Tuesday, December 02, 2008

ประเทศไทย ท่าจะแย่

วันนี้ครบหนึ่งอาทิตย์ที่ สนามบินสุวรรณภูมิปิดตัวลง

ผมเพิ่งส่งนักท่องเที่ยวตกค้างกลุ่มหนึ่ง ขึ้นเครื่องที่ อู่ตะเภา

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปที่ต่างๆ ในช่วงนี้ พบคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว
สืบความจากเหตุการณ์ได้ดังนี้

พี่ที่รู้จัก เจ้าของโรงแรม พัทยา-ภูเก็ต
“ช่วงนี้ทำไงหล่ะพี่?” ผมถาม
“ส่วนช่วงนี้ก็ให้แขกพวกที่ไม่มีตังค์แล้วยังตกเครื่อง อยู่ฟรีไปเลย
ภาพพจน์ประเทศ มันก็ต้องช่วยๆ กันหว่ะ
แต่เดือนหน้าท่าจะแย่ แขกยกเลิกการจองไปแล้วเยอะเลย
ก็คงต้องประหยัดกันให้มากที่สุด ประคองๆ กันไป
เดือนต่อๆ ไป ก็ลุ้น สู้กันใหม่”


ป้าคนขายตั๋วเข้าวัดอรุณ
“กระทบอะไรไหมป้า?” ผมยืนคุยด้วย
"เชื่อไหม สามวันมานี้ นักท่องเที่ยวเหลือ 5 เปอร์เซนต์ ถ้ายังแบบนี้ จบกัน" คุณป้าตอบ

หมอนวดแผนไทย วัดโพธิ์
“มีผลอะไรไหมครับช่วงนี้?” ผมยิงคำถามขณะกำลังใช้บริการนวดเท้า
“นี่ก็ได้น้องเป็นลูกค้าคนแรก วันนี้นี่แหล่ะ ปกติบ่ายๆ แบบนี้ มีไม่น้อยกว่า สามสี่คนแล้ว เป็นแบบนี้ต่อไปท่าจะแย่”

หลายโรงแรมที่ภูเก็ตและหัวหิน ลงทุนเร่งงาน เพื่อเปิดให้ทัน ฤดูท่องเที่ยวนี้
กำลังจะพบความยากลำบากเข้าขั้นหายนะ
ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ พังทลายทั้งระบบ
ตั้งแต่โรงนวด สปา อาหารหรู ส้มตำริมหาด ที่จัดสัมมนา บริษัทออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง รถเช่า เรือเช่า จองตั๋วเครื่องบิน ขายของที่ระลึก ยันโชว์อาคัลซ่า ฯลฯ
ท่าจะแย่

ความเห็นผม
นายเสรีรัตน์ ผอ.การท่าฯ คือ ตัวการทำลายประเทศไทย จำเลยที่หนึ่ง
ผมไม่เข้าใจว่า การท่าอากาศยานฯ จะปิดสนามบินทำไม?

ผู้ประท้วง ปิดถนนทางเข้าชั้นสี่ของสนามบินเท่านั้น
ซึ่งตอนแรกยังไม่เข้าไปในอาคารผู้โดยสารเลยด้วยซ้ำ
Air-Side ที่เป็นรันเวย์ และทางเชื่อมเครื่องบิน ยังทำงานได้ปกติ
Cargo ที่แยกถนนทางเข้า และใช้รันเวย์ ก็ไม่กระทบ
แต่การท่าอากาศยานฯ กลับเลือกที่จะปิดตายสนามบินทั้งหมด


ผมไม่เข้าใจหนักเข้าไปอีกว่า
การท่าจะปิดสนามบินนานาชาติที่เชียงใหม่ และภูเก็ตด้วยทำไม?


ทำให้ผมวิเคราะห์ออกมาเป็นเหตุผลเดียวว่า
“นี่คือการเอาความเดือดร้อนของประเทศไทย เป็นเครื่องมือทางการเมืองชัดๆ”
ด้วยการดันความผิด และลดความชอบธรรมให้การประท้วงของพันธมิตรฯ

จำเลยที่สองในการทำลายประเทศไทยคราวนี้คือ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม
ที่กระบวนการรองรับความเดือดร้อน เข้าขั้น “โหลยโท่ย” หรือ ทำงานไม่เป็น และมั่วอย่างร้ายแรง


เมื่อวันศุกร์ หลังจากผ่านการปิดสนามบินมาสามวัน
รัฐฯ ประกาศว่า สี่โรงแรม สามารถรองรับนักท่องเที่ยวตกค้างได้
ผมรอจนวันเสาร์ และเห็นประกาศตามเวบไซต์สถานทูตต่างประเทศ คาดว่าคงใช้งานได้แล้ว
สามในสี่โรงแรมที่ผมโทรไป บอกทำนองเดียวกันว่า “รัฐบาลมั่ว ไม่ได้ส่งอะไรเจ้าหน้าที่อะไรมาเลย นี่รับสายจนจะไม่ไหวแล้ว”
สุดท้ายที่โรงแรมเซนทารา หลังจากโทรทั้งวันเสาร์ ผมโทรติดตอนสามทุ่มครึ่ง บอกว่า “ที่นี่รับแต่สายการบินไทย สายการบินอื่น ไม่รู้ ไม่มีข้อมูล”


