Saturday, March 03, 2012

เขียนที่เกาหลี#1 - อิจฉาทีวีเขา

วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรก นับตั้งแต่มาจากเมืองไทย
ตื่นสาย และได้อยู่กับบ้าน
ช่วงสายๆ แบบนี้ เป็นเวลาที่ทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมกันหน้าทีวี
ช่องที่เปิดอยู่คือ
KBS1 (Korean Broadcasting System)
ซึ่งเป็นช่องทีวีหลักช่องหนึ่งของชาวเกาหลีใต้

รายการที่ดูเป็นรายการชื่อ "명작 Scandal" (อ่านว่า มยองจัค สแคนดัล)
명작 แปลว่า Masterpiece หรือ ผลงานชิ้นเอก






เป็นรายการเชิงสารคดี ที่นำงานศิลปะในแขนงต่างๆ
มาวิเคราะห์ มาย่อยให้เข้าใจได้ง่ายๆ ถึงที่มาที่ไป
เข้าใจถึงยุคสมัยที่เกิดขึ้น
เข้าใจถึงตัวผู้สร้างสรรค์งานนั้นๆ
และบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผมตื่นได้มาทันดูช่วงที่สอง
เขากำลังพูดถึง
Antonín Leopold Dvořák นักประพันธ์เพลงชาวเชค
ประวัติเขาชอบเดินทางด้วยรถไฟไปทั่วๆ ยุโรป
ช่วงหนึ่ง นักวิเคราะห์ชาวเกาหลี ไปถอดจังหวะผลงานหลายๆ ผลงาน
โดยเฉพาะเพลง
Humoresque ที่หลายคนเคยได้ยินจนคุ้น
(ฟัง Humoresque)
พบว่า จังหวะ ความเร็ว ลงจังหวะเดียวกันกับเสียงร่องรางของรถไฟเวลาวิ่ง
อาจเป็นเพราะความเคยชินส่วนตัว ก็เป็นได้

ภรรยาบอกว่า รายการช่วงแรกวันนี้ที่ผมตื่นไม่ทัน
เป็นเรื่องของ Raphael ศิลปินนักเขียนภาพชาวอิตาลี

ด้วยความที่ยังอ่อนด้อยทางภาษา
รายการจบแบบที่ผมฟังไม่ค่อยเข้าใจเลย
แต่รู้ว่าอาทิตย์หน้า จะพูดถึง วิหาร Pantheon ที่โรม

ตอนมาเกาหลีครั้งก่อน
ผมเคยเปิดการ์ตูนตอนเช้าๆ และนั่งดูกับลูก
เจอการ์ตูนนักสืบแมวน้อยสามตัว
ออกมาเล่นกันเรื่อง องค์ประกอบภาพของ Renoir (เรอนัวค์ - Pierre-Auguste Renoir)

ภาพจาก wikipedia














เรื่องมีอยู่ว่า มีแมวตัวร้าย(ประสงค์ดี)มาแอบมาลบรอยเปื้อนๆ ด่างๆ ดำๆ ในภาพออก
และยังเอาหน้าคนครึ่งๆ ที่มุมซ้ายล่างออกด้วย เพราะเห็นว่ามันไม่เต็มหน้า
แมวพระเอกซึ่งเป็น ภัณฑารักษ์ ออกมาบอกว่า ที่มันต้องเปื้อนๆ แบบนี้ เพราะ เรอนัวค์ ต้องการอะไร
พร้อมอธิบายแบบสนุกๆ ว่านี่คือภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสต์

ผมย้อนไปดูเทปเก่าๆ ใน You Tube
เห็นมีตอนวิเคราะห์สถาปัตยกรรมวังเคียงบอก (สถานที่สำคัญ คล้ายวัดพระแก้วบ้านเรา)
ประชาชนของเราเคยรู้เรื่องพระบรมหาราชวัง วัดพระแก้วกันจริงๆจังๆ ไหม?

ซึ่งทุกครั้งที่ได้ดูรายการพวกนี้จบ
ก็เกิดอาการตาร้อนอย่างรุนแรง
พร้อมความคิดว่า
คนบ้านนี้เมืองนี้ เด็กบ้านนี้เมืองนี้
มันจะไม่ฉลาดได้ไง ถ้ารายการช่องทีวีหลัก
และเวลา Prime Time ของครอบครัว
มีรายการดีๆ แบบนี้
เขานำเรื่องที่คนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ "เสพยาก"
เช่น ความสุนทรีย์ในภาพเขียน งานประพันธ์เพลง รูปปั้น หรือสถาปัตยกรรม
นำมาย่อยให้ละเอียด ทำให้สนุก และ "กินง่าย"

ขณะที่ประเทศเรา ช่องโทรทัศน์หลัก ณ เวลาเดียวกัน
ยังคงนำเสนอ เกมส์โชว์ปะแป้งตีหัวกัน หรือ ละครซิตคอมชวนหัว
ด้วยเหตุผลของคนที่ทำว่า "มันขายได้"
อาจไม่ต่างอะไรที่เรากำลังขาย "ยาเสพติด"
ให้ประชาชนของเรานั่นเอง

No comments: