Saturday, May 22, 2010

ประชาธิปไตย ประชาฉิบผไท

หลายคนบอกว่า ประชาธิปไตยแบบไทยทุกวันนี้ ไปลอกพิธีการ และพิธีกรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาแบบทั้งดุ้นตั้งแต่แรก แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็แค่นำมาแต่งหน้าทาปาก ทำให้มันพอจะใช้ได้ แต่ก็มีปัญหาตลอดมา หลายปัญหาก็หมักหมมไว้ จนเน่า และบวมแตกส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งอย่างที่เห็นทุกวันนี้

บ้างชอบเปรียบกับการติดกระดุมเสื้อ ที่เมื่อติดผิดมาตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดต่อๆ ไปติดยังไงก็ผิด เสื้อก็ออกมาเบี้ยวๆ แต่เราก็ติดกันจนครบ ต่อมาเห็นปกเสื้อไม่เท่ากัน ก็ตัดแต่งต่อให้มันเท่ากัน ชายเสื้อก็ต่อด้านที่สั้นให้มันยาว แขนเสื้อที่เบี้ยวอยู่ก็เริ่มเลาะตะเข็บตัดต่อใหม่ ฯลฯ

พี่คนหนึ่ง เคยให้ความเห็นแรงๆ ว่า ตราบใดที่คนไทยยังเดินตามควายอยู่ (ทำไร่ ไถนา) แสดงว่ายังโง่อยู่ ก็ยังไม่ควรได้รับสิทธิการเลือกตั้ง

ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยเลยในตอนที่รับฟังนั้น
แต่ต่อๆ มาได้รับรู้ข้อมูลหลายๆ ด้าน ก็เห็นว่าที่พี่เขาพูดมา ก็อาจจะมีส่วนจริงบ้าง

ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปหลายประเทศ มักไม่ค่อยมีปัญหากับประชาธิปไตยมากนัก เหตุผลส่วนหนึ่งคือประเทศเหล่านี้มีคนชั้นกลางกว่าร้อยละ 80 
โดยคนชั้นกลางนี่เอง เป็นกลุ่มคนที่ซื้อไม่ได้
มีการศึกษา มีปากมีเสียงที่จะเรียกร้องความต้องการของตัวเอง
มีความคิดที่ชัดเจน ไม่โอนเอียง ไม่พึ่งพาอาศัยนักการเมือง
และบังคับนักการเมืองถกเถียงกันเรื่องนโยบายเพื่อประโยชน์ประเทศเป็นส่วนใหญ่
ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่ๆ ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การให้ประเทศอื่นกู้เงิน
หรือจะเรื่องเล็กๆ เช่น การห้ามสตรีมุสลิมคลุมผ้าในโรงเรียน หรือการนำเข้าเนื้อวัว ฯลฯ

ต่างจากประเทศไทย ที่ตลอดมาจนถึงตอนนี้ มีคนชั้นกลางเพียงเล็กน้อย
ที่เหลือเกือบร้อยละ 80 ยังเป็นคนชั้นล่าง
การวัดว่าเป็นคนชั้นล่าง หรือคนชั้นกลาง ไม่ใช่เกิดจากความรู้สึก หรือการคิดดูถูกแต่ประการใด
แต่เกิดจากการแบ่งแยกจากเชิงปริมาณ เช่น จำนวนรายได้ต่อปี
ประกอบกับการวัดเชิงคุณภาพ เช่น การพึงพิงปัจจัยจากรัฐ หรือลักษณะงานที่ทำ รวมไปถึงระดับการศึกษา

เริ่มมีเสียงเรียกร้องแว่วๆ ว่าให้ประเทศไทย “ตัดประชาธิปไตยให้เข้ารูป” 
เพื่อให้เป็นของตัวเองเสียที หรือที่ชอบเรียกภาษาอังกฤษว่า Tailor Made

ทุกคนในสังคมตอนนี้ทราบกันดีอยู่ว่าตอนนี้ การที่คนไทยจำนวนหนึ่งรู้จักแต่สิทธิ ไม่รู้จักหน้าที่ คือปัญหาใหญ่หลวง
เช่น รู้จักสิทธิว่าสามารถหย่อนบัตรเลือกตั้งได้ แต่กลับไม่รู้หน้าที่ว่าควรจะเลือกคนแบบใด รวมไปถึงหน้าที่ที่จะสนใจศึกษาว่าคนดีคือคนแบบใด

ที่ญี่ปุ่น การเลือกตั้งครั้งแรกๆ เขาไม่ได้ให้สิทธิเลือกตั้งกับคนทุกคน
เขาให้สิทธิกับ “คนที่มีการศึกษา” ก่อน
เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะรู้จัก “ประชาธิปไตย” 
และรู้หน้าที่ว่าควรจะเลือกคนแบบใด

แต่ครั้นที่จะประเทศไทยจะแกะกระดุมออก แล้วเริ่มตัดเสื้อกันใหม่นั้น
คงมีอุปสรรคมากมาย เริ่มจากง่ายๆ ว่า
วันหนึ่งคุณถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่ว่า คุณไม่มีคุณสมบัติพอ เราจะยอมกันไหม
แล้วกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งที่บิดๆเบี้ยวๆ อยู่เดิม จะยอมไหม?

ท่าน ว.วชิรเมธี ท่านให้สติว่า
“จะปรับปรุงบ้านเมือง ไม่ใช่แก้ที่ระบบ ไม่ใช่แก้ที่รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ที่ตัวเราเสียก่อน”
แก้อะไรหล่ะ? 
ง่ายๆ ก็แค่ “ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด” 
และ “ให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม” 
ตามพระราชดำรัสของในหลวงปีที่แล้วไงหล่ะ

ท่านพุทธทาส ท่านยังให้สติเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยว่า
“ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่
ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่
ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ประชาชนเห็นแก่ตัว
โดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน
ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด”

เห็นผลจากประชาชนที่เห็นแก่ตัวเป็นใหญ่กันแล้ว

คิดว่าฉิบหายหมดไหมหล่ะครับ

Friday, May 21, 2010

วันแรกของกระบวนการ "ไทยน่าอยู่"

ตีห้า ลูกสาวอายุครบหนึ่งเดือนพอดีของผม ก็ทำหน้าที่ปลุกขึ้นมาด้วยความหิว

หลังจากความง่วงกับภาระกิจดับกระหายของเจ้าตัวจิ๋วเสียงดังนี่แล้ว

ความเงียบของการประกาศเคอฟิวส์ยังคงอยู่ ทำให้ได้ยินเสียงนกนานาชนิดแถวบ้านผม ร้องเจื้อยแจ้วเหมือนทุกวันที่พวกมันเคยทำ

นกมันเริ่มวันใหม่ เหมือนเมื่อวานที่มันทำ

เรา ก็ต้องเริ่มวันใหม่ เหมือนกัน

ผมเลยเริ่มเขียนอะไรบางอย่างที่ช่วยให้ตัวเองได้คิดอะไรบ้างหลังจากคืนอันเลวร้ายได้ผ่านไป

สำหรับผู้อ่าน หากท่านคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังบ่ายสามโมงของวันที่ 19 คือ การระบายออกทางอารมณ์ที่พอจะรับได้ และสมเหตุสมผล กรุณาหยุดอ่านบทความนี้ เพราะไม่ได้เขียนมาเพื่อท่าน

แต่หากท่านคิดว่าการกระทำในวันที่ 19 หลังบ่ายสามโมงคือการก่อการร้าย จากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ โดยคิดเพียงประโยชน์กลุ่มของตน หรือตัวเองเป็นใหญ่

ลองอ่านดูแล้วกันครับ

คำถามคือ พวกเขาต้องการอะไร?

เมื่อลองอ่านเป้าประสงค์ของการก่อการนี้ ผู้บงการ มีความต้องการให้เราผู้เป็นคนไทย มีความรู้สึก หรือมีอาการดังต่อนี้คือ

1.อาการเศร้า 2.อาการโกรธ และ 3.อาการสับสน

1.อาการเศร้า อาการในกลุ่มนี้ประกอบด้วยความเศร้า ความท้อใจ ความรันทด เมื่อได้เห็นความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ความอับอาย ความถดถอยของประเทศที่ชื่อว่าประเทศไทย

เมื่อสะสมมากเข้า ความเศร้าจะนำไปสู่อาการที่ร้ายแรงกว่าคือ จิตตก เบื่อหน่าย ละทิ้งไม่อยากทำอะไรเพื่อประเทศนี้อีกต่อไป บ้างถอนหายใจ บ้างอยากย้ายประเทศ

ซึ่งก็เข้าทางในสิ่งที่พวกเขาต้องการนั่นเอง

2.อาการโกรธ อาการในกลุ่มนี้ประกอบด้วยความโกรธ ความเกลียด ความแค้น ความชิงชัง ต้องการให้ผลกรรมกลับไปกับผู้กระทำโดยเร็วดุจจรวดหรือความเร็วแสง

อันอาการโกรธนี้ เมื่อมี และสะสมมากเข้า ก็จะเข้าทางของพวกเขาอีกนั่นแหล่ะ นั่นคือเขาอยากทำให้สังคมมีแต่ความเกลียดชัง ความแบ่งแยก โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องชนชั้นที่เขาพยายามปลุกปั่นว่า ไพร่ อำมาตย์ ซึ่งนำไปสู่การดูถูก การแบ่งแยกพวกเขาพวกเราคนไทยกันเอง

ร้ายกว่านั้นความโกรธเมื่อเปลี่ยนเป็นความแค้น ก็ต้องมีการแก้แค้น ด้วยวิธีที่อาจจะต่ำถ่อยสถุลอย่างที่พวกเขาต้องการให้เราลงไปเล่นเกมสกปรกนั้นด้วย

3.อาการสับสน ไม่ว่าจะสับสนในการบังคับใช้กฏหมาย อำนาจรัฐ ประสิทธิภาพของหน่วยต่างๆ ในสังคม ซ้ำร้ายกว่าคืออาการสับสนในในสถาบันฯ

สหายรักผมคนหนึ่งได้ส่งฟอร์เวริดเมลจำนวนมาก เป็นเรื่องที่คนไทยบนเฟสบุ๊ค เขียนเรื่องราวความคิดเชิงดูหมิ่นสถาบันฯ โดยพื้นฐานความคิดอยู่ที่อาการตัดพ้อ ประชดประชันว่าทำไมสถาบันฯ ไม่ออกมายุติความขัดแย้งนี้

หากจะทำความเข้าใจ และอ่านเกมของผู้ก่อการนี้ มีความลึกซึ้ง เหมือนการเล่นหมากรุก การถอยเพื่อรุกฆาต การเรียกร้องเชิงบังคับของกลุ่มต่างๆ เป็นการวางกับดักล่อ ล่อให้คนไทยผู้ยังไม่เข้าใจให้มีความรู้สึกสับสนนี้

ในหลวงท่านทรงงานอย่างแท้จริงเพื่อประเทศมากว่าหกสิบปี กลับถูกคำพูดมักง่ายไม่กี่คำ บิดเบือนให้สับสน คนที่ไม่ภูมิใจในอัตลักษณ์ตัวตนที่มี กลับชอบที่จะสร้างจุดเด่นในเรื่องพวกนี้ขึ้นมา

ประกอบกับกฏหมายที่ไม่ชัดเจน การเคารพด้วยหัวใจ และอาการที่เราหลายคนยกสถาบันฯ เหนือสิ่งใด การพูดตรงๆ เพื่อให้ผู้คนที่มีความเข้าใจผิดเหล่านี้ได้เข้าใจ กลับทำได้ยาก และนับวันผ่านไป กลุ่มคนเหล่านี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องที่ต้องห้ามกลับเป็นเรื่องสนุกปากของเหล่าคนมักง่าย มันแพร่ได้รวดเร็วกว่า และจะหลุดจากโลกไซเบอร์สู่รากหญ้าในไม่ช้า

สมมติว่า วันหนึ่งท่านไปชมภาพยนต์ เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีเริ่มขึ้น ท่านเป็นคนเดียวที่ลุกขึ้นยืนในโรงภาพยนต์ ท่านจะทำอย่างไร?

ท่านจะนั่งลงทันที หรือจะยืนอยู่แบบนั้นจนเพลงจบ หรือจะตะโกนให้คนอื่นยืนขึ้น หรือท่านพร้อมจะกระโดดต่อยใครก็ตามที่ยังนั่งอยู่ หรือจะตัดสินใจเดินออกจากโรงภาพยนต์นั้นทันที

ใครจะสับสนอะไร แต่ผมอยากจะบอกว่า เราไม่ต้องสับสนเลยครับ

ในหลวงคือพ่อที่รักประชาชน ที่ไม่ได้เกิดจากการสร้างภาพ หรือล้างสมอง พิสูจน์จากการทรงงานตลอดเกือบหกสิบปี ท่านทรงงานเพื่อประชาชนอย่างจริงจัง รู้ลึก รู้จริง เพื่อให้เรายึนอยู่ได้อย่างพอเพียง

พระราชดำรัสทุกบทเปรียบเหมือนธรรมะในการนำพาประเทศให้พ้นหายนะ และเป้าหมายคือประโยชน์พร้อมด้วยความสุขถ้วนหน้าของประชาชนทุกคน

เหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านไป สรุปในภาพรวมคือ ประเทศไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

แต่เรา คนไทย ต้องไม่พ่ายแพ้ โดยยอมตกให้เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีกับประเทศชาติ

วันใหม่เริ่มขึ้นกับเสียงนก และแสงอาทิตย์แล้ว ลองทิ้งความเศร้า ความโกรธ ความสับสนไปกับคืนอันยาวนานที่ผ่านไป

วันนี้ เราต้องไม่เศร้า เราต้องไม่โกรธ เราต้องไม่สับสน

ลองเปลี่ยนความรู้สึกพวกนี้ เป็นพลังในการรักชาติ เปรียบเหมือนเรานั่งอยู่บนชิงช้า ยิ่งถูกพลักมาด้านหลังเท่าไหร่ เราก็สามารถสวิงตัวไปข้างหน้าได้มากขึ้น

เมื่อทุกท่านเริ่มช่วยกันคิด ช่วยกันทำแล้ว

วันนี้คือวันแรกที่เริ่มกระบวนการทำประเทศไทยให้น่าอยู่เหมือนเดิม และอาจจะน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิมอีกครับ

ผมเชื่ออย่างนี้

ปริญญา เจริญบัณฑิต
6.45 เช้าวันที่ 20 พ.ค. 53