ส่วนเบอร์โทรศัพท์ต่างๆ ที่ทางรัฐบาลให้ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว

สายเหมือนจะยุ่งจนติดต่อใครไม่ได้ เช่นเดียวกับสายการบินต่างประเทศอื่นๆ


และแย่ที่สุดคือ ทั้งที่นักท่องเที่ยวติดค้างสามวัน และจะเข้าสู่วันที่สี่ และห้า และหก
กลับไม่มีหน่วยงานรัฐฯ อันไหนที่เหมือนจะมีหน้าที่รับผิดชอบ เปิดทำงานหลังห้าโมงเย็น และทำงานวันเสาร์อาทิตย์


รัฐฯ บอกจะให้สองพันบาทต่อวัน สำหรับกับนักท่องเที่ยวที่ติดค้าง กลับกลายเป็นคำพูดเอาหน้า
เมื่อถามหารายละเอียดกลับไม่ได้เรื่องสักที่ ถามไป บอกไม่มีใครรู้ โยนไป โยนมา

นักท่องเที่ยวที่ผมดูแล บอกตรงกันว่า “ไม่มีใครอยากมาประเทศนี้แล้ว” ส่งผลให้คนที่บ้านเขาบอกเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์นี้ ผมย้ำความเชื่อที่สิ้นหวัง และประสบการณ์ในหัวที่ว่า
· การที่นักการเมือง จะแก้ปัญหาเพื่อประชาชนนั้น หากไม่มีผลประโยชน์ มันจะไม่ทำงาน
· รัฐมนตรีถูกแต่งตั้งด้วยระบบโควต้า ไม่มีความรู้ และไม่มีความสามารถพอในงานที่รับผิดชอบ
· ข้าราชการไทยปัจจุบัน นอกจากฟังคำสั่งนักการเมืองแล้ว ก็ทำอะไรไม่เป็นนอกจากงานในหน้าที่ และไม่เคยจะทำอะไรเพื่อประชาชน
· คำว่า “ธุระไม่ใช่” คือคำพูดของคนประเทศนี้ ที่ไม่เคยคิดจะแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวมใดๆ ทั้งสิ้น
· หรือสิ่งดีๆ เพื่อประชาชนในประเทศนี้ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการปฏิวัติ


สำหรับเหตุการนี้ หากลองคิดแก้ปัญหาดู อาจทำได้ดังนี้
ความเร่งด่วนแรก ภายในสี่ชั่วโมงแรก คือ
ข่าวสาร พร้อมรับเรื่องความเดือดร้อนแบบอ้างอิง และติดตามได้
เวบไซต์ สาย Hotline และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ต้องจัดตั้งภายในสี่ชั่วโมงแรกของความเดือดร้อน
เพื่อระงับความสับสน และลดความเดือดร้อน พร้อมมอบหมายเลขอ้างอิง สำหรับข้อมูลที่นักท่องเที่ยวจะได้ไม่ต้องเล่าเรื่องใหม่ทุกครั้งที่ติดต่อเข้ามา

เร่งด่วนที่สองคือ ภายในแปดชั่วโมง คือ
การประสานงานเตรียมความพร้อมของสนามบินใกล้เคียง และประสานงานให้กับสายการบินต่างประเทศ ทั้งขาเข้าขาออก

เร่งด่วนที่สาม ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง คือ
การอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การเตรียมล่าม การเตรียมรถขนส่ง อาหาร ส้วม โรงแรม เครื่องใช้สำนักงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น อำนวยจราจร สถานพยาบาล ฯลฯ

เร่งด่วนที่สี่ คือ
การเยียวยาความเสียหาย เช่น การชดใช้ค่าโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดือดร้อน อาจเป็นการให้กรอกข้อมูลทิ้งไว้ แล้วจัดการภายหลังตามไป อาจมีการมอบที่พัก หรือ แพ๊คเก็จทัวร์ให้ตามไปเพื่อกู้สถานการณ์ ฯลฯ

นี่คือสิ่งที่ผมคิดได้ภายในหนึ่งชั่วโมง
ซึ่งหากรัฐบาลทำงานเป็น และจริงใจแก้ปัญหา
คงคิดได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า

และความเดือดร้อนจะไม่รุนแรงขนาดนี้


“สุดท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตร และสิ่งศักดิ์สิทธิในสากลโลก
ช่วยทำให้พวกเหี้ยห่า จัญไร ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เอาประเทศเราไปหาผลประโยชน์
ไม่เคยคิดถึงประเทศชาติ และประชาชน
จงไม่มีอำนาจ และจงถูกควบคุม ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายได้อีกต่อไป”

No comments: