหม่ ฯลฯ

พี่คนหนึ่ง เคยให้ความเห็นแรงๆ ว่า ตราบใดที่คนไทยยังเดินตามควายอยู่ (ทำไร่ ไถนา) แสดงว่ายังโง่อยู่ ก็ยังไม่ควรได้รับสิทธิการเลือกตั้ง

ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยเลยในตอนที่รับฟังนั้น
แต่ต่อๆ มาได้รับรู้ข้อมูลหลายๆ ด้าน ก็เห็นว่าที่พี่เขาพูดมา ก็อาจจะมีส่วนจริงบ้าง

ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปหลายประเทศ มักไม่ค่อยมีปัญหากับประชาธิปไตยมากนัก เหตุผลส่วนหนึ่งคือประเทศเหล่านี้มีคนชั้นกลางกว่าร้อยละ 80 
โดยคนชั้นกลางนี่เอง เป็นกลุ่มคนที่ซื้อไม่ได้
มีการศึกษา มีปากมีเสียงที่จะเรียกร้องความต้องการของตัวเอง
มีความคิดที่ชัดเจน ไม่โอนเอียง ไม่พึ่งพาอาศัยนักการเมือง
และบังคับนักการเมืองถกเถียงกันเรื่องนโยบายเพื่อประโยชน์ประเทศเป็นส่วนใหญ่
ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่ๆ ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การให้ประเทศอื่นกู้เงิน
หรือจะเรื่องเล็กๆ เช่น การห้ามสตรีมุสลิมคลุมผ้าในโรงเรียน หรือการนำเข้าเนื้อวัว ฯลฯ

ต่างจากประเทศไทย ที่ตลอดมาจนถึงตอนนี้ มีคนชั้นกลางเพียงเล็กน้อย
ที่เหลือเกือบร้อยละ 80 ยังเป็นคนชั้นล่าง
การวัดว่าเป็นคนชั้นล่าง หรือคนชั้นกลาง ไม่ใช่เกิดจากความรู้สึก หรือการคิดดูถูกแต่ประการใด
แต่เกิดจากการแบ่งแยกจากเชิงปริมาณ เช่น จำนวนรายได้ต่อปี
ประกอบกับการวัดเชิงคุณภาพ เช่น การพึงพิงปัจจัยจากรัฐ หรือลักษณะงานที่ทำ รวมไปถึงระดับการศึกษา

เริ่มมีเสียงเรียกร้องแว่วๆ ว่าให้ประเทศไทย “ตัดประชาธิปไตยให้เข้ารูป” 
เพื่อให้เป็นของตัวเองเสียที หรือที่ชอบเรียกภาษาอังกฤษว่า Tailor Made

ทุกคนในสังคมตอนนี้ทราบกันดีอยู่ว่าตอนนี้ การที่คนไทยจำนวนหนึ่งรู้จักแต่สิทธิ ไม่รู้จักหน้าที่ คือปัญหาใหญ่หลวง
เช่น รู้จักสิทธิว่าสามารถหย่อนบัตรเลือกตั้งได้ แต่กลับไม่รู้หน้าที่ว่าควรจะเลือกคนแบบใด รวมไปถึงหน้าที่ที่จะสนใจศึกษาว่าคนดีคือคนแบบใด

ที่ญี่ปุ่น การเลือกตั้งครั้งแรกๆ เขาไม่ได้ให้สิทธิเลือกตั้งกับคนทุกคน
เขาให้สิทธิกับ “คนที่มีการศึกษา” ก่อน
เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะรู้จัก “ประชาธิปไตย” 
และรู้หน้าที่ว่าควรจะเลือกคนแบบใด

แต่ครั้นที่จะประเทศไทยจะแกะกระดุมออก แล้วเริ่มตัดเสื้อกันใหม่นั้น
คงมีอุปสรรคมากมาย เริ่มจากง่ายๆ ว่า
วันหนึ่งคุณถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่ว่า คุณไม่มีคุณสมบัติพอ เราจะยอมกันไหม
แล้วกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งที่บิดๆเบี้ยวๆ อยู่เดิม จะยอมไหม?

ท่าน ว.วชิรเมธี ท่านให้สติว่า
“จะปรับปรุงบ้านเมือง ไม่ใช่แก้ที่ระบบ ไม่ใช่แก้ที่รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ที่ตัวเราเสียก่อน”
แก้อะไรหล่ะ? 
ง่ายๆ ก็แค่ “ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด” 
และ “ให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม” 
ตามพระราชดำรัสของในหลวงปีที่แล้วไงหล่ะ

ท่านพุทธทาส ท่านยังให้สติเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยว่า
“ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่
ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่
ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ประชาชนเห็นแก่ตัว
โดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน
ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด”

เห็นผลจากประชาชนที่เห็นแก่ตัวเป็นใหญ่กันแล้ว

คิดว่าฉิบหายหมดไหมหล่ะครับ

No comments: