Wednesday, November 22, 2006

ช่วงนี้ คุณฝันบ้างหรือเปล่า?

ฝันที่หมายถึง ไม่ใช่แนวฝันไปไกลต้องไปให้ถึง
หรือ ฝันละเมอเพ้อถึงใคร
แต่หมายถึง “นอนหลับ และฝัน”

สมัยเรียนอยู่ มีช่วงหนึ่ง ผมชอบอ่านหนังสือพวก How To
หรือแนวหนังสือจิตวิทยาประยุกต์ เช่น การพัฒนาตนเอง การอ่านคน ฯลฯ
อ่านอยู่หลายเดือน รู้สึกว่ามันมีความเครียดรุมๆ อยู่
มองแง่ดีว่า มันเป็นพลังขับดันได้ลึกๆ

ช่วงนั้น เพื่อนผมกำลังเวียนกันอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
เป็นวรรณกรรมเด็ก เล่มหนา ชื่อดังของ มิคาเอล เอนเด้
เรื่อง Never Ending Story

หลายคนแนะนำว่าดี แต่ผมมองว่า มันน่าจะเสียเวลา
แต่วันหนึ่ง หนังสือก็มาวางอยู่ตรงหน้าผม ในโรงอาหารตอนเที่ยง

ผมลองพลิกอ่าน ไปสามสี่หน้า และใช้เวลาทั้งบ่ายนั้นอ่านไปเรื่อยๆ
เพื่อนผมเลยเอาให้ยืมกลับไปอ่าน

คืนนั้น และคืนต่อๆ มาอีกหลายคืน
ผมฝันเป็นตุเป็นตะ ทั้งเกี่ยว และไม่เกี่ยวกับในหนังสือ
แต่มันทำให้ผมตระหนักได้ว่า มันเป็นเวลานานมากแล้ว ที่ผมไม่ได้ฝัน

ก็เพิ่งได้รู้ว่า
การได้ฝันเป็นการทำให้การนอนมีความสุข
ทั้งก่อน และหลัง

สำหรับ Never Ending Story
โชคดีที่ผมจำภาพ และเรื่องในหนังไม่ค่อยได้
มันทำให้จินตนาการเมื่ออ่านหนังสือ บินไปได้ไกลกว่าในหนังมาก
เท่าที่ได้อ่านของ เอนเด้ มาสองสามเล่ม
เล่มนี้ น่าจะสร้างฝันได้ดีที่สุด

ด้วยจินตนาการนี่เอง ที่ทำให้วรรณกรรมเด็กยิ่งใหญ่
และมีผลกระทบได้มากกว่างานเขียนชนิดอื่นๆ ในความคิดผม

ใครนึกไม่ออก ว่าฝันเรื่องสุดท้ายเรื่องอะไร
ลองอ่านวรรณกรรมเด็กดีๆ ซักเรื่องสิครับ

Monday, November 20, 2006

ทำงานไปเพื่ออะไร?

สมัยเรียนปีสาม ผมชอบไปฟังสัมมนาวิชาการตามที่ต่างๆ
ผมถูกเพื่อนชักชวนปนหลอกล่อ เข้าไปเข้าฟังสัมมนาการพัฒนาธุรกิจแห่งหนึ่ง

ในห้องบรรยาย มีคนกว่ายี่สิบคน วัยคละกันตั้งแต่วัยเกษียร จนถึงรุ่นประมาณผม
ผู้บรรยาย เป็นคนหนุ่มวัยสามสิบปลาย
เขาแนะนำตัวว่าเขาจบวิศวฯ จากสถาบันชื่อดัง
เรียนต่อเมืองนอกเมืองนา ได้ทำงานดีๆ บริษัทใหญ่ๆ มามากมาย

เขาเริ่มถามคำถามคนในห้อง
คำถามนั้นเป็นคำถามแบบเปิด เขาถามว่า
“ทำงานไปเพื่ออะไร?”

เขาถามไล่เรียงแถวไปจากข้างหลังมาข้างหน้า
คำตอบหลากหลาย มาจากหญิงและชายไล่มาเรื่อยๆ
“ชีวิตมั่นคง” “เพื่อลูก” “เลี้ยงดูพ่อแม่” “ชีวิตที่ดีขึ้น” “อยากเที่ยวรอบโลก” “ฯลฯ”

ด้านหน้าห้องเป็นกระดานไวท์บอร์ดอันใหญ่
ผู้ถามนำคำตอบทุกคน ค่อยๆ เขียนไว้บนกระดาน

“น้องหล่ะครับ ทำงานไปทำไม?” เขาไล่ถามมาถึงผมแล้ว
“เพื่อให้ชีวิตมีค่าครับ” ผมตอบ
คำตอบผมขึ้นไปอยู่ตรงมุมของไวท์บอร์ดอันใหญ่

เมื่อได้คำตอบครบจากทุกคนในห้อง
จากนั้น เขาเขียนคำหนึ่งตัวโต ไว้ตรงกลางไวท์บอร์ดที่เว้นไว้ว่า
“เงิน”

เขาเริ่มเชื่อมโยงสิ่งที่ได้จากคำตอบทุกท่าน
“เพื่อลูก” จะเลี้ยงลูกได้ไหม ถ้าไม่มี “เงิน”
“ชีวิตที่ดีกว่า” มีรถ มีบ้าน ก็ต้องใช้ “เงิน”
“เที่ยวรอบโลก” จะทำได้ไหม ถ้าไม่มี “เงิน”
เขาพูดก็พลางลากเส้นจากคำตอบที่สะสมมา เข้ามาสู่คำว่า “เงิน”

สุดท้าย เหลือคำตอบของผม “ชีวิตมีค่า” เป็นตัวสุดท้ายที่ยังไม่ได้มีเส้นเชื่อมไปถึงคำว่า “เงิน”

“คำตอบนี้ของใครนะครับ?” เขาหันมาถาม
ผมยกมือขึ้น ซึ่งต่อให้ไม่ยก คนข้างๆ ก็ชี้มาทางผมอยู่แล้ว
“น้องทำงานหรือยังครับ?” เขาถามต่อ
“ยังครับ”
“น้องเขาคงยังไม่รู้ ว่าชีวิตนี้จะมีค่าขึ้นมาก และทำอะไรได้อีกหลายอย่างถ้าเรามีเงินเช่นกัน”
และแล้ว เส้นจากคำตอบของผม ก็วิ่งตรงสู่คำว่า “เงิน”

จากนั้นเขาเปิดวิดีโอ จากอเมริกาเป็นงานสัมมนาของแอมเวย์
ให้เห็นการสัมมนาทั่วโลก และพากันไปเที่ยว ฮาวาย นิวยอร์ค และหลายเมืองในอเมริกา
ทุกคนดูมีความสุข โบกมือทักทาย
วิดีโอจบลงด้วยภาพมุมเงย สู่ธงแอมเวย์ บนฟ้าสดใส
และเป็นโลโก้ตัวใหญ่เต็มจอ

ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นแหล่ะ ว่ากำลังฟังการอบรมขายตรงของแอมเวย์

จากนั้นผู้บรรยายเริ่มบอกวิธีได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน ด้วยระบบลูกโซ่
ตอนนั้น ผมแค่รู้สึกว่า ระบบนี้มันแปลกๆ

ต่อมาผมสรุปได้ว่า มันเป็นธุรกิจแบบ non-productive
ซึ่งประเทศในภาพรวม ถ้าเป็นแบบนี้กันหมด จะไปไม่รอดแน่ๆ
ผมนึกเปรียบกับ โฆษณาหลายตัวที่สามารถทำให้คนลดน้ำหนักลงได้
โดยไม่ต้องลดอาหาร และไม่อยากออกกำลังกาย
มันไม่ได้อยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งผมไม่เชื่อ

แค่ต้องการอะไรที่มัน Real-time แล้วฉาบฉวยจะเอามาให้ได้

หากวันนี้ มีใครมาถามผมว่า ผมทำงานเพื่ออะไร?
มุมมองตอนนี้ ผมกำลังหาจุดสมดุลของเหตุผลสามอย่าง คือ
เพื่อเอาเงิน
- เงินไม่ใช่คำตอบ แต่มันเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต และมีทุนเพียงพอจะเอาไปทำอย่างอื่นได้
เพื่อเอากล่อง
- เกิดมาทั้งที มันต้องสร้างชื่อ และสร้างอะไรดีๆ บนโลกนี้ ประเทศนี้ สังคมนี้
เพื่อเอามัน
- นี่เป็นเหตุผลสนองตัญหาความใคร่รู้ เป็นการทดลอง ทดสอบ และพัฒนา หาคำตอบอะไรซักอย่างที่ตั้งคำถามไว้

มันคงจะดี ถ้ามีงาน ที่ตอบเหตุผลทั้งสามได้ในอันเดียว

แต่ถ้ามันไม่สามารถรวมกันเป็นอันเดียวได้
การที่คุณทำอะไร แล้วรู้จุดหมายว่าจะทำไปเพื่ออะไร?
ผมว่ามันทำให้เราทำสิ่งนั้น ได้อย่างไม่ต้องบ่นในความเหนื่อยล้า
หรือปัญหาต่างๆนานาที่เจอ และจะเจอ

เพื่อนหลายคนของผมตอนนี้
หลังจากที่ง่วนกับการหาเงินมาจ่ายเงินเดือนลูกน้องให้ทัน
การหาลูกค้า การรับมือเจ้านาย รับมือปัญหาประจำวัน ฯลฯ
พวกเขาเหมือนจะลืมว่าเขาทำงานไปเพื่ออะไรกันแน่?
เหมือนจุดหมายย้อนกลับมาที่คำว่า “เงิน” เพียงอย่างเดียว

แต่หลายธุรกิจบนโลกนี้ เกิดจากเหตุผล "ทำเพื่อเอามัน" แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือหาเงินระดับโลก
www.google.com เป็นหนึ่งในนั้น
หรือ “กล่อง” หลายใบที่ได้มา กลับกลายเป็นต้นทุน ทำให้หลายคนประสบความสำเร็จในชีวิตได้
และกลับได้เงินอย่างไม่ลืมหูลืมตา

แล้วจุดหมายทั้งสามอัน มันจะรวมกันเป็นอันเดียวได้ในที่สุด

แล้วคุณหล่ะ ทำงานไปเพื่ออะไร?