Tuesday, May 23, 2006

ระบอบ "นาย" "ทุน" = ศาสนาบูชา "อำนาจ" "เงิน"

ศาสนา ลัทธิต่าง ๆ ผมมองมานานแล้วว่า เป็นส่วนเข้ามาเติมเต็มมนุษยชาติ
เพื่อตอบความสงสัย ในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่สงสัย สิ่งที่ไม่เข้าใจ

เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไป หลาย ๆ อย่างได้ถูกอธิบายด้วยความจริงที่ค้นพบ
จีพีเอส และดาวเทียมพยากรณ์อากาศ มาแทนที่การบูชาเทพโปเซดอน
นรกใต้พื้นผิวโลก ต้องอยู่ลึกกว่าระยะสิบสองกิโลเมตรที่เรือดำน้ำนอติลุสลงไปถึง
พระเจ้าของศาสนาคริสต์ ถูกเปลี่ยนที่อยู่จากเมฆบนฟ้า ไปอยู่ที่ขอบจักรวาลที่อยู่เกินกว่าอำนาจของบิกแบงค์

ใครเคยอ่านหนังสือของคุณ ดังตฤณ เรื่อง “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน”
คงได้แนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นรูปธรรมในการมองกฎแห่งกรรม
แม้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ และอธิบายได้ง่ายมากว่าเป็น “ปัจจัตตัง” หรือเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตนเอง

ผมมองหนังสือคุณดังตฤณว่า เป็นการอธิบายความสงสัย ความงุนงงในกฎแห่งกรรม ให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้
สำคัญกว่านั้นคือ ผมชอบที่เป้าหมาย คือการสอนให้เข้าใจที่มา และที่ไป
สอนให้เป็นคนดี และอย่าไปหวังผลในความดีนั้น เพราะจะได้ผลไม่บริสุทธิ์

เหตุการณ์บ้านเมืองหลายๆ อย่างที่ผ่านมา หลายคนงุนงงเหมือนศาสนา
ไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ใคร ทำอะไร เพื่ออะไร

“คู่มือทรราช” เป็นคำอธิบายได้ดีพอสมควร
แต่มันไม่อธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่ผมสงสัย

“แผนการณ์จากฟินแลนด์” ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ หรือใครคิด ใครแต่งขึ้นมา
แต่กลับเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการอธิบายหลาย ๆ อย่างได้อย่างลงตัว
๑.ยึดรากหญ้า
๒.บริหารด้วยทุนนิยม
๓.ปกครองด้วยพรรคเดียว
๔.รื้อระบบราชการ
๕.ลดบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้เป็นแค่สัญลักษณ์

หากใครอ่านที่ผมเขียนเรื่อง “หาง” จากบทความที่ผ่านมา
ห้าข้อนี้ เป็นการใช้หางของคอมมิวนิส เหมา ฟาสซิส และทุนนิยมได้อย่างลงตัว
เหมือนทุกอย่าง จะตอบด้วย “เงิน”

เงินเป็นอุปกรณ์ และอาวุธนำไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่าง
แผนการปฏิบัติที่แยบยลนั้นอาจเป็นอย่างขั้นตอน
อาจแจกแจงได้เป็นข้อๆ ตามนี้
๑.กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มอี ทุนการศึกษาจากเงินหวย
๒.แปรรูปทรัพยากรเข้าตลาดหุ้น ปิดปากสื่อด้วยระบบสปอนเซอร์
๓.ซื้อ และมอมเมาพรรคการเมือง องค์กรอิสระ ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทน ฯลฯ
๔.ขึ้นเงินเดือนราชการ เปลี่ยนเป็นพนักงานของรัฐ ไม่มีข้าแผ่นดินอีกต่อไป
เมื่อสำเร็จทั้ง ๔ ข้อแล้ว ผลลัพท์ข้อ ๕ อยู่ไม่ไกล

บวกกับการที่มีใครตั้งใจบังอาจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการ
เอากรณีของประเทศเนปาล เป็นกรณีศึกษา
การที่กษัตริย์เนปาลทนไม่ได้ ลงมาสังฆกรรมนัวเนียกับการเมือง
จนประชาชนโกรธ และเดินขบวนขับไล่
สุดท้ายพระองค์ต้องคืนอำนาจ
และ มีการแก้รัฐธรรมนูญให้ลดพระราชอำนาจ

มันเปรียบเทียบไม่ได้!!!

แต่พอจะเห็นหนทางอะไรบางอย่าง
หากมีใครต้องการจะเดินให้เข้าแผนทั้งห้านั้น

เขาสู้กับอะไรอยู่?
เราสู้กับอะไรอยู่?

ถามตัวเองซะ
ว่าเราเชื่อในอะไร?
เราหลงไหลในอุปกรณ์ ในอาวุธที่เขามอมเมาเราหรือไม่?

เลิกทำตัวเป็นนักเชี่ยวชาญในตัวอักษรบ้างได้ไหม?
จงอย่าลืมตัวว่า ก่อนเป็นนักเชี่ยวชาญอะไรก็ตาม
คุณเป็น “คน” มาก่อน

Friday, May 19, 2006

Specialist vs Generalist

ประมาณปี 38 สมัยที่ผมเพิ่งเข้าโรงเรียนสถาปัตยกรรม ช่วงนั้นวงการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ตื่นตัวอย่างมาก
กระแสงานด้านอาคารประหยัดพลังงาน ด้านงานอนุรักษ์อาคาร กระเพื่อมขึ้นมา
ตอนนั้นมีผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาต่าง ๆ โดดเด่นขึ้นอย่างมาก
ได้ยินว่ามีการว่าจ้าง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นในโครงการใหญ่ๆ ด้วยจำนวนเงินที่นึกไม่ถึง

ขณะนั้น ในสายตาของนักเรียนสถาปัตย์ เหมือนมีความเชื่อว่า ควรแสวงหาความเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งสักอัน
เช่น สาขาเทคโนโลยีอาคาร หรือ สาขาอนุรักษ์อาคาร หรือ ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ด้านพลังงาน ฯลฯ
หรือเรียกว่า “Specialist”

สองสามปีผ่านไป
สภาวะเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากความไร้วินัย ความกระหายโลภในกระแสฟองสบู่ที่เมาเป่ากันมาหลายปี
ในที่สุดวงการก่อสร้าง และอสังหาฯ ต้องเผชิญ “ความจริง” ที่จำเป็นต้องล่มสลายอย่างรุนแรง
อาคารมากมายต้องหยุดก่อสร้าง การจ้างงานของวิชาชีพในการก่อสร้างหดหายอย่างไม่เคยเกิดขึ้น
ความซึมเซาในโรงเรียนสถาปัตย์เกิดขึ้นทั่วทุกชั้นปี เมื่อพบความจริงที่ว่า พี่บัณฑิตจบใหม่ร้อยกว่าคน ได้งานแค่ไม่ถึงสิบคน อาจารย์หลายท่านหน้าตาหมองหม่น นำเอาเรื่องเศร้า และเรื่องหายนะในวงการมาเล่าให้นักเรียนฟังอยู่เนืองๆ

อาจารย์หลายท่านเคยได้ชื่อว่า “Specialist” กลับประสบปัญหาเช่นเดียวกับบัณฑิต คือ “ไม่มีใครจ้าง”

ช่วงนั้น สถาปนิกที่ยังคงมีงานอยู่เรื่อย ๆ กลับเป็นพวกที่ถูกเรียกว่า “Generalist”
เขาเหล่านั้น รับงานได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ
ให้คำปรึกษาด้านการต่อเติม ซ่อมแซม
ใช้ความรู้ และวิชาชีพ อย่างเขาถึงประชาชนทั่วไป
ประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าในพวกเขา และพึ่งพาเขาได้
เขาไม่ได้ทำงานออกแบบเพื่อมุ่งแต่รับใช้นายทุน

อย่างที่รู้กันว่า สถาปัตยกรรม เป็นได้ตั้งแต่ หนึ่งในปัจจัยสี่ จนถึง สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

สัจจธรรมอีกอันหนึ่ง ของมนุษยชาติคือ
“ยามบ้านเมืองสมบูรณ์พูนสุข ศิลปินจะก่อเกิด”
ตัวอย่างที่เห็นคือ ยุโรปสมัยยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ “Renaissance” มี ดาวินชี่ ไมเคิล แอนเจโล่ เบอร์นีนี่ ฯลฯ คอยสร้างผลงานระดับพระกาฬ ที่ทุกวันนี้เราเห็นยังอ้าปากค้าง
หรือ สมัยสุโขทัย ที่สุขโข ภายใต้อโณทัยนั้น จะเกิดพุทธศิลป์ พระปางลีลา หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่สวยงาม ล้ำลึกยิ่ง

“แต่ยามบ้านเมืองวิกฤต ปราชญ์จะก่อเกิด”
คานธี ดาไลลามะ มาติน ลูเธอร์คิง คงพออธิบายได้

หากเราเห็นถึงสัจธรรมบนโลก เราจะเห็นได้ ว่าเราควรเป็นอะไร ในเวลาไหน
หรือสองคำว่า “กาละ เทศะ” จะอธิบายได้ทั้งหมด

แต่มากกว่านั้น หากมองให้เป็นมุมมองของการปฏิบัติขึ้น
การควบรวมทั้ง Specialist และ Generalist จะเป็นภาพอุดมคติเกินไปหรือไม่?

พี่คนหนึ่งที่เคารพเปรียบเทียบง่ายๆ ว่ามันคือ “หาง”
“คุณมีกี่หาง?”
หางอันนี้ มีไว้หลายหาง ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มี

ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือ สถาปนิก

หากสถาปนิกคนหนึ่ง รู้เรื่องกฏหมาย รู้เรื่องออกแบบ เชี่ยวชาญเรื่องก่อสร้าง และเชี่ยวชาญด้านประหยัดพลังงาน
บ้านหรืออาคารที่ออกมา จะออกมาเป็นอาคารที่ไม่น่าเกลียด ไม่ผิดกฏหมาย งบประมาณลงตัว และประหยัดพลังงานมาก

หากสถาปนิกอีกคนหนึ่ง สนใจเรื่องสุขภาพ และรู้เรื่องงานระบบอาคาร
สถาปัตยกรรมคงออกมาเป็น งานที่ดูแลง่าย และเป็นอาคารที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หากสถาปนิกอีกคนหนึ่ง สนใจจะเป็นนักเขียน และเชี่ยวชาญการตลาด
เขาคงบรรยายให้เห็นภาพหลายๆ อย่างได้ง่ายดุจงานสถาปัตยกรรม สร้างสรรค์ ได้ประโยชน์ใช้สอย และขายออก

พวกนี้ ไม่มีวันอดตาย

หรือจะยกตัวอย่างห่างออกไป

หากนักวัสดุศาสตร์ มาสนใจเรื่องพระเครื่อง อะไรจะเกิดขึ้น?
การวิเคราะห์พระเนื้อผง เนื้อชิน พระกริ่ง คงออกมาอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจเป็นแน่

หากนักคณิตศาสตร์ มาสนใจเรื่องจิตวิทยา อะไรจะเกิดขึ้น?
คงเห็นหนังสือเรื่อง “พีชคณิตการหย่าร้าง” อยู่บนแผง

หากโปรแกรมเมอร์ มาสนใจด้านศิลปะ อะไรจะเกิดขึ้น?
การเขียนโปรแกรม หรือระบบดิจิตอล ให้ออกมาเป็นงานศิลป์ คงน่าดูไม่หยอก

คนเหล่านี้ รอการ “ก่อเกิด” และเกิดขึ้นแล้วบนโลกนี้
พวกเขามีอย่างน้อย “สองหาง”
และเอามาผสมรวมกันอย่างลงตัว

ในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในสภาที่อึมครึมแบบนี้
ปราชญ์ และ ศิลปิน อาจเป็นคนเดียวกันได้
ว่าไหมครับ?

Monday, May 15, 2006

หลักกิโลต่อไป อยู่ที่ใด?

ในที่สุดก็จบแล้ว ชีวิตการเรียน
สองอาทิตย์ก่อน พลังกายใจทุกส่วน
มุ่งไปที่วิทยานิพนธ์ที่ค้างคามาแรมปี

สรุปรวบยอดงานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีตะวันตกล้ำยุค ด้วย "เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ปฏิจสมุทบาท”
เนื้อความสรุปของสรุปที่ซ่อนอยู่ คือ “กูไม่ใช่ทาสพวกมึง”

หลักกิโลนั้นผ่านไปแล้ว
บังเอิญไม่ได้มองซะด้วย ว่ากิโลต่อไปจะเป็นอะไร
และกิโลต่อไปจะอีกไกลแค่ไหน?

แต่วันนี้กลับรู้สึกว่ามีอะไร “ต้องทำ” และ “อยากทำ”
เยอะกว่าตอนก่อนส่งวิทยานิพนธ์เสียอีก
และเยอะกว่าตลอด ๒๘ ปีที่ผ่านมา

เป้าหมายชีวิต เป็นสิ่งที่คิดนานแล้ว
แต่ต่อจากนี้ คือเวลาที่พิสูจน์ และทำให้มันเป็นจริง

แผนการต่อจากนี้คงเหมือนเล่นหมากรุก
รุกไปทีละตา กินทีละตัว คิดและเดินอย่างระวัง

เงิน เป็นปัจจัยที่สำคัญ
แต่ เงิน ไม่ใช่เป้าหมายอย่างแน่นอน

แผนธุรกิจที่วางไว้ จะให้มันเป็น “Cash Cow”
รีดมากินได้ทุกวัน เอาตัวรอด มีเหลือเก็บไว้ขาย บำเรอชีวิตบ้าง
แต่รายได้หลัก จะต้องไปหมุนเฟืองหลายๆ ตัวให้ประเทศไทยดีขึ้น
เฟืองคน เฟืองระบบ เพืองการศึกษา เพืองวิชาชีพ

เมื่อ วัวเงิน ตัวนี้เป็น “วัวดอลล่า”
การจะได้มาซักตัวก็ยากน่าดู

สนุกไปอีกแบบ
ที่ต้องวางกลเม็ดทุกหมากที่จะเดินในหมากธุรกิจกระดานนี้
คุยกับใคร คุยเรื่องอะไร คุยแบบไหน

หวังว่าทุกอย่างคงสำเร็จไปตามที่คาดหมาย

แม้ว่าหลักกิโลต่อไป ก็ยังไม่รู้อยู่ไหน

แต่เมื่อได้ทำในสิ่งที่อยากทำแล้ว
มันทำให้ไม่เหนื่อย ไม่ท้อจริงๆ นะ