Wednesday, August 16, 2006

ประเทศไทย หน้าสุดท้าย?

คุณเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับประเทศอินเดียไหมครับ?
ที่ว่า
หากคุณไปอินเดีย สามวัน คุณจะเขียนหนังสือ ได้เป็นสิบๆ หน้า
หากคุณอยู่อินเดีย สามอาทิตย์ คุณจะเขียนหนังสือ ได้เป็นร้อยๆ หน้า
แต่หากคุณอยู่อินเดีย เกินสามเดือน คุณจะเขียนหนังสือไม่ได้เลยสักหน้า

ผมกลับมาประเทศไทยครบสิบวันแล้ว
ผมเริ่มรู้สึกเหมือนคนที่เคยไปอินเดีย

ประเทศไทยยังเหมือนเดิม
มีแต่มุมมองผมเท่านั้น ที่แปลกไป
มันอาจเป็นข้อสังเกต ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

ผมตกตะลึงกับการเติมน้ำมัน ที่เต็มถัง ต้องใช้เงินพันกว่าบาท
และตกตะลึงยิ่งกว่า ที่ยังมีคนเร่งเครื่อง จี้ตูดกันบนถนน
ซึ่งผมไม่เข้าใจว่า ไม่รู้จะแข่งกัน เอาเงินไปจ่ายซาอุฯ ทำไมกัน

ผมงงๆ กับการวิเคราะห์ฟุตบอลพรีเมี่ยลีก อังกฤษ
ที่ผู้วิเคราะห์ และแฟนๆ
ออกความเห็นเหมือนทีมพวกนั้นเตะบอลอยู่ปากซอย
และนักเตะแต่ละคนเป็นเหมือนไอ้ปี้ดบ้านข้างๆ

ผมตกตะลึงกับทีวีบ้านเรา
ที่มันไร้สาระไม่ต่างกับ ทีวีในอเมริกา

ผมตกตะลึงกับร้านกาแฟ ที่ผุดทุกหย่อมหญ้า
ที่ผมไม่เข้าใจว่า ราคาแก้วหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่าห้าสิบบาท
กาแฟชงถุงเท้า ก็ยังอร่อยเหมือนเดิมนี่นา

ค่าอาหารร้านภัตตาคารดีๆ แพงขึ้นอย่างน่าตกใจ
เหมือนจะเป็นการกรอง และคัดแยก คนรายได้ปานกลาง ออกไปจากกลุ่มคนรสนิยมสูง

ผมเริ่มสับสนกับค่าครองชีพ และรายจ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็น
ที่แนวโน้มดูเหมือนระยะห่างจะถ่างขึ้น และกำลังขัดแย้งกับรายได้อย่างสิ้นเชิง

ผมได้ยินได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน
กับภาระการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และบางคนที่วางแผนการมีลูก

ผมมีคำถามขัดแย้งขึ้นในหัว ว่า “เราจะอยู่กันยังไงนะ?”

หรือทางออกอยู่ที่ การเปิดร้านอาหาร การเปิดร้านกาแฟ หรือ แข่งกันเป็นดารานักร้องเท่านั้น

ผมได้ฟังข้อสังเกตของพี่ท่านหนึ่ง เขาสังเกตว่า
ในท่ามกลางคนรุ่นๆ ผม
การที่จะมีเงินเก็บสองแสนต่อปี หรือ มีหนี้สองแสนต่อปี
ไม่ได้ทำให้การดำรงชีวิตแตกต่างกันมากเท่าไหร่
นี่คือสัญญาณอะไรบ้างอย่าง
ในสังคมแห่งวัตถุนิยม และจะนำไปสู่ความล่มสลาย

ผมยังไม่เข้าใจนัก แต่ลองคิดตาม ก็เห็นว่า มันแปลกๆ
เพราะการจะมีหนี้สองแสน กับมีเงินเก็บสองแสนในเมืองที่ผมเคยอยู่
จะทำให้ชีวิต ลำบาก หรือ อู้ฟู้ แตกต่างกันอย่างสินเชิงแน่ๆ

นี่อาจเป็นหน้าสุดท้ายที่ผมยังสามารถตั้งข้อสังเกตในสังคมนี้ได้
ผมรู้สึกว่า ข้อสังเกตของผม กำลังลดน้อยลงไป
อาจเป็นเพราะผม เติบโตจากที่นี่ และกำลังจะ ชิน ในที่สุด

อาจเป็นเหตุผลที่
สถาปนิกชื่อดังของไทยผู้ออกแบบอาคารลักษณะไทยร่วมสมัยชื่อ โรเบิร์ต จีบุย
ผู้ประพันธ์ดนตรีไทย ที่ฟังแล้วร่วมสมัยและไพเราะ ชื่อ บรูซ แกสตัน
ผู้เชี่ยวชาญไหมไทย ที่ทำให้ไหมไทยเป็นสินค้าส่งออก ชื่อ จิม ทอมสัน

ถอนหายใจหนึ่งที ว่าแล้วก็เปิดยูบีซี โหวตวีอะไรดีนะ อาทิตย์นี้